ในช่วงเวลาไม่กี่วันที่ผ่านมา เชื่อว่าหลายๆ คนคงเคยเห็นข่าวคดีฆาตกรรมเซลส์ขายรถผ่านตากันมาบ้าง ซึ่งพอเปิดประวัติอาชญากรรมของคนร้าย ก็เห็นว่าเขาไม่ได้กระทำความผิดขึ้นเป็นครั้งแรก จนเกิดเป็นคำถามว่า แล้วกระบวนการลงโทษผู้ต้องหามีปัญหาตรงไหน ทำไมจึงยังมีคนกลับมาทำผิดอีก?
แต่ก่อนจะไปไกลกว่านี้ เราขอย้อนกลับไปเล่าถึงคดีนี้กันอีกครั้งก่อน
เมื่อวันที่ 29 เมษายนที่ผ่านมา ณัฐพล ชายผู้ต้อองหา ออกอุบายนัด อ้อม—เด่นนภา อาชีพเซลส์ขายรถในจังหวัดเชียงใหม่ ว่าจะดูรถที่ร้านกาแฟแห่งหนึ่ง ซึ่งไม่มีใครเห็นว่าอ้อมขึ้นรถไปกับใคร แต่กล้องวงจรผิดบันทึกภาพชายผู้ต้องหาขับรถกระบะหายไปตามเส้นทาง แม่โจ้-แม่แฝก ก่อนที่เธอจะหายตัวไป
จนกระทั่งช่วงบ่าย วันที่ 30 เมษายน ตำรวจพบคนร้ายในอำเภอเมืองเชียงใหม่ ซึ่งเจ้าหน้าที่คุมตัวไปสอบสวน โดยคนร้ายอ้างว่า ได้นำตัวเธอไปซ่อนไว้ในห้องเช่าย่านแม่โจ้
แต่เมื่อเข้าไปในห้องพักก็พบว่าหญิงสาวเสียชีวิตแล้ว โดยคนร้ายสารภาพว่า ฉุดเธอไปข่มขืนแล้วฆ่า ซึ่งเบื้องต้น ตำรวจแจ้ง 3 ข้อหา ได้แก่กักขังหน่วงเหนี่ยว ฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา และเคลื่อนย้ายซ่อนเร้นศพ
หลังจากตรวจสอบประวัติอาชญากรรมของณัฐพล พบว่ามีประวัติเคยก่อคดีมาแล้ว 5 ครั้ง ในจำนวนนี้ 3 ครั้ง เป็นคดีทางเพศ นอกจากนั้นเป็นคดีทำร้ายร่างกายและลักทรัพย์ ดังนี้
– ปี 2553 ก่อเหตุข่มขืนกระทำชำเราที่กรุงเทพฯ ดำเนินคดีไปแล้ว
– ปี 2556 ก่อเหตุทำร้ายร่างกายในพื้นที่ อ.ฝาง จ.เชียงใหม่
– ปี 2557 ก่อเหตุลักทรัพย์เวลากลางคืนที่กรุงเทพฯ ดำเนินคดีไปแล้ว
– ปี 2561 ใช้เฟซบุ๊กล่อลวงหญิงสาว และใช้อาวุธปืนจี้บังคับข่มขืนในโรงแรมม่านรูด จ.เชียงใหม่ ถูกจับกุมและเพิ่งพ้นโทษออกมากลางปี 2565
– 10 เมษายนที่ผ่านมา ผู้ต้องหาขับรถกระบะตู้ทึบคันที่ใช้ก่อเหตุล่าสุด ไปจอดซื้อนมกับหญิงวัย 18 ปี ก่อนจะอ้างว่ารถเสียและออกอุบายให้หญิงสาวไปช่วยสตาร์ทรถ แล้วใช้มีดจี้บังคับให้ผู้เสียหายนั่งรถไปด้วยกัน จากนั้นกระทำอนาจาร แต่ไม่ถึงขั้นกระทำชำเรา แล้วก็ทิ้งผู้เสียหายไว้
ต่อมาผู้เสียหายก็เข้าแจ้งความกับตำรวจ และผู้ต้องหาเข้ามอบตัวสู้คดีเมื่อวันที่ 17 เมษายนที่ผ่านมา แต่ติดวันหยุดยาว ศาลปิดทำการ ตามกฎหมายจึงต้องแจ้งข้อกล่าวหาก่อนที่ผู้ต้องหาจะยื่นประกันตัวออกมา แล้วนัดผู้ต้องหามาพบอีกครั้ง แต่ยังไม่ทันที่ผู้ต้องหาจะได้เข้าไปพบ ผู้ต้องหาก็ไปก่อเหตุในคดีของอ้อมก่อน
จากประวัติอาชญากรรมของผู้ต้องหาจะเห็นได้ว่าผู้ต้องหาเคยถูกดำเนินคดีไปแล้ว แต่ณัฐพลก็ไม่ใช่เพียงรายเดียวที่กลับมาทำผิดซ้ำ เพราะจากข้อมูลของกรมราชทัณฑ์ ปี 2563 พบว่า มีผู้ต้องขังที่ได้รับการปล่อยตัว 156,744 คน ในจำนวนนี้มีผู้กลับมากระทำความผิดซ้ำภายใน 1 ปี 18,949 คน และกลับมากระทำผิดซ้ำภายใน 2 ปี จำนวน 33,676 คน
ข้อมูลปี 2564 ระบุว่า มีผู้ต้องขังได้รับการปล่อยตัว 195,925 คน โดยมีผู้ต้องขังกลับมาทำผิดซ้ำภายใน 1 ปี จำนวน 22,090 คน แต่ยังไม่มีข้อมูลการกระทำความผิดซ้ำรอบ 2
ส่วนประเภทคดีที่มีการกระทำผิดซ้ำมากที่สุด 5 อันดับคือ ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด 66.08%, ความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ 13.26% , ความผิดอื่นๆ 9.36% , ความผิดเกี่ยวกับชีวิตและร่างกาย 6.38% และความผิดเกี่ยวกับเพศ 2.28%
แต่ทำไม เมื่อเขาพ้นโทษแล้วจึงยังออกมากระทำความผิดอีก?
ในทางทฤษฎี การก่ออาชญากรรมเกิดขึ้นจากหลายสาเหตุ ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็น 2 ประการ โดยสาเหตุภายใน เป็นในเรื่องของกายภาพและสาเหตุทางด้านจิตวิทยา ส่วนสาเหตุภายนอก เป็นสาเหตุทางด้านสังคม
ส่วนการกระทำความผิดซ้ำ นัทธี จิตสว่าง อดีตอธิบดีกรมราชทัณฑ์ และที่ปรึกษาพิเศษสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) เคยให้สัมภาษณ์กับสำรักข่าวอิศราว่าในภาพรวมของการกระทำความซ้ำ มีสาเหตุอยู่ 2 ประการ คือออกจากเรือนจำแล้วไม่มีงานทำ หรือกลับไปสู่สิ่งแวดล้อมเดิม (แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าคนที่อยู่ในสภาพแวดล้อมไม่ดีจะต้องเป็นอาชญากรเสมอไป)
โดยนัทธีระบุว่า สิ่งสำคัญคือผู้ต้องหาเหล่านั้นอยู่ในสังคมนั้นเป็นเวลานานๆ แล้วเข้าไปอยู่ในเรือนจำแค่ไม่กี่ปี ก็ออกไปเจอสภาพเดิมอีก ซึ่งด้วยระยะเวลาไม่กี่ปี กระบวนการในเรือนจำไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรพวกเขาได้
“บางคนที่เขาพลาดมา เช่น ไม่ได้ตั้งใจที่จะทำผิดแล้วติดคุก เขาออกไป เขากลับไปสู่สังคม ครอบครัวเดิม ถ้าเขาพื้นเพดี เข้ามาอยู่ในคุก กลับออกไปดี แต่ถ้าพื้นเพเป็นมาไม่ดี มาอยู่ในคุก ถ้ากลับออกไปมีโอกาสที่จะทำผิดซ้ำ” นัทธีระบุ
แล้วคำถามที่ว่า กระบวนการในเรือนจำจะต้องทำอย่างไรไม่ให้คนกระทำผิดซ้ำอีก? นัทธีระบุว่า ก็ต้องเปลี่ยนแปลงให้ถูกคน เนื่องจากตอนนี้ ผู้ต้องขังที่พื้นเพไม่ดี ไม่ได้ถูกเปลี่ยน
นัทธีระบุเพิ่มเติมว่า การใช้เวลา 2 – 3 ปีไปเปลี่ยนคนนั้นเป็นเรื่องยาก “เพราะฉะนั้นเรือนจำเลยไปแก้ตรงคนที่เปลี่ยนเขาง่ายๆ เช่น การพักโทษจะทำได้ก็ต้องมีญาติมารับรองงานทำ ต้องมีนิสัยดี ต้องมีการศึกษา คนเหล่านั้นคือคนที่มีพื้นเพดี ยังไงก็ไม่ทำผิดซ้ำและก็ทำให้โครงการประสบความสำเร็จ”
“ในขณะที่คนพื้นเพไม่ดี อบรมอะไรไปก็ไม่อยากอบรม เจ้าหน้าที่ก็เลยไม่อบรมคนพวกนี้ พอออกไปคนส่วนนี้ก็เลยทำผิดซ้ำ พูดง่ายๆ คือเราอบรมผิดคน เราไปอบรมคนดี เพราะคนไม่ดีอบรมยากและก็ไม่อยากอบรม การฝึกอาชีพ การแก้ไขผู้กระทำความผิดของกรม จึงเน้นเรื่องของคนดีๆ ก็ทำให้เขากลับเข้าสู่สังคมได้ จริงๆ ไม่ต้องทำอะไรเขาก็กลับได้อยู่แล้ว คนที่ไม่ดีก็ไม่ทำอะไรกับเขา เพราะเขาก็ไม่อยากทำ เจ้าหน้าที่ก็ไม่อยากอบรม เพราะอบรมแล้วก็ไม่ค่อยเอาถ่าน ก็ไม่ประสบความสำเร็จ ปัญหามันอยู่ตรงนี้” นัทธีกล่าว
อ้างอิงจาก