สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญเผยแพร่เอกสารข่าวประชาสัมพันธ์ในวันนี้ (18 พ.ค. 2566) ระบุว่า ที่ประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 8:1 ชี้ว่า การออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ของรัฐบาล เพื่อเลื่อนเวลาการบังคับใช้ พ.ร.บ.ป้องกันปราบปรามการทรมานและทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 หรือ พ.ร.บ.ป้องกันการอุ้มหาย ในมาตรา 22-25 ที่เดิมต้องมีผลตั้งแต่วันที่ 22 ก.พ.2566 ออกไปเป็นวันที่ 1 ต.ค.2566 โดยอ้างเหตุผลเรื่องความไม่พร้อมของเจ้าหน้าที่ทั้งเรื่องงบประมาณและอุปกรณ์ “เป็นการออก พ.ร.ก. ที่ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2560 มาตรา 172 วรรคหนึ่ง …ให้ พ.ร.ก.ดังกล่าว ไม่มีผลบังคับใช้”
เนื้อหาในส่วนที่รัฐบาลออก พ.ร.ก. มาเลื่อนใช้ ทาง Amnesty เคยระบุว่า เป็นส่วนที่บังคับให้เจ้าหน้าที่ต้องติด body camera เพื่อป้องกันการซ้อมทรมานหรือปฏิบัติหน้าที่มิชอบ
- มาตรา 22 การควบคุมตัว เจ้าหน้าที่ของรัฐ ผู้รับผิดชอบต้องบันทึกภาพและเสียงอย่างต่อเนื่องในขณะจับและควบคุมจนกระทั่งส่งตัวให้พนักงานสอบสวนหรือปล่อยตัวบุคคลดังกล่าว
- มาตรา 23 การควบคุมตัว เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้รับผิดชอบต้องบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับผู้ถูกควบคุมตัว
- มาตรา 24 การเข้าถึงข้อมูลของผู้ถูกควบคุมตัว
- มาตรา 25 การที่เจ้าหน้าที่จะไม่เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับผู้ถูกควบคุมตัว กรณีอยู่ภายใต้การคุ้มครองของกฎหมายละเมิดต่อความเป็นส่วนตัว เกิดผลร้ายต่อบุคคล หรือเป็นอุปสรรคต่อการสืบสวนสอบสวน
สำหรับรัฐธรรมนูญ มาตรา 172 วรรคหนึ่ง กำหนดเงื่อนไขในการออก พ.ร.ก. ของรัฐบาลไว้ว่า นอกจากจะต้องฉุกเฉิน จำเป็นเร่งด่วน และมิอาจหลีกเลี่ยงได้แล้ว ยังจะต้องทำไปเพื่อประโยชน์ ในอันที่จะ “1.รักษาความปลอดภัยของประเทศ 2.ความปลอดภัยสาธารณะ 3.ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือ 4.ป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ” ซึ่งเสียงข้างมากของศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การออก พ.ร.ก. มาเลื่อนการบังคับใช้ 4 มาตราของ พ.ร.บ.ป้องกันการอุ้มหายนี้ ไม่เข้าข่าย
#Brief #อุ้มหาย #ซ้อมทรมาน #TheMATTER