เป็นคดีใหญ่ที่ประชาชนจับตา และให้ความสนใจ กับการทรมาน และใช้คลุมพลาสติกคลุมหัวผู้ต้องหาคดียาเสพติดที่เกิดขึ้นใน สถานีตำรวจนครสวรรค์ และพบว่ามีตำรวจในระดับผู้กำกับไปถึงชั้นผู้น้อยเกี่ยวข้องด้วย
ซึ่งเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นโดยมีเจ้าหน้าที่รัฐเกี่ยวข้องนั้น ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก แต่เกิดขึ้นซ้ำๆ ในสังคมไทยมาแล้วหลายครั้ง โดยบางคดีเป็นการอุ้มหาย บางคดีเป็นการซ้อมทรมาน โดยบางคดีมีทั้งสององค์ประกอบ
โดยหากจะนิยามการอุ้มหายหรือ ‘การบังคับให้บุคคลสูญหาย’ ตามกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ จะต้องหมายถึง 1.การกระทำที่เจ้าหน้าที่รัฐมีส่วนเกี่ยวข้อง 2.ในการจับกุมคุมขัง ลักพา หรือลิดรอนเสรีภาพของบุคคล และ 3.มีการปกปิดชะตากรรมหรือที่อยู่ของบุคคลนั้นๆ
ขณะที่ในส่วนของนิยามของการทรมาน ตามการรายงายของประชาไท ที่จัดทำองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน นำโดยมูลนิธิผสานวัฒนธรรม และศูนย์ทนายความมุสลิม ก็ระบุว่าหมายถึง การซ้อมทรมานโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ต่อบุคคลเพื่อให้ได้รับคำสารภาพ หรือข้อมูล
The MATTER ขอยกบางคดีที่เคยเกิดขึ้นมาในสังคมไทยว่า เจ้าหน้าที่รัฐเกี่ยวข้องอย่างไร มีการอุ้มหาย ฆ่า หรือซ้อมทรมานแบบไหน และตอนนี้ สถานะของกฎหมายคุ้มครองการกระทำผิดแบบนี้ในประเทศไทย เป็นอย่างไรบ้าง
ปี 2533
มูฮัมหมัด อัลรูไวลี
คดีนี้เกิดขี้นในปี 2533 กับมูฮัมหมัด อัลรูไวลี นักธุรกิจหนึ่งในเชื้อพระวงศ์ซาอุดิอาระเบีย ที่เข้ามาทำธุรกิจจัดส่งแรงงานไปทำงานในประเทศแถบตะวันออกกลาง โดยในช่วงปี 2532-2533 เกิดเหตุการณ์ที่ เจ้าหน้าที่ทูตซาอุฯ ถูกฆ่ารวม 4 ศพ แต่ไม่สามารถหาตัวคนร้ายได้ ก่อนหที่นาย อัลรูไวลีจะหายตัวไป ในเดือนกุมภาพันธ์ 2553 จากลานจอดรถของโรงพยาบาลกรุงเทพคริสเตียน
เหตุการณ์นี้ทำให้ทางการซาอุฯ ไม่พอใจประเทศไทยมาก ก่อนจะลดระดับความสัมพันธ์ทางการทูต และลดระดับความร่วมมือระดับสูง ซึ่งภายหลังในปี 2535 เมื่อไทยต้องการฟื้นความสัมพันธ์ทางการทูตกับซาอุฯ จึงได้มีการรื้อคดีขึ้นมาใหม่ โดยพบข้อมูลว่า พล.ต.ท.สมคิด บุญถนอม อดีตผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 ได้เป็นผู้นำตัวอัลรูไวลี ไปสอบเค้นข้อมูล แต่เกิดความผิดพลาดจนเสียชีวิต แต่ในตอนนั้นอัยการสูงสุดมีคำสั่งไม่ฟ้อง เนื่องจากพยานหลักฐานไม่เพียงพอ
ในปี 2552 มีการรื้อคดีนี้ขึ้นมาใหม่ และออกหมายเรียกตำรวจ 5 คนที่คาดว่ามีส่วนเกี่ยวข้อง และในปีต่อมาก่อนหมดอายุคดีความเพียง 1 เดือน กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ได้สั่งฟ้องพล.ต.ท.สมคิด และพวกอีก 4 คน ในคดีร่วมกันฆ่าอัลรูไวลี ซึ่งแม้ว่าคดีจะอยู่ในระหว่างการพิจารณา แต่กลับมีการแต่งตั้ง พล.ต.ท.สมคิด ขึ้นไปเป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผช.ผบ.ตร)
ภายหลังในปี 2557 ศาลอาญาได้ยกฟ้องตำรวจทั้ง 5 ก่อนที่ในปี 2559 ศาลอุทธรณ์ก็ได้ยกฟ้องอีก และสุดท้ายปี 2562 ศาลฎีกาเองก็ยกฟ้องเช่นกัน โดยเหตุผลว่าพยานโจทก์ยังมีข้อพิรุธไม่น่าเชื่อถือ
ปี 2537
แม่ลูกศรีธนะขัณฑ์
เหตุการณ์เกิดขึ้นในปี 2537 เมื่อพล.ต.ท.ชลอ เกิดเทศ ผู้บัญชาการประจำกรมตำรวจที่สอบสวนคดีเครื่องเพชรซาอุฯ ที่หายไป ได้กลับมารื้อคดี และตามหาตัวสันติ ศรีธนะขัณฑ์ ซึ่งถูกซัดทอดว่าได้ซื้อเพชรบางส่วนไป ซึ่งเมื่อไม่พบตัวสันติ ก็ได้ลักพาตัวลูกชาย และภรรยาของสันติไปแทน
ภายหลัง พล.ต.ท.ชลอได้ฆ่าปิดปากสองแม่ลูก แล้วอำพรางคดีให้เป็นอุบัติเหตุรถชน ซึ่งหลังจากที่สันติเข้าแจ้งความ และมีการสอบสวน ได้มีการจับกุมพล.ต.ท.ชลอ พร้อมลูกน้อง 9 คน มาดำเนินคดีตามกฎหมาย
โดย พล.ต.ท.ชลอ หัวหน้าผู้สั่งการถูกตัดสินโทษประหารชีวิต แต่ได้รับอภัยโทษ 3 ครั้งลดหย่อนโทษ จำคุกนาน 19 ปี และได้เข้าเงื่อนพักโทษปี 2556 เนื่องจากเป็นนักโทษชรา และจำคุกมาแล้วเกิน 2 ใน 3
ปี 2552
ฤทธิรงค์ ชื่นจิตร
สำหรับเคสของฤทธิรงค์นั้นเกิดขึ้นในขณะที่เขายังเป็นนักเรียนชั้น ม.6 โดยเขาเป็นเหยื่อที่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจังหวัดปราจีนบุรีจับกุม และซ้อมให้รับสารภาพว่าเป็นคนกระชากสร้อยทอง เพียงเมีรูปพรรณสัณฐานคล้ายคนร้าย ก่อนที่เขาจะพ้นข้อกล่าวหา หลังมีการจับคนร้ายตัวจริงได้
ฤทธิรงค์ถูกเจ้าหน้าที่ซ้อมทรมาน ทั้งใช้เข่ากดหลัง สลับกับใช้ถุงดำครองศีรษะ เตะที่ชายโครง และใช้คำพูดข่มขู่ ซึ่งการทรมาณเหล่านี้ล้วนส่งผลต่ออาการป่วย หวาดระแวง ที่ต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาลหลายปี
ครอบครัวชื่นจิตรได้พยายามเรียกร้องความเป็นธรรมนานหลายปี แต่ก็ถูกข่มขู่ รวมถึงพยายามเจรจาให้จบเรื่อง จนกระทั่งในปี 2559 ศาลสั่งว่าเรื่องที่ยื่นฟ้องมีมูล ซึ่งในการพิจารณาศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษตำรวจยศพันโท แต่ได้ยกฟ้องดาบตำรวจ 1 คน ซึ่งเป็นจำเลยที่ 7 เพราะศาลตัดสินว่าขาดอายุความเนื่องจากการทำร้ายร่างกายเพียงเล็ก ทำให้ภายหลังฤทธิรงค์ถูกดาบตำรวจรายนี้ฟ้องกลับว่าเบิกความเท็จ
ปี 2554
พลทหารวิเชียร เผือกสม
เคสของพลทหารวิเชียร ถูกยกขึ้นมาเป็นประเด็นโดยหลานสาว ที่พยายามเรียกร้องความเป็นธรรมให้น้า โดยพลทหารรายนี้ เสียชีวิตในวันที่ 5 มิ.ย. 2554 เพียง 2 เดือนหลัง ในหน่วยฝึกทหารใหม่หลังเข้ารับการฝึกในกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ในจังหวัดนราธิวาส สาเหตุการเสียชีวิตมาจากการถูกทำร้ายร่างกายด้วยของแข็ง กล้ามเนื้อฉีกขาดรุนแรงจนทำให้ไตวายเฉียบพลัน
มีการตรวจสอบพบว่าพลทหารวิเชียรถูกซ้อมทรมาน โดยทหารยศร้อยโท กับพวกรวม 10 คน ซึ่งทางครอบครัวได้มีการฟ้องร้องในทั้งแพ่ง และอาญา โดยฟ้องแพ่งกับกระทรวงกลาโหม กองทัพบก และสำนักนายกฯ ศาลพิพากษาให้ตามสัญญาประนีประนอม จ่ายเงินกว่า 7 ล้านกว่าบาทแก่โจทก์ และ คดีอาญา ปัจจุบันอยู่ที่อัยการศาลทหาร
ซึ่งนอกจากเคสพลทหารวิเชียรแล้ว ยังมีทหารอีกหลายรายที่ถูกซ้อม ทรมานและเสียชีวิตภายในรั้วค่ายทหารในตลอดหลายปีที่ผ่านมานี้ ดูรายละเอียดได้ที่
หายตัวไปปี 2557 พบกระดูกปี 2562
บิลลี่ พอละจี
ตลอดปีที่ผ่านมา เราคงได้ยินข่าวเรื่องของชาวบางกลอย ซึ่งจริงๆ แล้วมีการต่อสู้กันมายาวนาน และมีการสูญเสียด้วย โดยเคสของบิลลี่ พอละจี แกนนำกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย ที่ต่อสู้เพื่อสิทธิในที่ดินทำกิน พยานปากสำคัญในคดีเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี เข้ารื้อทำลายและเผาหมู่บ้านชาวกะเหรี่ยง ถูกหายตัวไปตั้งแต่วันที่ 17 เมษายน 2557 โดยพยานบอกว่าพบเห็นครั้งสุดท้ายอยู่กับชัยวัฒน์ ลิ้มเขตอักษร อดีตหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน
ภายหลังในปี 2559 DSI เพิ่งเปิดเผยว่า พบกระดูกของเขาในถังน้ำมันจมน้ำอยู่ใต้สะพานแขวนในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน โดยเขาถูกฆ่าและเผาอำพราง
ในปี 2562 อัยการสั่งไม่ฟ้องคดีชัยวัฒน์ และพวกในข้อหาต่างๆ เช่น ร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน, ร่วมกันโดยมีอาวุธข่มขืนใจผู้อื่น, ร่วมกันโดยทุจริตหรือเพื่ออำพรางคดีกระทำการใดใดแก่ศพหรือสภาพแวดล้อม และอีกหลายคดี ขณะที่เมื่อปลายปี 2563 ทาง DSI ได้โต้แย้งคำสั่งไม่ฟ้องของอัยการไป ซึ่งอยู่ระหว่างอัยการพิจารณาคำโต้แย้งจาก DSI โดยไม่มีกรอบเวลา
ขณะที่ในเดือนมีนาคม ปี 2564 คณะอนุกรรมการข้าราชการพลเรือน (อ.ก.พ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีมติให้ลงโทษชัยวัฒน์โดยการปลดออกจากราชการ
จริงๆ แล้ว ตั้งแต่ปี 2530 ประเทศไทยได้ลงนามและให้สัตยาบันใน อนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี(CAT) ซึ่งกำหนดให้รัฐต้องมีหน้าที่หลายประการเพื่อป้องกันปัญหาการซ้อมทรมาน และแม้จะมีความพยายามเสนอ ผลักดันกฎหมายมาโดยตลอด แต่รัฐบาลไทยก็ยังไม่ได้ดำเนินการออกกฎหมายใดมาบังคับใช้่เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวให้สอดคล้องกับอนุสัญญา
โดยปัจจุบัน มี ‘ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันการซ้อมทรมานและอุ้มหาย’ โดยเจ้าหน้าที่รัฐ ถูกเสนอเพื่อแก้ไขปัญหานี้ ถึง 4 ร่าง รอบรรจุระเบียบวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ตั้งแต่กลางปี 2563 แต่ก็ยังไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด
อ้างอิงจาก