4 มิถุนายน 2563 เวลา 17.54 น. ต้าร์—วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ยืนซื้อลูกชิ้นปิ้งหน้าคอนโดในกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชาขณะที่คุยโทรศัพท์กับพี่สาว เจน—สิตานัน สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ระหว่างนั้น เขาก็ถูกกลุ่มชายฉกรรจ์ใช้อาวุธบังคับให้เขาขึ้นรถเอสยูวีสีดำออกไปอย่างรวดเร็ว โดยคำพูดสุดท้ายที่พี่สาวได้ยินคือ “โอ๊ย หายใจไม่ออก”
แล้วหลังจากนั้น ก็ไม่มีใครสามารถติดต่อวันเฉลิมได้อีกเลย…
เวลาล่วงเลยมาถึง 3 ปี ที่วันเฉลิมหายตัวไป ในวันนี้ ทาง The MATTER จึงอยากพาทุกคนเล่าถึงเรื่องราวของวันเฉลิมกันอีกครั้ง
วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ คือนักกิจกรรมและเคยเป็นนักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ที่สนใจเรื่องการเมืองการปกครองและรักในประชาธิปไตย
กระทั่ง เมื่อเกิดรัฐประหารในปี 2557 ก็ยิ่งทำให้เขาเห็นถึงความผิดปกติของบ้านเมืองที่ไม่ได้เป็นไปตามรูปแบบประชาธิปไตย เขาจึงออกมาวิพากษ์วิจารณ์ แสดงจุดยืนทางการเมืองที่ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร การปกครองภายใต้ทหาร การยึดอํานาจ และยังเคยรณรงค์ให้คนไปเลือกตั้ง
ทำให้ วันเฉลิมถูกไล่ล่าและกลั่นแกล้งอย่างไม่เป็นธรรมด้วยการออกหมายจับและยกเลิกหนังสือเดินทาง รวมถึงยังโดนคุกคามด้วยวิธีการอื่นๆ
ถ้าทุกคนยังจำกันได้ ในช่วงที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยังมีอำนาจอยู่ ก็จะมีการเรียกให้ประชาชนบางกลุ่มไปรายงานตัว ซึ่งหนึ่งในนั้นก็ปรากฏชื่อของวันเฉลิมอยู่ด้วย
อย่างไรก็ดี แม้ว่าวันเฉลิมจะถูก คสช.เรียกไปรายงานตัว แต่เขาก็ไม่ได้ไปรายงานตัวตามคำสั่ง จนสุดท้าย ต้องลี้ภัยทางการเมืองโดยการหนีออกนอกประเทศ ไปถึง 6 ปี
จนในวันที่ 4 มิถุนายน 2563 หลังจากมีการรายงานว่าวันเฉลิมหายตัวไป ช่วงเย็นวันเดียวกัน ก็เกิดกระแส #saveวันเฉลิม ขึ้นมาในโลกออนไลน์ พร้อมกับการเรียกร้องให้เกิดการค้นหาความจริง และปกป้องชีวิตของผู้ลี้ภัยทางการเมืองคนอื่นๆ ด้วยเช่นกัน
ต่อมา ในวันที่ 5 มิถุนายน 2563 พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ในช่วงนั้น ก็ได้ออกมาชี้แจงถึงประเด็นที่วันเฉลิมหายตัวไปว่า ทาง สตช.ยังไม่ได้รับรายงานเกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าว เพียงแต่ทราบเรื่องราวจากสื่อเท่านั้น ทั้งยังย้ำว่า ตำรวจไทยไม่มีสิทธิ์ไปก้าวก่ายการทำงานของเจ้าหน้าที่กัมพูชา
ทางด้าน สิตานัน สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ พี่สาวของวันเฉลิม ก็เคยเปิดเผยกับสื่อหลายสำนักว่าเธอและครอบครัว ไม่เคยได้รับรายงานความคืบหน้าใดๆ แม้จะเดินหน้าเรียกร้องให้ทางการไทยและกัมพูชาตามหาน้องชายตลอดมาก็ตาม
“สองประเทศนี้เลือกที่จะไม่ยินดียินร้ายกับสิ่งที่เกิดขึ้นหรือเอกสารที่เราให้ หลักฐานที่เรามี เราหาเอง เราเก็บทุกอย่างเอง แล้วมอบให้หน่วยงานรัฐที่มีอำนาจของทั้งสองประเทศ แต่เขาก็ไม่ได้สนใจกับหลักฐานที่เราส่งให้ ไม่ว่าที่อยู่ของต้าร์หรือหลักฐานทุกอย่างที่เกิดขึ้นที่กัมพูชา” สิตานันกล่าวไว้เมื่อ 14 มิถุนายน 2565
“ทุกคนสามารถบอกได้ว่านั่นคือเรื่องจริง ต้าร์หายไปจริงจากกัมพูชาแม้กระทั่งพาสปอร์ตที่ต้าร์ใช้เดินทางไปต่างประเทศ หรือการเข้ามาด่านตรวจคนเข้าเมืองที่กัมพูชา ถ้าเขาจะสืบ เขาสืบได้หมด แต่เขาไม่ทำ” สิตานันกล่าวต่อ
สิตานันยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า 1 วันก่อนที่น้องชายของเธอจะหายตัวไป เขาไปกดเงินที่ตู้ ATM ของธนาคาร ABA ซึ่งมีกล้องวงจรปิดอยู่ และด้วยอำนาจของรัฐ ก็สามารถไปขอภาพจากกล้องวงจรปิดได้ แต่รัฐกลับไม่ทำ “ซึ่งการที่เขาไม่ทำก็คือทั้งสองประเทศรู้เห็นเป็นใจกับการหายไปในครั้งนี้ของวันเฉลิม”
สิตานันยังเล่าต่ออีกว่า เธอถึงขั้นจ้างทีมทนายให้เดินทางไปกรุงพนมเปญพร้อมกัน เพื่อรวบรวมหลักฐานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับวันเฉลิม แล้วนำหลักฐานที่รวบรวมได้ทั้งหมดไปให้กับอัยการสูงสุด แต่เมื่อเธอไปตามเรื่อง เขากลับถามเธอว่า ‘มีหลักฐานใหม่ไหม?’ พร้อมกับอ้างว่าติดสถานการณ์ COVID-19 ทำให้ไปกัมพูชาไม่ได้
“แล้วเราล่ะ เราเป็นประชาชนตาดำๆ ทำไมเราไปได้ ทั้งที่เขามีทั้งอำนาจสืบสวนสอบสวน อำนาจเงิน มีบุคลากร มีหน่วยงานของรัฐที่ประสานรัฐต่อรัฐได้” สิตานันกล่าว
หลักฐานส่วนหนึ่งที่สิตานันมี ยังมาจากกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ของไทย ซึ่งชี้ให้เห็นว่าวันเฉลิมพำนักอยู่ที่ ‘แม่โขงการ์เด้นส์คอนโดมิเนียม’ แล้วก็มีคนที่คอยตามวันเฉลิมอยู่ตลอดเวลาและยังมีการถ่ายรูปของวันเฉลิมในอิริยาบทต่างๆ
“ทำไมรัฐไทยผลักภาระให้ญาติผู้เสียหาย ด้วยการที่ถ้าคุณมีปัญญาทำ ก็ทำไป ถ้าคุณไม่มีปัญญาทำ ก็ต้องปล่อยไปตามมีตามเกิดเหรอ ถ้ามันไม่ใช่ข่าวดัง มันจะเป็นยังไง เพียงแค่ต้าร์เป็นนักเคลื่อนไหวทางการเมืองเหรอ? ถึงไม่ทำการสืบสวนสอบสวน มันแค่นี้หรือเปล่า หรือทุกสิ่งทุกอย่าง เขารู้เห็นเป็นใจกันอยู่แล้วจึงไม่ทำอะไรเลย” สิตานันกล่าว
ทางฝั่งกัมพูชาก็มีหน้าที่ในการค้นหาข้อเท็จจริงด้วยเช่นกัน โดยเมื่อ 27 ตุลาคม 2563 ผู้พิพากษาไต่สวน (Investigating Judge) ประจำศาลแขวงกรุงพนมเปญ ออกหมายเรียกให้สิตานัน พี่สาวของวันเฉลิมที่อยู่ที่ประเทศไทย มาปรากฏตัวต่อหน้าศาลที่ประเทศกัมพูชา เพื่อไต่สวนข้อมูลเกี่ยวกับการหายตัวไปของวันเฉลิม ในข้อหา ‘การควบคุมตัว การกักขังที่มิชอบด้วยกฎหมายและการครอบครองอาวุธโดยไม่ได้รับอนุญาต’ แต่ไม่ได้ระบุถึงผู้กระทำการว่าหมายถึงผู้ใด และก็ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ
ในส่วนของทางฝั่งไทย เมื่อเดือนธันวาคม 2563 อัยการสูงสุดได้ข้อสรุปว่า ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าการหายตัวไปของวันเฉลิมเกิดขึ้นที่กัมพูชาหรือไม่ และยังไม่ปรากฏพยานหลักฐานว่าวันเฉลิมถูกกระทำตามข้อหาดังกล่าวหรือไม่เช่นกัน
อย่างไรก็ดี หลังการหายตัวไปของวันเฉลิม ในวันที่ 27 สิงหาคม 2563 เครือข่ายญาติผู้เสียหาย องค์กรเครือข่ายด้านสิทธิมนุษยชน และ ตัวแทนภาคประชาชน ได้ยื่นหนังสือ ต่อตัวแทนของ ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เพื่อขอให้เร่งรัดการพิจารณา (ร่าง) พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย หรือที่รู้จักกันในชื่อของร่าง พ.ร.บ.ป้องกันการอุ้มหายและซ้อมทรมาน ที่เพิ่งถูกบังคับใช้ไปเมื่อไม่นานมานี้
กรณีของวันเฉลิมนั้นไม่ใช่คนแรกๆ ที่ถูกหายตัวไปอย่างไม่มีสาเหตุ ก่อนหน้านี้มีอีกหลายคนที่หายตัวไปอย่างลึกลับ และยังไม่สามารถค้นหาคำตอบได้จนถึงวันนี้ โดยข้อมูลจาก คณะกรรมการแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการกระทำให้บุคคลสูญหายโดยบังคับหรือไม่สมัครใจ (The United Nations Working Group on Enforced or Involuntary Disappearances) ระบุว่า จนถึงปี 2565 ประเทศไทยมีกรณีบุคคลที่ถูกบังคับให้สูญหายที่ยังไม่ได้รับความกระจ่างชัดทั้งสิ้น 76 กรณี
อ้างอิงจาก