การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ในปี 2566 ในเขตพื้นที่ กทม. สร้างปรากฏการณ์ครั้งใหม่ให้กับการเมืองไทย
เมื่อคะแนนอย่างไม่เป็นทางการจากทางคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เปิดเผยว่า ผู้สมัคร ส.ส. จากพรรคก้าวไกลสามารถปักธงได้ถึง 32 เขตจากทั้งหมด 33 เขตการเลือกตั้ง โดยมีหนึ่งใน ‘ไฮไลต์’ คือเขตการเลือกตั้งที่ 28 เขตจอมทอง (เฉพาะแขวงบางขุนเทียน) เขตบางบอน (เฉพาะแขวงบางบอนเหนือและคลองบางพราน) และเขตหนองแขม (เฉพาะแขวงหนองแขม)
เพราะผลคะแนนการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการ ปรากฏว่าผู้สมัครจากพรรคก้าวไกลอย่าง ไอซ์-รักชนก ศรีนอก ได้สร้างประวัติศาสตร์ปิดตำนาน 2 บ้านใหญ่ในพื้นที่ ทั้งตระกูลอยู่บำรุงและม่วงศิริ จนกลายเป็น ‘ทีมผู้ล้มยักษ์’ ที่สร้างความตื่นตัวให้กับผู้ติดตามข่าวสารการเมืองทุกภาคส่วน
โดยเหตุผลที่รักชนกใช้คำว่า ‘ทีม’ ไม่ใช่ ‘ไอซ์ผู้ล้มยักษ์’ เพราะเธอเชื่อว่าตลอดการเดินทางในสนามเลือกตั้งครั้งนี้ จะมาถึงปลายทางแห่งชัยชนะไม่ได้เลยหากไม่มี ‘ทีมงาน’ ที่คอยค้ำยันแผ่นหลังของเธอเสมอ
ดังนั้น นี่ไม่ใช่ความสำเร็จของรักชนกเพียงคนเดียว
แต่เป็นความสำเร็จของทีมงานคนธรรมดา ที่มีความเชื่อว่าการเมืองเป็นเรื่องของประชาชนทุกคน
(1)
รักชนก ศรีนอก จบการศึกษาจากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผ่านการทำงานหลากหลายอาชีพไม่ว่าจะเป็นติวเตอร์ ให้บริการเพิ่มผู้ติดตามบนโซเชียลมีเดีย รวมไปถึงการเป็นแม่ค้าขายของออนไลน์ ชีวิตธรรมดาในเมืองหลวงดำเนินเรื่อยมาจนมาถึงช่วงกระแสการก่อตัวของการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยในปี 2563 ที่ตัวเธอเองก็เข้าไปมีส่วนร่วมเช่นกัน
และการให้สัมภาษณ์หนึ่งครั้งก็เปลี่ยนชีวิตเธอไปตลอดกาล
ในการสัมภาษณ์ครั้งนั้น รักชนกเรียกร้องให้สื่อรายงานสถานการณ์การชุมนุมอย่างถูกต้อง ไม่มีการบิดเบือนข้อมูลข่าวสารที่อาจจะเป็นจุดเริ่มต้นนำไปสู่การใช้ความรุนแรงกับประชาชน โดยภายหลังจากที่คำวิจารณ์ของเธอเผยแพร่ลงบนโซเชียลมีเดีย นักข่าว 2 รายที่เธอได้เอ่ยถึงอย่างอัญชะลี ไพรีรัก และกนก รัตน์วงศ์สกุล ได้ยื่นฟ้องเธอในข้อหาหมิ่นประมาท เรียกค่าเสียหายคดีละ 1 ล้านบาท
ซึ่งเหตุการณ์ฟ้องร้องนำพาเธอไปรู้จักกับปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.พรรคก้าวไกล ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร ในเวลานั้น ผู้ติดต่อเข้ามาว่าอยากขอนำเรื่องการฟ้องร้องของเธอเข้าไปพูดคุยใน กมธ. และกลายเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เธอได้เข้าไปศึกษาเรียนรู้บรรยากาศการทำงานในภาคการเมืองอย่างเป็นทางการ
วันนี้ได้รับหมายศาล 2 ฉบับ ถูกฟ้องเนื่องจากกล่าววิจารณ์การทำงานในฐานะสื่อของ2บุคคล เราพยายามหาข่าวที่เกี่ยวข้องในกรณีที่สื่อฟ้องประชาชนที่วิพากษ์วิจารณ์การทำงาน หามาตั้งแต่เช้าแล้วยังไม่เจอเลย อยากศึกษาเพื่อเป็นกรณีตัวอย่างในการต่อสู้คดีต่อไป ใครมีความรู้/ข้อมูลแนะนำเราได้เลยค้า pic.twitter.com/5FNwdFc9Jt
— ไอซ์ รักชนก (@nanaicez) May 26, 2021
(2)
เธอยอมรับว่าตนเองไม่ได้มีความคิดจะเข้าสู่วงการการเมืองตั้งแต่แรกเริ่ม เพราะรู้สึกว่านักการเมืองจะต้องเป็นคนที่มีนามสกุลคุ้นหู มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จัก มีทรัพยากรทั้งเรื่องเงินและอำนาจในมือ เมื่อมองกลับมาที่ตัวเองที่เป็นเพียง ‘คนธรรมดา’ แล้ว เส้นทางการเป็นนักการเมืองก็ดูเป็นเรื่องไกลตัวเสียเหลือเกิน
หากนอกจากคดีความฟ้องร้องในคดีหมิ่นประมาทแล้ว ในปี 2564 มณีรัตน์ เลาวเลิศได้ร้องทุกข์กล่าวโทษกับรักชนกในคดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ หรือที่เรียกติดปากกันว่าคดีอาญามาตรา 112 รวมถึงความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 จากการที่เธอทวีตวิจารณ์การทำงานของรัฐบาลและรีทวิตข้อความบนแอพพลิเคชั่น Twitter อีกด้วย
ด้วยธรรมชาติของการต่อสู้ทางกฎหมายที่มักกินระยะเวลานานหลายปี เธอจึงเริ่มตั้งคำถามว่าในเมื่อตนเองต้องตกอยู่ในวังวนของความวุ่นวายด้านคดีความไปอีกไม่รู้นานเท่าไร ก็เอาเวลามาทุ่มเทกับการทำงานทางการเมืองดีไหม
ประกอบกับเพื่อนคนหนึ่งที่เธอรู้จักผ่านช่องทางแอพฯ Club House ได้นำข้อมูลมาบอกกับเธอว่า เขาเพิ่งได้รับมอบหมายจากพรรคก้าวไกลให้มารับผิดชอบดูแลพื้นที่เขตหนึ่งของ กทม. ที่ยิ่งส่งเสริมความคิดที่เคยมีการวางเชื้อไฟเอาไว้ก่อนหน้าแล้วว่าในเมื่อคนอื่นก็ลงมือทำได้ ตัวเธอเองก็สามารถทำได้เช่นกัน
จึงกลายเป็นเรื่องของความบรรจบกันของช่วงเวลาที่ผลักดันให้เธอลองสมัครเป็นส่วนหนึ่งของผู้สมัคร ส.ส. จากพรรคก้าวไกล
(3)
เหตุผลของการเลือกสมัครกับทางพรรคก้าวไกลนั้นไม่ได้มีอะไรที่ซับซ้อน เธอแค่อยากพิสูจน์ว่าคำโฆษณาของพรรคที่บอกว่าเป็นพรรคของคนธรรมดาที่มาทำการเมือง ดังนั้นหากวันหนึ่งที่คนธรรมดาอย่างรักชนก ศรีนอก ผู้ไม่มีเงินทุนสนับสนุน ไม่ได้มีทีมงานที่คอยทำงานทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังให้ จะมีโอกาสได้ทำงานเพื่อประชาชนบ้างไหม และเธอเองก็ขอบคุณเสมอทางพรรคก้าวไกลให้โอกาสเข้ามาทำงานการเมือง
“พอเพื่อนเราคนนั้นที่ได้เป็นผู้สมัคร ก็คิดว่าลองลงสมัครบ้างดีไหม เพราะก้าวไกลเองก็โฆษณาว่าเป็นคนธรรมดามาทำงานการเมือง มันจะเป็นอย่างนั้นจริงไหม เพราะเราก็มองว่าตัวเองไม่ได้มีชื่อเสียงหรือว่าโด่งดัง เราก็อยากจะลองสมัครดูว่าเราเองจะได้ไหม”
รักชนกยังเอ่ยติดตลกว่า ในบางครั้งก็สงสัยเหมือนกันว่าพรรคก้าวไกลตั้งใจแกล้งเธอหรือเปล่า เพราะในวันที่มีการประกาศเรื่องพื้นที่ท่าผู้สมัครแต่ละคนจะได้รับผิดชอบ เธอได้รับการวางตัวเอาไว้ในเขตบางบอน พื้นที่ที่ชาว กทม. ต่างรู้กันว่าเป็น ‘พื้นที่บ้านใหญ่’ ที่ฝังตัวรากลึกมาอย่างยาวนาน
ซ้ำยิ่งไปกว่านั้น พื้นที่นี้ไม่ได้มีบ้านใหญ่เพียงแค่หนึ่งบ้าน แต่มีบ้านใหญ่ถึง 2 บ้านโอบล้อมเอาไว้
จนเรียกได้ว่ามันเป็นช่วงเวลาที่ ‘เคว้ง’ พอสมควรสำหรับคนที่เริ่มต้นเส้นทางการเมืองด้วยตัวคนเดียว
(4)
เข็มนาฬิกาที่เดินไปข้างหน้าทุกวินาทีทั้งผลักและบีบให้เธอต้องเริ่มต้นก้าวต่อไป
รักชนกตั้งสติแล้วจัดลำดับความสำคัญทีละส่วน เริ่มต้นจากการสร้างกลุ่มทีมงานสำหรับลงพื้นที่ เพราะการทำงานหาเสียงไม่สามารถดำเนินการได้โดยลำพัง เธอจึงทำการติดต่อไปยังกลุ่มทีมทำงานเบื้องหลังจากพรรคก้าวไกลในเขต กทม. ที่เคยทำงานลงพื้นที่สมัยการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. และสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) ว่ากลุ่มคนเหล่านั้นยังมีความสนใจที่จะทำงานการเมืองอยู่ไหม
ในช่วงแรกรักชนกและทีมงานชุดแรก 2 คน จึงเริ่มต้นทำงานลงพื้นที่ไปพร้อมกับเริ่มขยายทีมงานผ่านกิจกรรมหลายภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นการจัดกิจกรรมสมาชิกสัมพันธ์ ทำความรู้จักกับผู้สนับสนุนพรรคก้าวไกลภายในเขตที่เธอรับผิดชอบ การชักชวนคนที่มีความสนใจและอุดมการณ์ทางการเมืองเช่นเดียวกันในพื้นที่มาเข้าร่วมทีม รวมไปถึงกลุ่มผู้ช่วยทางไกลที่ทักมาอาสาช่วยเหลือเธอผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย อย่างสมาชิกทีมกราฟิกคนหนึ่งที่รักชนกบอกว่าตนเองยังไม่เคยเจอตัวจริงสักครั้ง
การก่อร่างสร้างทีมคนธรรมดาที่ขอลงมาทำงานการเมือง จึงเป็นลักษณะของการสะสมกลุ่มกำลังทีละเล็กละน้อย จนมีสมาชิกประจำประมาณ 10-12 คนในปัจจุบัน มีการเรียนรู้ที่จะทำงานเป็นทีมร่วมกัน ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงการทำงานให้กลมกล่อม สอดคล้องกัน อย่างตัวเธอเองก็ยอมรับว่าเป็นคนที่ชอบทำงานสบายๆ ไม่ค่อยมีพิธีรีตรองเท่าไหร่นัก แต่บางคนในทีมก็มองว่าหากเธอกำลังลงสมัครเป็นตัวแทนของประชาชน รูปลักษณ์ที่สะท้อนถึงความเป็นมืออาชีพก็สำคัญ ซึ่งก็เป็นโจทย์ที่ทางทีมต้องลองขยับหาจุดที่พอดีกับทุกคน
อย่างไรก็ตามเธอยอมรับว่าการรวมทีมไม่ได้ราบรื่นหรือง่ายดายไปเสียทั้งหมด การเข้ามาเสริมทัพของสมาชิกใหม่เกิดขนานไปพร้อมกับการตกหล่นของสมาชิกบางคน หากการจากลาก็มักจะจบลงด้วยดี ผู้คนเหล่านั้นก็ยังคงเป็นกัลยาณมิตรที่ดีของเธอ และแม้จะไม่ได้ทำงานร่วมกันแล้วรักชนกก็พร้อมเปิดรับทุกทำวิจารณ์
(5)
ทีมงานของรักชนกถือได้ว่าเป็น ‘คนหน้าใหม่’ อย่างแท้จริง เพราะไม่เคยมีใครภายในทีมผ่านการทำงานการเมืองมาแม้แต่คนเดียว แต่ข้อเท็จจริงนี้ไม่ได้ทำให้คนในทีมรู้สึกกดดันหรือด้อยไปกว่าทีมงานของพรรคการเมืองอื่นแม้แต่น้อย
กลับกันความไร้ประสบการณ์กลับกลายเป็นจุดแข็งของทีมมากกว่า เพราะการทำงานจะไม่มีการตั้งกรอบวิธีการทำงาน ‘แบบเดิม’ อย่างที่มองว่าการหาเสียงคือการทำงานผ่านหัวคะแนน เป็นต้น
เมื่อถามถึงแรงบันดาลใจของการบุกตะลุยพาใบหน้าของรักชนกไปโอบล้อมโลกโซเชียลมีเดีย เธอขอย้อนกลับไปเล่าให้ฟังถึงบริบทในการทำงานกับพรรคก้าวไกลก่อนว่า เวลาที่ทางพรรคแจ้งว่าไม่มีทรัพยากรด้านทุนทรัพย์คือเรื่องจริง ไม่ได้เป็นคอนเทนต์เพื่อสร้างกระแสบนโซเชียลฯ แต่อย่างใด ดังนั้น เมื่อทางทีมต้องทำงานใต้ข้อจำกัดหลายมิติ จึงต้องทำการรีดเอาศักยภาพของทรัพยากรที่มีในมือมาใช้ให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด ซึ่งก็คือการทำงานผ่านโลกออนไลน์
ประกอบเข้ากับความกล้าลองกล้าพลาด มีการประชุมในทีมเพื่อออกไอเดียในการหาเสียงแนวใหม่ตลอดเวลา เวลาที่สมาชิกเสนอความเห็นเรื่องไหนมาก็พร้อมทดลองปฏิบัติการทันที และถ้าทดลองแล้วไม่ได้รับเสียงตอบรับที่ดีจากประชาชน ก็แค่หยุดทำแล้วนำไอเดียอื่นขึ้นมาแทน รวมไปถึงมีการตกลงทำความเข้าใจกันในทีมให้เรียบร้อยเพื่อไม่ให้ผิดใจกัน หากไอเดียของใครไม่ได้รับการสานต่อ
“มันก็เหมือนการทดลอง ถ้ามันเวิร์กก็ทำต่อ ไม่โอเคก็แค่หยุดทำ”
(6)
ในช่วงดึกของวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 เต็มไปด้วยเสียงหัวเราะเฮฮาของรักชนกและทีมงาน ภายในห้องสี่เหลี่ยมบนดาดฟ้าของตึกมีแต่ความคึกคัก หลังจากที่การนับคะแนนตามหน่วยเลือกตั้งต่างๆ เริ่มมีการรายการผลการลงคะแนนเสียงอย่างต่อเนื่อง บางจังหวะอาจมีเสียงโห่ร้องยามหน้าจอโทรทัศน์ขนาดใหญ่ปรากฏภาพตัวเลขคะแนนของรักชนกที่ทิ้งห่างจากผู้สมัครที่ได้รับคะแนนมาเป็นลำดับสองเกือบเท่าตัว
ทีมงานของเธอเรียกได้ว่ามีความหลากหลายช่วงอายุ ทุกเพศสภาพ ทุกคนที่แยกย้ายกันไปตรวจสอบการนับคะแนนตามจุดเลือกตั้งทั่วเขตทยอยเดินเข้ามาภายในห้องด้วยรอยยิ้ม (และบางคนก็บอกว่าเสียน้ำตาระหว่างทางไปหลายหยด) ตามมาด้วยการกรูกันไปกอดคอแสดงความยินดีให้กับความสำเร็จในครั้งนี้
ภาพการเฉลิมฉลองร่วมกันของคนทุกคนยิ่งตอกน้ำสิ่งที่รักชนกยืนยันมาตั้งแต่แรกเริ่มว่า ต่อให้ภาพเบื้องหน้าอาจจะมีเพียงเธอคนเดียวที่ยืนโดดเด่นอยู่บนป้าย แต่ความสำเร็จทั้งหมดมันไม่อาจเกิดขึ้นได้เลยถ้าไม่มีทีมงานหลังฉากที่คอยทุ่มเทให้เธอมากกว่าร้อยเปอร์เซ็นต์
นี่คือการทำงานด้วยใจนำทาง ไม่มีการจ่ายค่าจ้างให้กับทีมงานโดยสิ้นเชิง ทุกคนต่างเข้ามาช่วยเหลือเธอโดยเต็มใจ แม้ว่าจะรู้ว่านี่คือการต่อสู้กับธานอสเสียด้วยซ้ำ หรือหลายคนที่เข้ามานอกจากจะต้องมาลงมือลงแรงแล้ว ยังมาช่วยเธอจ่ายเงินค่าข้าวเลี้ยงเหล่าทีมงานที่มาช่วยหาเสียงอีกด้วย
“เราไม่มีค่าตอบแทนอะไรให้เขา เราอยากมีพื้นที่ให้เขา ให้คนอื่นได้เห็นว่าเขายืนเคียงข้างเรา”
(7)
วุฒิ ผู้เป็นหัวหน้าทีมงานของรักชนก เล่าให้ฟังว่า ตนเองเป็นสมาชิกตลอดชีพของพรรคก้าวไกลมาก่อนแล้ว จุดเริ่มต้นการทำงานในทีมล้มยักษ์ของไอซ์มาจากวันหนึ่งทีมงานของพรรคก้าวไกล โทรมาชักชวนให้เขาไปเข้าร่วมกิจกรรมสมาชิกสัมพันธ์ ซึ่งคำว่า ‘พรรคการเมืองโทรมาชวน’ ในประสบการณ์ที่ผ่านมาคือการที่พรรคจะมีการเลี้ยงมื้ออาหาร พาไปล่องเรือ ดังนั้นเขาจึงตกลงมาร่วมกิจกรรมเพราะคิดว่าจะได้ทานข้าวฟรี
แต่สุดท้ายแล้วมันไม่ใช่อย่างนั้น การประชุมสมาชิกสัมพันธ์ของพรรคก้าวไกลคือการมาเจอกันของสมาชิกตลอดชีพของพรรคก้าวไกลในเขตที่ตนเองมีรายชื่ออยู่อาศัย มาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาและสิ่งที่อยากแก้ไขอย่างจริงจัง และวันนั้นเองคือวันที่รักชนกชวนให้เขาเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของทีมงานหาเสียง
โดยวุฒิตกลงใจที่จะร่วมทีมโดยทันที ไม่มีการขอเวลากลับไปคิดทบทวนอะไรทั้งนั้น เพราะสำหรับเขาแล้วการเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของทีมหาเสียงมันไม่ได้มีอะไรมากไปกว่าไปช่วยแจกแผ่นพับ เดินแนะนำตัวผู้สมัคร เป็นการสนองความสนุกของตัวเองในการหาประสบการณ์ใหม่ๆ นั้นเอง
เขาเองก็ไม่คิดเหมือนกันว่าจากที่คิดว่าแค่มาช่วยเดินหาเสียง วันหนึ่งตนเองจะได้ขยับขึ้นมาเป็นทีมงานหลักเช่นวันนี้ วุฒิเล่าด้วยน้ำเสียงสบายอารมณ์ว่าบางครั้งชีวิตของคนเราก็เป็นเช่นนี้ ไม่มีทางรู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นในชีวิต ตัวเขาเองก็แค่ไหลไปตามกระแสของน้ำเท่านั้นเอง
หน้าที่ของวุฒิมีหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นคนออกไอเดียที่กลายเป็นไวรัลจำนวนมาก การห้อยพวงมาลัย การพับถุงกล้วยแขก การพูดกลางสี่แยก การปั่นจักรยานหาเสียง หรือส่วนของไลฟ์สดที่วุฒิขอโฆษณาตัวเองว่าเขาคือแอดมินของทีมด้อมรังนกในติ้กต่อก
(8)
ปัด คือสาวร่างเล็กที่ยกมือตอนตั้งคำถามว่ามีสมาชิกในทีมคนไหนไม่ค่อยออกกำลังกาย แต่ต้องมาปั่นเพื่อลงพื้นที่หาเสียงเป็นครั้งแรก เธอเล่าว่าตนเองเป็นรุ่นน้องในคณะและสาขาเดียวกันกับรักชนกที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เห็นรุ่นพี่ 1 ปีอย่างรักชนกทำกิจกรรมภายในคณะอย่างต่อเนื่อง จนเกิดเป็นความชื่นชมนับตั้งแต่นั้นมาว่ารุ่นพี่คณะคนนี้มีความจริงจังและตั้งใจในการทำงานอยู่เสมอ
เธอยังคงติดตามความเคลื่อนไหวของรักชนกบนโซเชียลมีเดียอย่างต่อเนื่องแม้ว่าจะเรียนจบชั้นปริญญาตรีแล้วก็ตาม ได้เห็นรักชนกทำงานอย่างเต็มที่ เห็นการเคลื่อนไหวทางการเมือง จนถึงวันที่ก้าวเดินลงสมัครเป็นผู้สมัคร ส.ส. และปัดสังเกตเห็นว่ารักชนกยังไม่มีกลุ่มทีมงานที่เพียงพอ จึงตัดสินใจขออาสาเป็นเข้ามาช่วยทำงาน
“ไม่ต้องตัดสินใจอะไรเลยก่อนจะทักมาขอช่วยทำงาน เพราะชื่นชมในตัวพี่ไอซ์อยู่แล้ว พร้อมที่จะซัพพอร์ตทุกการเดินทางของเขา”
ปัดยังบอกว่า ที่จริงต้องบอกว่าเธอไม่ได้เจออาการเหนื่อยหอบตอนปั่นจักรยานพบปะประชาชนเพียงอย่างเดียว แต่ร่างกายเรียกได้ว่ายับเยินมาตั้งแต่วันที่เดินลงหาเสียงวันแรกด้วยซ้ำ และนั่นยิ่งทำให้เธอนับถือรักชนกมากขึ้นไปอีกเธอสามารถเดินเป็นระยะเวลานาน กลางแสงแดดแผดเผาเช่นนี้ทุกวันไปได้อย่างไร
ปัดนิยามตนเองว่าไม่ใช่คนพูดเก่งหรือมีบุคลิกคล่องแคล่วยามผูกสัมพันธ์กับคนแปลกหน้า การลงพื้นที่ พบปะเจอผู้อยู่อาศัยในพื้นที่จึงเรียกได้ว่าเป็นประสบการณ์ใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน แต่เธอก็ตั้งมั่นและไม่เคยปล่อยให้บุคลิกส่วนตัวกระทบกับการทำงาน ท่องกับตัวเองว่าในเมื่อตนเองอาสาลงมาทำงานตรงนี้แล้วก็ต้องทำงานให้ดีที่สุด เพราะตัวเธอเองก็ถือว่าเป็นภาพแทนของผู้สมัคร ส.ส. ดังนั้นเวลาพูดจากกับใครเธอก็ต้องมั่นใจให้มากที่สุด
(9)
ตี๋ สมาชิกในทีมอีกคนย้อนความให้ฟังว่ารู้จักกับรักชนกผ่านช่องทางออนไลน์ เพราะตัวเขาเองเจอความอยุติธรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการใช้อำนาจของผู้มีอิทธิพล เมื่อทำข้อมูลทั้งหมดไปแจ้งให้ทางตำรวจดำเนินการก็ไม่มีอะไรคืบหน้า ทำให้เข้าใจว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่สามารถช่วยประชาชนได้เสมอไป หลังจากปรึกษากับเพื่อนที่รู้จักกัน เพื่อนจึงแนะนำว่าให้ลองทักมาปรึกษากับทางรักชนก ที่ประกาศตัวว่าจะลงสมัคร ส.ส. ในเขตที่เขาอาศัยอยู่
เมื่อตี๋เอาเรื่องของตนเองไปเล่าให้กับรักชนกฟัง เธอจึงช่วยประชาสัมพันธ์เรื่องนี้บนโซเชียลฯ เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ละแวกใกล้เคียงระวังตัว รวมถึงมีการประสานงานกับทางภาครัฐเพื่อให้มีการดูแลประชาชนให้มากขึ้นกว่านี้ หลังจากจบเรื่องไปแล้วรักชนกจึงชักชวนตี๋เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของทีม
ตี๋ผู้มีอุดมการณ์ทางการเมืองคล้ายกันจึงเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของทีม หน้าที่หลักของเขาก็จะช่วยในเรื่องการออกแบบมุมมองของภาพที่ใช้ประชาสัมพันธ์บนโซเชียลมีเดีย การตัดต่อคลิป การสร้างคอนเทนต์ รวมไปถึงการลงพื้นที่ช่วยหาเสียง อย่างที่เขาบอกว่าตอนนี้ผิวหนังของตนเองไหม้แดดไปหมดแล้ว
นอกจากนี้ตี๋ก็บอกว่า การเป็นคนธรรมดาที่ต้องมาเผชิญกับอำนาจมืดด้วยตนเอง โดยไม่มีเจ้าหน้าที่รัฐเจ้ามาช่วยเหลือทำให้เขาตั้งคำถามเกี่ยวกับสังคมไม่น้อย และเขาเองก็ไม่อยากให้เรื่องราวเกิดขึ้นกับใครอีก ดังนั้นถึงแม้ว่าการที่เขาเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของทีมรักชนกในวันนี้ จะเป็นเพียงลมบางเบาใต้ปีก เป็นเพียงส่วนเล็กๆ ที่บางคนอาจมองว่าไม่สามารถเปลี่ยนแปลงหรือผลักดันอะไรได้ แต่เขาเชื่อว่าการเริ่มต้นเป็นพลังที่สำคัญที่สุดในการพาสังคมขยับไปข้างหน้า
(10)
ภู่ น้องเล็กของทีม เรียกได้ว่าเป็นทีมงานรุ่นแรกของรักชนกในการทำงานการเมือง เขาเล่าให้ฟังว่ามีความตั้งใจที่อยากเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของทีมงานผู้สมัครจากพรรคก้าวไกลตั้งแต่แรกเริ่ม แต่เวลานั้นเขายังเลือกไม่ได้ว่าจะลงสนามในเขตไหน จนผ่านไปเห็นโพสต์บน Instagram ของรักชนกว่า ในการลงพื้นที่แต่ละครั้ง แทบจะเรียกได้ว่าไม่มีทีมงานเลย บางครั้งมีแค่ผู้สมัคร ส.ส. รายนี้แค่คนเดียว เขาจึงเลือกที่จะเสนอตัวเข้ามาช่วยรักชนกทำงาน
โดยมีความตั้งใจว่า เขาขอเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้รักชนก ศรีนอกได้ต่อสู้ในเกมนี้อย่างสนุกที่สุด
เพราะแน่นอนว่าการต่อสู้กับ 2 บ้านใหญ่ในพื้นที่ไม่มีคำว่าง่าย และคงไม่มีใครคิดว่าผู้หญิงตัวเล็กคนหนึ่งจะกล้ามาเผชิญหน้า เขาจึงขอเป็นอีกส่วนที่ทำให้คนในสังคมเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้จากคนธรรมดาคนหนึ่ง
ตลอดเวลาเกือบ 300 วันของภู่ในฐานะผู้ช่วยหาเสียงของรักชนก ทำให้เขาเปลี่ยนความคิดจากที่เคยคิดว่าการเมืองเป็นเรื่องที่ไกลตัว กลับเป็นว่าการเมืองเป็นเรื่องที่ใกล้ตัว จับต้องได้ คนธรรมดาทุกคนสามารถมีโอกาสที่จะได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการทำงานการเมืองได้ โดยที่ตนเองไม่จำเป็นต้องมีนามสกุลหรือว่ามีชื่อเสียงมาก่อน
“ทุกอย่างมันพิเศษ การที่เรามาทำตรงนี้ เราเป็นคนธรรมดาที่มาช่วยงานพี่สาวคนนี้ (รักชนก) พี่สาวเขาคือคนธรรมดา กับคู่แข่งของเขาที่ไม่ใช่คนธรรมดา 2 นามสกุลเขาไม่ใช่คนธรรมดา มันทำให้เราคิดว่าการที่เราลงมาทำตรงนี้ให้ฐานะคนธรรมดาคนหนึ่ง มันเป็นเรื่องที่พิเศษไปหมด”
(11)
นี่คือคำขอบคุณจากรักชนกถึงทีมงานของเธอ
วุฒิ: ช่วยดันไลฟ์ตั้งแต่แรกๆ ช่วยสร้างด้อมรังนก คอยวิ่งไปไลฟ์ไป จุดกระแสคลิปที่เป็นไวรัล ทุ่มเททุกอย่างให้กับทีม
เอ็ม: ทำงานแบบมุ่งมั่นมากๆ ไม่มีคำถาม สั่งอะไรก็ทำหมด ยันดึกยันดื่นก็ทำ
โวลต์: ทำตามสั่งทุกอย่าง คอยออกไอเดียให้ทีมเอาไปทดลองใช้
ตี๋: ทำงานหลายอย่าง แล้วหล่อมาก เป็นหน้าเป็นตาให้กับทีม เป็นตัวที่ขาดตรงไหนไปโปะตรงนั้น ทำได้ทุกหน้าที่
ปัด: เป็นหลังบ้านที่คอยพิมพ์งาน คีย์ข้อมูล
เอมิ: ขาดเหลือตรงไหนไปให้หมด
บิว: ถึงแม้จะมีงานประจำ ก็ยังมาช่วยแบบทุ่มเท อยู่บนรถแห่ให้ตลอด
ภู่: เป็นเบื้องหลังที่วางตารางในการลงพื้นที่ พื้นที่ตรงนี้เข้าได้ เข้าไม่ได้ เป็นคนเก็บรายละเอียด เป็นหน่วยหาเสียงบนรถแห่
ป้าอุ๊: เป็นแม่นมคอยดูแลทุกอย่าง ข้าวปลาอาหาร ทำความสะอาด คือถ้าไม่มีแล้วไอซ์ก็ไม่มีเวลาไปทำอย่างอื่น
คุณเป้: ฝ่ายกราฟิกของทีม ทำงานตามคำสั่งทุกอย่าง ไม่มีอีโก้เลย
กัน: ทำทุกตำแหน่ง ตรงไหนขาดเหลือก็บอกได้
คุณอู๋: คอยทำข้อมูลหลังบ้าน
คุณเบียร์: เข้ามาสอนงาน ปั้นคนในทีมให้เข้าใจการทำงานมากขึ้น
คุณฟอร์ด: ณภัทร ศิริจรัสตระกูล ช่วยไอซ์ตั้งแต่แรก เป็นคนที่คอยดูแลหลังบ้านให้
และคนธรรมดาทุกคนที่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของทีมรักชนก