รู้สึกคับคล้ายคับคลา แต่นึกไม่ออกว่าเขาชื่ออะไร
เคยมีความรู้สึกแบบนี้กันไหม เวลาเจอคนใหม่ๆ หรือคนที่ไม่ค่อยมีโอกาสได้คุยกันเท่าไร บางครั้งเราอาจจะหลงลืมชื่อไปบ้าง หรือบางคนเจอเกือบทุกวัน คุยกันก็บ่อย แต่ไม่ค่อยมีโอกาสได้เรียกชื่อ จนความทรงจำมีแค่ภาพใบหน้าและบทสนทนาทุกอย่าง ยกเว้นชื่อของคนๆ นั้น ซึ่งบางทีก็ชวนให้รู้สึกแย่ได้เหมือนกันเพราะถ้าเป็นไปได้เราคงไม่อยากถามชื่อใครซ้ำๆ
แต่สำหรับบางคนการจำชื่อกลับไม่ใช่เรื่องง่าย ตัวอย่างหนึ่งคืองานวิจัยโดย แคทเธอรีน ฟริตซ์ (Catherine Fritz) จากมหาวิทยาลัยนอร์ธแฮมป์ตันที่ขอให้ผู้เข้าร่วมดูรูปผู้คนแล้วจดจำชื่อและอาชีพของพวกเขา ซึ่งพบว่าผู้เข้าร่วมการทดลองสามารถจำอาชีพได้ราวๆ 50% แต่จดจำชื่อได้แค่ 20% เท่านั้น เช่นเดียวกับการศึกษาอื่นๆ ที่มีผลลัพธ์ใกล้เคียงกัน คือคนส่วนใหญ่มักจะจำรายละเอียดอื่นๆ เช่น งานอดิเรก บ้านเกิด อาชีพ รายละเอียดชีวประวัติใดๆ ได้ดีกว่าการจำจดจำชื่อซะอีก
ทำไมถึงเป็นแบบนั้นกันนะ?
ต้องบอกก่อนว่าสมองส่วนที่เก็บความทรงจำเรื่อง ‘ชื่อ’ กับ ‘ภาพใบหน้า’ อยู่คนละส่วนกันและแน่นอนว่าต้องใช้พลังเพื่อขุดข้อมูลสองกลุ่มนี้มาเชื่อมโยงกันอีกที อีกทั้งการจดจำใบหน้าได้ดีกว่ายังเกี่ยวข้องกับวิวัฒนาการและการเอาตัวรอดของมนุษย์อีกด้วย
เอลิซาเบธ คลี วอร์เบอร์ตัน (Elizabeth Clea Warburton) นักประสาทวิทยาด้านการรับรู้จากมหาวิทยาลัยบริสตอล กล่าวว่าสมองของเราเอื้อต่อการเข้ารหัสและดึงข้อมูลภาพได้มากกว่า เพราะถ้าย้อนไปตั้งแต่มนุษย์ยังไม่ได้มีวิวัฒนาการด้านภาษามากเท่าตอนนี้ เรามักจะใช้การจดจำ ‘ภาพ’ เพื่อแยกแยะว่าใครคือญาติพี่น้อง ใครเป็นพวกพ้อง และใครคือศัตรู เพื่อให้สามารถเอาตัวรอดจากอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้ สมองเลยมักจะจดจำแค่พอให้เรารู้สึก ‘คุ้นเคย’ กับสิ่งนั้นมากกว่า ส่วนรายละเอียดปลีกย่อยเป็นเรื่องที่ต้องลำดับความสำคัญอีกทีว่าสิ่งนั้นมีอิทธิพลต่อความอยู่รอดของเรามากน้อยแค่ไหน เพราะถ้าเราทุ่มเทพลังงานให้กับทุกรายละเอียดของชีวิต สุดท้ายอาจจะกลายเป็นเรื่องยากสำหรับการเอาชีวิตรอดแทน เพราะใช้เวลานานกว่าจะหันความสนใจไปยังสิ่งใหม่ๆ ได้ เลยไม่น่าแปลกใจที่หลายครั้งเราจะรู้สึกว่า ‘คุ้นๆ นะ’ แต่ตอบไม่ได้ว่าสิ่งที่คุ้นเคยนั้นคืออะไร ชื่ออะไร รู้สึกเหมือนชื่อนั้นติดอยู่ที่ปลายลิ้นอยู่บ่อยครั้ง
นอกจากนี้ ‘ภาพ’ ยังเป็นข้อมูลที่เรามองเห็นและดูจะจับต้องได้มากกว่า ‘ชื่อ’ ที่บางทีก็มีความหมายในเชิงนามธรรม บ้างก็ไม่ได้มีความหมายเฉพาะเจาะจงเลยด้วยซ้ำ บวกกับข้อมูลจากการเปล่งเสียง เปล่งคำออกมานี้ มักจะถูกเก็บไว้ในความทรงจำระยะสั้น (short-term memory) ซึ่งต้องอาศัยการท่องจำและทวนซ้ำถึงจะอยู่ในความทรงจำระยะยาวได้ ยกเว้นบางกรณีอย่างการจำชื่อพร้อมกับเหตุการณ์บางอย่างที่กระตุ้นความรู้สึกและตราตรึงใจเรามากๆ อย่างเช่น เวลาเจอคนที่เราชอบหรือประทับใจสุดๆ เลยจำชื่อเขาได้แม่นยำ เพราะนึกถึงเขาซ้ำแล้วซ้ำเล่า (แต่ชีวิตจริงเราคงไม่ได้รู้สึกแบบนี้กับทุกคนอยู่แล้วล่ะ)
นอกจากสาเหตุข้างต้นแล้ว อีกอุปสรรคสำคัญเวลาต้องจดจำชื่อ คือข้อมูลเยอะๆ ที่ไหลทะลักมาจนเราประมวลผลแทบไม่ทัน สมองเลยต้องเคลียร์พื้นที่ให้เราจดจำไว้แค่บางเรื่องเท่านั้น ซึ่งเวลาที่เราเจอบทสนทนายาวๆ มนุษย์ก็มักจะจำได้แค่สิ่งแรก (primacy effect) กับสิ่งสุดท้าย (recency effect) ในบทสนทนานั้น ดังนั้นถ้าเราพูดชื่อในช่วงกลางๆ แล้วเปลี่ยนไปคุยเรื่องนู้น ถามเรื่องนี้บ้าง ชื่อของใครบางคนเลยหล่นหายไปจากความทรงจำได้เหมือนกัน สิ่งเหล่านี้ยังไม่นับรวมปัจจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นความเครียด ความตื่นเต้น ไปจนถึงยุคสมัยที่เราไม่ได้จำแค่ ‘ชื่อในชีวิตจริง’ เท่านั้น
โดยฮาร์เลย์ อาร์ด (Hayley Ard) นักวิเคราะห์เทรนด์จาก Stylus UK (stylus.com) อธิบายว่า เดี๋ยวนี้เรามีทั้งชื่อทวิตเตอร์ อินสตาแกรม และอีกสารพัดแอ็กเคาต์เลยทำให้การจำชื่อในชีวิตจริงของคนๆ หนึ่งมีความสำคัญน้อยลงกว่าเมื่อก่อน (และบางทีเราก็จำชื่อแอ็กเคาต์ได้ดีกว่าชื่อจริงๆ ด้วยซ้ำ) บวกกับการมีเครื่องมือช่วยจำเยอะขึ้น ไม่ว่าจะแอปฯ จดโน้ต แจ้งเตือน ปฏิทินต่างๆ ไปจนถึงชื่อในโซเชียลมีเดีย เลยทำให้เราไม้คุ้นเคยกับการจดจำข้อมูลของคนอื่นสักเท่าไร ซึ่งสิ่งที่เห็นได้ชัดนอกจากเรื่องชื่อคงเป็นเบอร์โทรศัพท์มือถือที่ยุคนี้แทบไม่มีใครจำเบอร์ของคนใกล้ตัวได้อีกแล้ว
อย่างไรก็ตาม การลืมชื่อคนอื่นบ่อยๆ คงไม่ใช่เรื่องดีเท่าไร เพราะนอกจากความลำบากใจเวลาจะสื่อสารกันแล้ว ยังสร้างกำแพงทางความสัมพันธ์โดยที่เราไม่รู้ตัวได้ด้วยนะ โดยในบทความของ The Atlantic ได้กล่าวถึงการศึกษาหนึ่งที่พบว่า คนที่ ‘ถูกลืม’ ไม่ว่าจะเป็นชื่อ หรือข้อมูลอื่นๆ จะรู้สึกใกล้ชิดกับคนที่ลืมน้อยลง เพราะการลืมในอีกทางหนึ่งนั้นเหมือนการลดทอนตัวตน สื่อสารว่าไม่ได้ใส่ใจหรือให้ความสำคัญ แม้จะไม่ได้ตั้งใจเลยก็ตาม
แล้วเราจะทำยังไงให้สามารถจดจำชื่อคนได้ดีขึ้นบ้าง?
แน่นอนว่าสำหรับคนที่มีโอกาสได้เจอกันบ่อยๆ คงไม่ต้องอาศัยการพยายามจดจำเพราะสุดท้ายแล้วเราก็คงคุ้นเคยกันไปเอง แต่สำหรับคนที่เพิ่งเจอหรือนานๆ ทีจะมีโอกาสได้พบปะพูดคุย เราอาจจะลองใช้วิธีหาความเชื่อมโยงของชื่อกับภาพบางอย่าง เช่น ถ้าชื่อ ‘ลิลลี่’ อาจจะลองนึกภาพคนๆ นั้นถือดอกลิลลี่ไปด้วยก็ได้ แต่ถ้าชื่อค่อนข้างเป็นนามธรรมหรือไม่ได้มีความหมาย ให้ลองนึกเชื่อมโยงกับสิ่งของ บุคคลหรืออะไรที่ใกล้เคียงกับชื่อนั้น เช่น นึกเชื่อมโยงกับชื่อของดารานักแสดงที่ชื่อเดียวกัน ไปจนถึงการจดจำจากจุดเด่นบางอย่างของคนๆ นั้นแล้วนึกเชื่อมโยงกับชื่อของเขาเพื่อให้จดจำได้ง่ายขึ้น
ส่วนอีกวิธีคือหาโอกาสเรียกชื่อบ่อยๆ ระหว่างบทสนทนาหรือเรียกชื่อก่อนจากกันเพื่อทวนซ้ำ โดยไม่ต้องนั่งท่องจำในใจ แต่ถ้าลืมจริงๆ ก็อาจจะใช้วิธีถามเพื่อนคนอื่นๆ เดินไปขอคอนแทคโซเชียลมีเดียไว้ หรือถามออกไปตรงๆ แล้วขอโทษที่ลืมชื่อด้วยความจริงใจ ดีกว่าการสุ่มเรียกชื่อออกไปแล้วดันเรียกผิด หรือเลี่ยงการเรียกชื่อจนไม่เป็นธรรมชาติ เพราะสุดท้ายแล้วการหลงๆ ลืมๆ บ้างในช่วงที่เพิ่งเจอกันก็เป็นเรื่องที่เราพอจะเข้าใจได้ และเป็นธรรมชาติของมนุษย์อย่างที่เราได้เล่าไปทั้งหมด ขอแค่การลงลืมนั้นไม่บ่อยเกินไปและถามซ้ำๆ จนอีกฝ่ายเริ่มขี้เกียจตอบ
เพราะการจดจำชื่อได้ คงไม่ใช่แค่เรื่องการเรียกให้ถูกเท่านั้น แต่ยังสื่อสารถึงความใส่ใจใครอีกคนด้วยเช่นกัน
อ้างอิงจาก
Graphic Designer: Kotchamon Anupoolmanee
Proofreader: Runchana Siripraphasuk