“มีคำถามจากคุณภาณุวัฒน์ ขวัญยืน มาด้วยตัวเองนะครับ ‘มีการดำเนินกิจการเกี่ยวกับสื่อหรือทีวีไหมครับ’ ตอนนี้บริษัทยังไม่มีการดำเนินการใดๆ นะครับ ก็รอผลคดีความให้สิ้นสุดก่อนนะครับ” คำตอบจาก คิมห์ สิริทวีชัย ประธานคณะกรรมการบริษัท
คลิปที่กลายเป็นประเด็นร้อนข้ามคืน หลัง ฐปณีย์ เอียดศรีไชย ผู้สื่อข่าวรายการข่าว 3 มิติ นำมาเปิดเผยในรายการ ซึ่งทำให้เห็นว่า คำกล่าวนั้นแตกต่างจากในบันทึกรายงานการประชุมผู้ถือหุ้น ITV ซึ่งบันทึกคำตอบนั้นไว้ว่า “ปัจจุบันยังดำเนินกิจการอยู่ ตามวัตถุประสงค์ของบริษัท และมีการส่งงบการเงินและยื่นแบบภาษีเงินได้นิติบุคคลตามปกติ”
การประชุมนั้นจัดขึ้นเมื่อวันที่ 26 เมษายนที่ผ่านมา และกลายมาเป็นหนึ่งในหลักฐานสำคัญต่อคดีนักการเมืองถือหุ้นสื่อของ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี จากพรรคก้าวไกล ซึ่งแรกเริ่มเดิมที เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ จากพรรคพลังประชารัฐ นำบันทึกการประชุมนี้มาเป็นหลักฐานในการยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)
แต่เรื่องนี้ไม่ได้มีตัวละครแค่ 1-2 คนเท่านั้น กลับพัวพันไปถึงหลายภาคส่วน The MATTER เลยขอสรุปผังตัวละครในเรื่องนี้ เพื่อให้เข้าใจได้อย่างง่ายว่า ใคร ทำอะไรบ้าง ในคดีนี้
ขอเริ่มเล่าคดีนี้จากการที่ เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ จากพรรคพลังประชารัฐ ยื่นคำร้องให้ กกต.ตรวจสอบคดีถือหุ้นสื่อของ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม ก่อนหน้าวันเลือกตั้งทั่วไป 4 วัน โดยคำร้องระบุว่า ขอให้ตรวจสอบว่าการที่พิธา ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคก้าวไกล มีลักษณะต้องห้ามในการลงสมัครรับเลือกตั้ง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3) ซึ่งว่าด้วยเรื่องที่ห้ามนักการเมืองถือหุ้นสื่อ หรือไม่
ซึ่งเมื่อผู้สื่อข่าวถามเรืองไกรว่า ได้รับข้อมูลมาจากไหน เจ้าตัวก็ตอบว่าได้เบาะแสมาจากนักการเมืองคนหนึ่ง แต่ไม่ขอระบุชัดเจนว่าเป็นใคร
การเคลื่อนไหวนี้ทำให้คนเชื่อมโยงไปกับกรณีที่ นิกม์ แสงศิรินาวิน จากพรรคภูมิใจไทย อดีต ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ โพสต์เฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 24 เมษายนที่ผ่านมาว่า ITV กำลังจะประชุมผู้ถือหุ้นสื่อในวันที่ 26 เมษายน พร้อมบอกว่าหัวหน้าพรรคการเมืองหนึ่งถือหุ้น ITV 42,000 หุ้น ให้เตรียมมอบตัวกับ กกต.
จากนั้น ผลการเลือกตั้งในวันที่ 14 พฤษภาคม ก็ปรากฏว่า พรรคที่ได้จำนวนที่นั่ง ส.ส.มากที่สุดคือพรรคก้าวไกล ซึ่งมีพิธาเป็นแคนดิเดตนายกฯ แล้วหลังจากนั้น คดีหุ้นสื่อก็เริ่มเป็นที่ต้องจับตาของสังคมมากขึ้นว่า จะเป็นจุดสกัดดาวรุ่งของพิธาหรือไม่
ต้องบอกว่า กระแสสังคมในช่วงแรกต่างมองว่า ITV เลิกเป็นสื่อไปนานแล้ว คำร้องนี้น่าจะทำอะไรพิธาไม่ได้ แม้แต่ตัวพิธาเองก็ยืนกรานว่า เรื่องนี้ไม่ส่งผลกระทบต่อเส้นทางการเป็นนายกฯ เพราะเขาถือหุ้นในนาม ‘ผู้จัดการมรดก’ ไม่ใช่ถือในนามส่วนตัว
แต่เรื่องนี้เริ่มจะร้อนแรงขึ้น เมื่อมีการเผยแพร่บันทึกการประชุมผู้ถือหุ้นซึ่ง ภาณุวัฒน์ ขวัญยืน ผู้ถือหุ้น ITV ตั้งคำถามในที่ประชุมว่า ‘มีการดำเนินกิจการเกี่ยวกับสื่อทีวีไหม?’
ภาณุวัฒน์คือใคร? สำนักข่าวคมชัดลึกรายงานว่า เขาเป็นผู้จัดการคลินิคนวลจันทร์ ซึ่ง พล.ต.ท.สิทธิเดช แสงศิรินาวิน อดีตแพทย์โรงพยาบาลตำรวจ ปัจจุบันเป็นเจ้าของคลินิกนวลจันทร์ และเป็นบิดาของนิกม์นั่นเอง ส่วนสาเหตุที่ภาณุวัฒน์เป็นผู้ถือหุ้นได้นั้น นิกม์กล่าวในรายการข่าว 3 มิติว่า รู้จักกับ ภาณุวัฒน์ซึ่งเป็นรุ่นน้องในที่ทำงาน และได้โอนหุ้น ITV ของที่นิกม์เคยถืออยู่ให้กับภาณุวัฒน์ ก่อนที่นิกม์จะลงสมัคร ส.ส.ในการเลือกตั้ง 2566
กลับมาที่การประชุมผู้ถือหุ้นสื่อ คำตอบจากบันทึกการประชุมในรูปแบบเอกสารที่ออกมาตอนแรก ระบุว่า “ปัจจุบันบริษัทยังดำเนินกิจการอยู่ ตามวัตถุประสงค์ของบริษัท และมีการส่งงบการเงิน และยื่นแบบภาษีเงินได้นิติบุคคลตามปกติ” — ประโยคนี้ถูกตีความไปหลากความหมาย อย่างสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีต กกต.ที่มองว่า นั่นแปลว่า ITV ยังเป็นสื่ออยู่ ส่วนศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ นักวิเคราะห์ข่าวชื่อดัง กล่าวว่าวัตถุประสงค์ของ ITV มีทั้งหมด 45 ข้อ จึงไม่อาจพูดได้ชัดเจนว่าคำกล่าวนั้นจะแปลว่า ITV ยังคงเป็นสื่ออยู่
ขณะเดียวกัน บนเอกสารบันทึกการประชุมผู้ถือหุ้น ITV นั้นมีลายเซ็นบุคคล 2 คนรับรองเอาไว้ ได้แก่ จิตชาย มุสิกบุตร กรรมการผู้สอบทานและแก้ไขของ ITV และ คิมห์ สิริทวีชัย ประธานคณะกรรมการบริษัท ITV
ตอนแรกไม่ได้มีใครสนใจ 2 ชื่อนี้เท่าไหร่นัก แต่เมื่อคืนวันที่ 11 มิถุนายน รายงานจากข่าว 3 มิติ กลับเปิดเผยคลิปบันทึกการประชุมผู้ถือหุ้น ITV ที่ได้มาจากผู้ถือหุ้นรายหนึ่ง ซึ่งคำตอบของคำถามเดียวกันนั้น กลับระบุไว้ต่างจากเอกสารบันทึกการประชุมว่า “ตอนนี้บริษัทยังไม่มีการดำเนินการใดๆ นะครับ ก็รอผลให้คดีความสิ้นสุดก่อนนะครับ”
ทันทีที่คลิปเผยแพร่ออกมา ก็มีเสียงวิจารณ์แตกออกเป็นสองฝ่าย ทั้งฝ่ายที่ชื่นชมการทำงานของข่าว 3 มิติ และตัวผู้ถือหุ้นคนนั้น ที่เปิดข้อมูลสำคัญให้ประชาชน กับฝ่ายที่มองว่าคลิปในรายกรข่าว 3 มิติ ถูกตัดต่อเพราะมีช่วงกระโดดข้ามจังหวะอยู่ แต่ประเด็นนี้ถูก ฐปนีย์ เอียดศรีไชย ออกมายืนยันด้วยการไลฟ์คลิปเต็มยาว 3 นาทีผ่านสำนักข่าว The Reporters ซึ่งทำให้เห็นว่า คลิปในรายการข่าว 3 มิติ แค่ตัดช่วงเดดแอร์ออกไปเท่านั้น
การเคลื่อนไหวนี้ ทำให้บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ ITV (52.92%) และเป็นผู้ทำเอกสารบัญชีให้กับ ITV ออกแถลงการณ์ว่าจะตรวจสอบการประชุมผู้ถือหุ้น ITV ซึ่งมีความแตกต่างกันระหว่างคลิปที่เผยแพร่ออกมากับเอกสารบันทึกการประชุม โดยผู้ที่ลงนามในเอกสารการแถลงนั้น ก็คือ คิมห์ สิริทวีชัย เหมือนเดิม แต่คราวนี้ลงนามในฐานะกรรมการผู้อำนวยการของบริษัทอินทัช ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีคนพบความเชื่อมโยงว่า จิตชาย มุสิกบุตร ก็เป็นเลขานุการและหัวหน้าสารงานกฎหมายของบริษัทอินทัชด้วยเช่นกัน
ยิ่งไปกว่านั้น เรื่องนี้ยังถูกโยงไปถึงบริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี เดเวลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทอินทัชด้วย (41.19%) และอีกสาเหตุที่บริษัทกัลฟ์ถูกพูดถึงในคดีนี้ เพราะว่านี่เป็นหนึ่งในบริษัทที่ถูก รังสิมันต์ โรม จากพรรคก้าวไกล อภิปรายว่ารับเงินบริจาคมาจากมูลนิธิป่ารอยต่อ ซึ่งเกี่ยวข้องกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ และบริษัทกัลฟ์ก็ยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหายจากโรม ในคดีแพ่ง เป็นเงิน 100 ล้านบาท
นอกจากนี้ บริษัทกัลฟ์ยังถูกวิจารณ์ว่าเป็นบริษัทที่อู้ฟู่ขึ้นมากในช่วงรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รวมถึงที่หลายฝ่ายมองว่า ด้วยนโยบายด้านการจัดการพลังงานและลดการผูกขาดจากกลุ่มทุนของพรรคก้าวไกล อาจส่งผลเสียต่อบริษัทกัลฟ์ ซึ่งเป็นผู้ผลิตกระแสไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
คดีนี้ ถูกพิธาวิจารณ์ว่าเป็นความพยายามฟื้นคืนชีพ ITV ให้กลับมาเป็นสื่ออีกครั้ง เพื่อเล่นงานตน หลังจากที่ ITV ยุติกิจการโทรทัศน์ไปตั้งแต่ปี 2550 แล้ว ไม่เพียงเท่านั้นยังมีการแก้ประเภทธุรกิจสื่อ จากเมื่อปี 2560 ที่เคยระบุว่า ITV ไม่ได้ประกอบกิจการ และมีผลตอบแทนจากเงินลงทุนและดอกเบี้ยรับ เป็นในปี 2566 ระบุว่า เป็นธุรกิจประเภทสื่อโทรทัศน์ ที่มีสินค้าและบริการเป็นสื่อโฆษณาและผลตอบแทนจากการลงทุนแทน
อย่างไรก็ดี เมื่อวันที่ 9 มิถุนายนที่ผ่านมา กกต.มีมติให้ตั้งคณะกรรมการเพื่อดำเนินการ ‘ไต่สวนต่อไป’ กรณีที่มีการกล่าวหาว่า พิธามีคุณสมบัติต้องห้ามมิให้ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.หรือไม่ กรณีถือหุ้นสื่อ แม้ในการประชุมเดียวกันจะมีมติเอกฉันท์ให้ยก 3 คำร้องที่มีผู้ยื่นเรื่องเดียวกันเข้ามา เนื่องจากเป็นคำร้องที่ยื่นมาเกินระยะเวลาที่จะสั่งรับคำร้องไว้พิจารณาได้ ตามระเบียบของ กกต. ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.
โดยเหตุผลที่ กกต.เดินหน้าไต่สวนคดีหุ้นสื่อของพิธาต่อ แม้จะยก 3 คำร้องที่มีผู้ยื่นเข้ามาในเรื่องเดียวกัน เพราะถือว่ามีเหตุอันควรสงสัยหรือความปรากฎ และมีข้อมูลเพียงพอที่จะไต่สวนต่อไปได้ ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ทั้งมาตรา 42(3) ว่าด้วยคุณสมบัติต้องห้ามของผู้สมัคร ส.ส. เกี่ยวกับการเป็นเจ้าของสื่อหรือถือหุ้นสื่อ รวมไปถึงมาตรา 151 รู้อยู่แล้วว่าไม่มีสิทธิลงสมัคร ส.ส. ซึ่งข้อกล่าวหาหลัง มีอัตราโทษจำคุก 1-10 ปี ปรับ 20,000-200,000 บาท รวมถึงอาจถูกสั่งให้เพิกถอนสิทธิในการเลือกตั้งถึง 20 ปี
นี่ถือเป็นเกมยาวที่ประชาชนต้องจับตากันต่อไปว่า คดีนี้จะไปสิ้นสุดที่ตรงไหน จะมีตัวละครใดเผยโฉมออกมาอีกบ้าง และที่สุดแล้ว ประเทศไทยจะได้มีนายกฯ ที่ชื่อ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หรือไม่
อ้างอิงจาก