วาทกรรมการแบ่งแยกดินแดนนี้กลับมาเป็นที่ถกเถียงกันอีกครั้ง หลังจากที่ ‘ขบวนการนักศึกษาแห่งชาติ’ จัดอภิปรายเรื่อง ‘การกำหนดอนาคตตนเองกับสันติภาพปาตานี’ ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ปัตตานี โดยตอนหนึ่งก็มีคำถามว่า “คุณเห็นด้วยหรือไม่ กับการกำหนดชะตากรรมตนเอง” เพื่อให้ผู้เข้าร่วมงานได้มีสิทธิทำประชามติอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งต่อมา กองอํานวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ก็แจ้งความเอาผิดกลุ่มนักศึกษาและผู้ร่วมเสวนาในข้อหา ‘ตระเตรียมกบฏ-ยุยงปลุกปั่น’
ทำให้ในวันนี้ (28 มิถุนายน) มีการจัดเสวนาเรื่อง “ฤา รัฐนั้นจะเป็นเพียงความฝัน : ทบทวน วิเคราะห์ คลี่คลาย วาทกรรมว่าด้วย ‘การแบ่งแยกดินแดน’ ในรัฐไทย” ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เพื่อพูดถึงประเด็นดังกล่าว ซึ่ง The MATTER ก็ได้หยิบยกบางส่วนจากงานครั้งนี้ มาสรุปให้ทุกคนได้อ่านกันแล้ว
เริ่มจากคำว่า ‘การกำหนดอนาคตตนเอง’ หรือ Right to Self-determination ที่ชญานิษฐ์ พูลยรัตน์ อาจารย์จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ระบุว่า จริงๆ แล้วมีทั้งสิ้น 2 ความหมาย คือ การกำหนดอนาคตตัวเองภายในขอบเขตรัฐเดิม หรือก็คือแนวคิดการกระจายอำนาจ กับอีกแนวคิดหนึ่งก็คือการแยกตัวออกไปเป็นรัฐอิสระเลย แต่เมื่อคนส่วนใหญ่มองว่า การกำหนดอนาคตตนเองเท่ากับการแยกตัวออกไป จึงเกิดเป็นความหวาดกลัว
แล้วหากจะถามว่าการแยกตัวเป็นรัฐอิสระเคยเกิดขึ้นไหม? ชญานิษฐ์ระบุว่าในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาเคยเกิดขึ้นจริง แต่ถ้ามองในช่วงเวลาสมัยปัจจุบัน ก็คงบอกได้แค่ว่ามันเป็นไปได้ยากมาก เพราะกฎหมายระหว่างประเทศก็ยอมรับเรื่องการกำหนดเขตแดนที่ชัดเจนไปแล้ว
อีกทั้งการจะเป็นรัฐใหม่ ชญานิษฐ์ก็ระบุว่าต้องอาศัยอย่างน้อย 2 องค์ประกอบ คือสิทธิความปรารถนาของคนในพื้นที่นั้นๆ ที่จะกำหนดชะตากรรมของตัวเอง และการยอมรับจากประชาคมนานาชาติ ซึ่งมันก็เป็นไปได้ยาก เพราะบรรทัดฐานของนานาประเทศก็เปลี่ยนไปแล้วเช่นกัน
สอดคล้องกับความเห็นของมูฮัมหมัดอิลยาส หญ้าปรัง อาจารย์จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหงที่กล่าวว่า การจะแยกตัวออกเป็นรัฐศาสนา ในปัจจุบันไม่สามารถเป็นไปได้อีกต่อไป เพราะว่าการเรียกร้องเอกราชในปัจจุบัน ไม่มีการสนับสนุนจากต่างประเทศ และไม่มีโลกมุสลิมประเทศใดๆ ที่มาสนับสนุนอีกต่อไป
รวมไปถึง แม้จะได้ชื่อว่าเป็นรัฐศาสนา แต่สุดท้าย อำนาจของศาสนาก็จะอยู่ภายใต้ของรัฐ จนถูกรัฐกลืนกินอำนาจต่างๆ ที่อยู่กระจัดกระจายให้มาอยู่ภายใต้อำนาจของรัฐในที่สุดอยู่ดี ฉะนั้นมูฮัมหมัดอิลยาส จึงกล่าวว่า การสร้างรัฐขึ้นมาเพื่อให้ศาสนาอยู่ใต้รัฐ เป็นแนวคิดที่ตกไปแล้ว
ชญานิษฐ์ยังชี้ให้เห็นอีกประเด็นหนึ่งก็คือเรื่องสำนึกความเป็นชาติ โดยอิงจากนักวิชาการที่เคยเสนอนิยามของสำนึกความเป็นชาติไว้ว่า คือความรู้สึกที่อยู่ในใจ ความรู้สึกที่ว่าเขาเป็นพวกพ้องเดียวกันกับใคร ส่วนอีกความหมายหนึ่งคือกิจกรรม องค์กร หรือขบวนการ
โดยสองความหมายนี้ ชญานิษฐ์ระบุว่ามันแยกออกจากกันได้ อีกทั้งในกระบวนการสร้างชาติ ก็ควรจะต้องแยกออกจากกันด้วย เพราะใครบางคนอาจมีความรู้สึก มีสำนึก ความภักดี ต่อองค์กรใดองค์กรหนึ่ง โดยที่เขาไม่ต้องเป็นส่วนหนึ่งขององกรนั้นก็ได้
กลับมาที่เหตุการณ์ของขบวนการนักศึกษา ชญานิษฐ์กล่าวว่ากระดาษแผ่นนั้นเขียนว่า “คุณเห็นด้วยกับสิทธิในการกำหนดชะตากรรมตัวเองหรือไม่ ที่จะให้ประชาชนปาตานีสามารถออกเสียงประชามติ แยกตัวเป็นเอกราชได้อย่างถูกกฎหมาย” ซึ่งคำถามนี้ก็เป็นคำถามในเชิงหลักการ ไม่ได้ถามหาข้อเท็จจริงว่าจะแยกตัวไหม แล้วการถามเรื่องประชามติก็เป็นวิธีการที่สันติมากๆ
เช่นเดียวกับ มูฮัมหมัดอิลยาส ที่กล่าวว่าไม่เห็นด้วยที่เจ้าหน้าที่ไปจัดำเนินคดีกับนักศึกษา โดยใช้มาตรา 114 116 ซึ่งเป็นข้อหาร้ายแรง ทั้งๆ ที่สิ่งที่นักศึกษาทำในวันนั้นก็คือการสอบถามว่า ‘เราจะทำประชามติกันดีไหม’ เพราะคุณแก้ไขปัญหามา 19 ปีแล้วแต่ไม่ได้เรื่อง แล้วก็ใช้งบประมาณไป 3-4 แสนล้านบาทแล้วก็เลยอยากสอบถาม
“นี่คือคนในพื้นที่ที่ต้องเห็นพี่น้องของพวกเขาเต็มไปด้วยเลือด มีการซ้อมทรมาณแล้วก็มีคนตายโดยไม่มีคนรับผิด นี่เป็นความรู้สึกของผู้คนจริงๆ มันเกิดความรู้สึกเบื่อหน่าย ก็เลยมาสอบถามกัน” มูฮัมหมัดอิลยาสกล่าว พร้อมกับย้ำว่าจุดประสงค์ของนักศึกษาในการจัดทำกิจกรรมในครั้งนั้นไม่ใช่การประชามติ แต่เป็นการถามว่าจะทำประชามติกันไหม
ในประเด็นเรื่องสำนึกความเป็นชาติ ชญานิษฐ์ก็ชี้ให้เห็นว่า คนไทยไม่ค่อยแยกเรื่องสำนึกความเป็นชาติว่าคนกลุ่มหนึ่ง แค่ภาคภูมิใจในอัตลักษณ์หรือประวัติศาสตร์ของเขา หรือเขาสนใจที่จะกำหนดชะตากรรมของเขา ไม่แยกแยะระหว่างเป้าหมายและวิธีการ เพราะจะคิดไปว่าถ้าเขาภูมิใจในอัตลักษณ์ก็คืออยากแบ่งแยกดินแดน แล้วก็เห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรง
การเหมารวมเช่นนี้ ชญานิษฐ์มองว่ามันไปเข้าทางขบวนการที่อยากแบ่งแยกดินแดนด้วยอาวุธ ให้เอาไปใช้โฆษณาต่อได้เลยว่า ‘เห็นไหม เราใช้วิธีการดีๆ กับรัฐไทยไม่ได้หรอก ต้องจับอาวุธเท่านั้น’ และอาจจะผลักดันให้หลายคนที่ไม่คิดจะเข้าร่วมขบวนการแบ่งแยกดินแดน มาเข้าร่วมขบวนการไปเลย
อีกทั้งจากการสำรวจของ peace survey ที่ชญานิษฐ์หยิบมาอ้างถึงนั้นก็มีคำถามให้กับผู้คนในจังหวัดชายแดนตอบว่า ถ้าจะแก้ปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จะต้องแยกตัวออกเป็นอิสระจากรัฐไทยหรือไม่? ซึ่งก็มีเพียง 7.9% เท่านั้นที่เห็นด้วยว่าต้องแยก
อีกข้อหนึ่งเป็นคำถามว่าถ้าจะคุยกันเรื่องรูปแบบการปกครอง จำเป็นไหม ชญานิษฐ์ระบุว่าคนส่วนใหญ่ยังเห็นว่าจำเป็น พร้อมทั้งยังชี้ให้เห็นอีกว่า เมื่อถามคำถามเหล่านี้ออกไป กลุ่มตัวอย่างประมาณ 42.8% จะบอกว่าไม่รู้หรือขอไม่ตอบ “มันสะท้อนว่าเราอยู่ในรัฐหรือสังคมแบบไหนที่ส่งผลให้คนหวาดกลัวเกินกว่าจะกล้าแสดงความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมาได้”
เมื่อกล่าวถึง ปฏิกริยาของผู้คนและรัฐไทยกับเหตุการณ์ในครั้งนี้ ชญานิษฐ์ก็ให้ข้อมูลว่าส่วนใหญ่รับไม่ได้ แต่ที่เป็นคำถามที่สำคัญกว่านั้นคือ “ที่ผ่านมา เราทั้งหลายในฐานะสมาชิกร่วมสังคมการเมืองเดียวกัน ได้ทำอะไรหรือไม่ทำอะไร ที่ทำให้เพื่อนร่วมสังคมของเรา ไม่อบอุ่นใจในบ้านหลังเดียวกันนี้ กระทั่งพวกเขาถึงกับต้องคิดคำนึง หรือลุกขึ้นมาตั้งคำถามแบบนี้”
ชญานิษฐ์เสริมอีกว่า เรามักจะชี้นิ้วไปที่คนจัด แต่ไม่ได้สำรวจมาที่ตัวเองหรือรัฐไทยว่าทำหรือไม่ทำอะไรที่ทำให้เขาไม่อยากอยู่ด้วย
นอกจากนี้ ในประเด็นแนวคิดของรัฐชาติ ชญานิษฐ์ก็ชี้ให้เห็นว่า รัฐไม่ได้ประกอบไปด้วยอาณาเขตเท่านั้น เพราะรัฐไม่ได้มีแค่มิติทางกายภาพ เช่นอาณาเขต ทรัพยากร ประชากร สถาบันต่างๆ แต่รัฐยังประกอบไปด้วยมิติเชิงอุดมการณ์หรือสำนึกความผูกพัน เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของสมาชิกภายในรัฐอีกด้วย
หากรัฐให้ความสำคัญกับมิติทางกายภาพ เช่นกองทัพ การบังคับใช้กฎหมาย นั่นก็ทำให้ชญานิษฐ์มองว่าอาจสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ในการรักษารัฐ หรือมิติทางกายภาพของรัฐให้เข้มแข็งอยู่ต่อไปได้ ในขณะเดียวกัน ก็อาจมีผลบั่นทอนความรู้สึกผู้พันธ์เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของสมาชิกในรัฐเดียวกัน ผลักให้ผู้คนจำนวนหนึ่งรู้สึกแปลกแยก
ฉะนั้นแล้ว สิ่งที่ชญานิษฐ์มองว่ามีความหมายมากกว่าคำถามว่ากล้าดียังไงถึงจัดกิจกรรมอย่างนี้ ก็คือ “ทำอย่างไรให้ผู้คนรู้สึกว่าที่นี่เป็นบ้านที่อบอุ่นสำหรับพวกเขาได้ จนไม่คิดจะอยากจากไปอีกแล้ว”แล้วต่อให้เขาปรารถนาจะกำหนดชะตากรรมตัวเอง ก็ไม่ได้หมายความว่าเขาเห็นด้วยว่าจะต้องเห็นด้วยกับความรุนแรงเช่นกัน อีกทั้งประชามติมันก็เป็นวิธีที่สันติมากๆ
อ้างอิงจาก