วันนี้ (2 มกราคม) ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เปิดเผยรายงานของปี 2566 พบว่า มีประชาชนและนักกิจกรรมถูกติดตามคุกคามอย่างน้อย 203 กรณี และในจำนวนนี้ ยังมีกลุ่มที่อ้างตนว่าเป็น ‘กองทัพมินเนี่ยน’เป็นผู้คุกคาม ทั้งตามไปที่บ้าน หรือส่งข้อความข่มขู่
หากย้อนเวลากลับไปเมื่อปี 2563 จะพบว่ามีประชาชนหลายคนที่ออกมาร่วมชุมนุมเพื่อหวังให้เกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นทางใดทางหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการปฏิรูปโครงสร้างต่างๆ ของประเทศ การแก้กฎหมาย หรือการเรียกร้องสิทธิและเสรีภาพ
การชุมนุมดังกล่าวนั้นยังดำเนินเรื่อยมา แม้ในช่วงหลัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 2566 จะไม่ได้มีการชุมนุมทางการเมืองมากเท่าปี 2563 แต่ประชาชนและนักกิจกรรมก็ยังคงถูกจับตามองและคุกคามอยู่อย่างต่อเนื่อง
ศูนย์ทนายฯ รายงานว่า จากการเก็บข้อมูลในปี 2566 จนถึงวันที่ 23 ธันวาคมที่ผ่านมา พบว่ามีประชาชนและนักกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับทางการเมือง ถูกติดตามและคุกคามอย่างน้อย 203 กรณี โดยมีผู้ที่ถูกคุกคามอย่างน้อย 163 คน ในจำนวนนี้ เป็นเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี จำนวน 6 คน
สำหรับรูปแบบการคุกคามที่พบมากที่สุด ได้แก่ การไปติดตามถึงที่บ้านหรือที่ทำงาน ไม่น้อยกว่า 75 กรณี, การเข้าห้ามปรามหรือรบกวนการทำกิจกรรมจำนวน 38 กรณี, การติดตามสอดแนมไม่น้อยกว่า 36 กรณี และการโทรศัพท์ติดต่อสอบถามข้อมูลและความเคลื่อนไหว 21 กรณี
รวมไปถึง ยังมีการคุกคามอันเนื่องมาจาการแสดงความเห็นเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์บนโลกออนไลน์ ที่ไม่ได้เป็นคดีความอีก 20 กรณี โดยในจำนวนนี้ก็ยังมีบางส่วนที่อาจเข้าข่ายการควบคุมตัวโดยมิชอบอีกเช่นกัน
ในการคุกคาม 20 กรณีดังกล่าว ศูนย์ทนายฯ ยังพบว่ามีประชาชนที่คอมเมนต์เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ แล้วถูกกลุ่มที่อ้างตนว่าเป็น ‘กองทัพมินเนี่ยน’ ซึ่งมีทหารมาเกี่ยวข้องด้วย เข้าไปติดตามพูดคุยเชิงข่มขู่ว่าจะไม่แจ้งความดำเนินคดี ภายใต้เงื่อนไขให้ประชาชนคนดังกล่าวเซ็น MOU ว่าจะไปทำกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์
นอกจากนี้ กลุ่มกองทัพมินเนี่ยนยังส่งข้อความข่มขู่ไปยังบุคคลที่แชร์ โพสต์ หรือคอมเมนต์ข้อความที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ในทำนองว่า “กองทัพมินเนี่ยนรวบรวมเอกสาร พร้อมแจ้งความดำเนินคดีคุณแล้ว” พร้อมกับแนบไฟล์ที่รวบรวมข้อมูลส่วนตัวของบุคคลดังกล่าวส่งให้ดูด้วย ซึ่งการกระทำเช่นนี้ของบุคคลที่อ้างตนว่าเป็นกองทัพมินเนี่ยนนี้ ศูนย์ทนายระบุว่าพบเห็นได้ตั้งแต่ปี 2562
อย่างไรก็ดี รูปแบบการคุกคามที่พบเห็นได้มากที่สุดในปี 2566 คือ กรณีเจ้าหน้าที่รัฐไปติดตามประชาชนก่อนหรือระหว่างการลงพื้นที่ของบุคคลสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นสมาชิกราชวงศ์ หรือนายกรัฐมนตรี
รองลงมาคือการปิดกั้น หรือห้ามทำกิจกรรม เช่นกรณีของเยาวชนวัย 18 ปี ที่ไปร่วมงานกิจกรรมวันเด็ก พร้อมกับทำกิจกรรมเขียนป้ายผ้าแสดงความเห็นว่า “เด็กๆ อยากบอกอะไรกับผู้ใหญ่?” แต่ได้ถูกเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบเข้าขัดขวางและยึดป้ายไป
“ยังต้องจับตาสถานการณ์การใช้อำนาจรัฐ ในการเข้าติดตามหรือคุกคามประชาชนและนักกิจกรรม ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง หรือยังดำเนินต่อไปเช่นเดิม” ศูนย์ทนายฯ ทิ้งท้าย
อ่านรายงานฉบับเต็มได้ที่: tlhr2014.com