วันนี้ (31 มกราคม) เวลา 14.00 น. ศาลรัฐธรรมนูญนัดอ่านคำวินิจฉัย ปมหาเสียงแก้ไขประมวลกฎหมายมาตรา 112 ของพรรคก้าวไกลว่า เข้าข่ายการล้มล้างการปกครองหรือไม่?
โดยผลคำวินิจฉัยของศาลฯ ระบุว่า การกระทำของผู้ถูกร้องทั้งสอง ได้แก่ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลในขณะนั้น และพรรคก้าวไกล ที่เสนอกฎหมายแก้ไข ม.112 เป็นนโยบายหาเสียงเลือกตั้ง นับเป็นการกระทำที่เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49
อย่างไรก็ดี The MATTER จะชวนทุกไปดูเส้นทางของพรรคก้าวไกล ที่อาจจะเกิดหลังจากนี้ให้ทุกคนได้อ่านกัน
หลังจากศาลฯ ตัดสินว่า พรรคก้าวไกลปฏิปักษ์และล้มล้างการปกครอง ศาลก็สั่งให้ยุติการกระทำทันที แต่อุปสรรคต่อไปที่พรรคอาจต้องประสบถูกแบ่งออกเป็น 2 ทาง (หากมีใครไปเรียกร้อง) ได้แก่
1. ยื่นฟ้องต่อ กกต.และหากรับเรื่องก็จะพิจารณา พ.ร.ป.พรรคการเมือง มาตรา 92 คือ เมื่อศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคการเมือง คณะกรรมการบริหารพรรคถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ไม่สามารถจดทะเบียนพรรคการเมืองขึ้นใหม่ หรือเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมือง และมีส่วนร่วมในการจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ได้ในระยะเวลา 10 ปี
2. ยื่นฟ้องต่อ ป.ป.ช. และหากรับเรื่องก็จะพิจารณา รธน.มาตรา 219 วรรค 2 คือ การกำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระเป็นผู้กำหนดมาตรฐานทางจริยธรรมขึ้นมาบังคับใช้ ในการจัดทำต้องรับฟังความเห็นของ สส. สว. และ ครม.โดยเนื้อหาต้องระบุให้ชัดแจ้งด้วยว่าการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมใดมีลักษณะร้ายแรง
และ มาตรา 235 ประกอบมาตรฐานจริยธรรมศาลรัฐธรรมนูญ หรืออธิบายง่ายๆ ก็คือ ถ้านักการเมืองที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง จะต้องถูก ป.ป.ช.ไต่สวน หลังจากนั้นจะมีการดำเนินการส่งให้ศาลฎีกาวินิจฉัย ซึ่งโทษสูงสุดคือ ‘ตัดสิทธิการเมืองตลอดชีวิต’
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2563 คดีการกู้ยืมเงินจาก ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ เป็นการกระทำฝ่าฝืน มาตรา 72 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ส่งผลให้ศาลฯ ตัดสินยุบพรรคอนาคตใหม่
ต่อมา 21 กันยายน 2566 ช่อ—พรรณิการ์ วานิช อดีต สส.พรรคอนาคตใหม่ ถูกศาลฎีกาตัดสินว่าเธอฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรม หลังโพสต์ข้อความพาดพิงสถาบัน ดังนั้น จึงต้องเพิกถอนสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้งตลอดชีพ และยังไม่สามารถดำรงตำแหน่งทางการเมืองใดๆ
ดังนั้น หลังจากนี้จะต้องติดตามต่อไปว่าเหตุการณ์ดังกล่าวจะซ้ำรอยอีกหรือไม่
อ้างอิงจาก