คงไม่ใช่ของขวัญวันแม่ที่ถูกใจใครเท่าไหร่ สำหรับระเบียบกระทรวงมหาดไทยฉบับล่าสุด ที่บังคับใช้แล้วตั้งแต่ 12 สิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งระบุถึงหลักเกณฑ์จ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ พ.ศ. 2566 ที่กำหนดว่า ‘เป็นผู้ไม่มีรายได้หรือมีรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพ ตามที่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ ตามกฎหมายว่าด้วยผู้สูงอายุกำหนด’
โดยแต่เดิมนั้น หากถือสัญชาติไทย มีภูมิลำเนาตามทะเบียนบ้านอยู่ในเขตปกครองส่วนท้องถิ่น และมีอายุ 60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไปก็จะได้ ‘รับเบี้ยผู้สูงอายุแบบถ้วนหน้า’ ยกเว้นเฉพาะผู้ที่ได้รับสวัสดิการอื่นจากหน่วยงานของรัฐอยู่แล้ว
นั่นนำมาซึ่งข้อถกเถียง ว่าระเบียบใหม่นี้จะเป็นการทำลายหลักการรัฐสวัสดิการแบบถ้วนหน้าหรือไม่? จน #เบี้ยผู้สูงอายุ ขยับขึ้นมาติดเทรนด์ทวิตเตอร์วันนี้ (14 สิงหาคม) ซึ่งสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย เป็นคนหนึ่งที่แสดงความเห็นผ่านเพจทางการของตัวเอง
“การเพิ่มคุณสมบัติของผู้มีสิทธิได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุดังกล่าวนี้จะทำลายหลักการรัฐสวัสดิการแบบถ้วนหน้า แต่จะตอกย้ำระบบรัฐสงเคราะห์ที่เลือกให้เฉพาะคนจน หรือคนอนาถา ซึ่งเป็นการกระทำที่ขัดเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ และหลักสากล แต่เป็นระบบที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ถนัดนั่นคือการเลือกปฏิบัติ และสร้างบุญคุณในฐานะการช่วยเหลือ เช่น บัตรคนจน หรือเงินอุดหนุนบุตร เป็นต้น ทั้งที่จริงมันคือสวัสดิการที่รัฐพึงจัดหาให้แก่ประชาชนผู้เสียภาษีทุกคนอยู่แล้ว” สุดารัตน์ ระบุ
โดยที่ผ่านมาช่วงไม่กี่เดือน กระทรวงการคลังได้ออกมาส่งสัญญาณถึงปัญหาของประมาณแผ่นดิน จนนำมาซึ่งระเบียบการคัดกรองเพิ่มเติม แต่สุดารัตน์ ดูจะไม่เห็นด้วยกับแนวคิดนี้
“แนวคิดเช่นนี้นอกจากจะสะท้อนปัญหาว่ารัฐบาลหาเงินไม่ได้ ใช้เงินไม่เป็นจนต้องมาตัดจำนวนผู้ได้รับลดเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุไปอีกกว่า 6 ล้านคนด้วยการเพิ่มเงื่อนไขการรับเงินแล้ว ยังลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ของพลเมืองไทย ถ้าอยากได้เงินเพียงเดือนละ 600-1,000 บาทก็ต้องไปยืนยันตัวตนว่าเป็นคนจนทั้งที่เป็นสิทธิที่ทุกคนควรได้รับการดูแลจากรัฐ”
“รัฐบาลต้องเลิกทำให้คนไทยกลายเป็นคนอนาถา หยุดรัฐสงเคราะห์ แต่ต้องเริ่มวางรากฐานรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า เพิ่มศักดิ์ศรีความเป็นคน ด้วยการตระหนักถึงหน้าที่ของรัฐที่ต้องดูแลพลเมืองอย่างทั่วถึงเสมอหน้า ไม่เอางบประมาณของรัฐมาสร้างบุญคุณหรือมาแบ่งคนจนคนรวย” สุดารัตน์ กล่าว
อย่างไรก็ดี ยังมีบทเฉพาะกาลตอนท้าย ที่กำกับไว้ว่าผู้สูงอายุที่ได้ขึ้นทะเบียน รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุอยู่แล้ว ก่อนที่ระเบียบดังกล่าวนี้จะบังคับใช้นั้น จะยังมีสิทธิรับเบี้ยต่อไป และระหว่างที่กฎเกณฑ์ของคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติจะเรียบร้อย ก็ยังคงใช้กฎเกณฑ์เดิมไปพลางก่อน
อ้างอิงจาก
facebook.com/sudaratofficial