ในวันที่ฝนเทลงมาแต่เช้า ก็เป็นเหมือนสัญญาณว่าเรากำลังเข้าสู่ช่วงเปลี่ยนผ่านจาก ‘เอลนีโญ’ ไปสู่ ‘ลานีญา’ แต่สิ่งที่น่าสนใจคือโลกของเรากำลังประสบกับการเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศ หรือ Climate change ที่ทำอากาศผันผวนจนเราไม่สามารถคาดเดาได้เลยว่าความรุนแรงของลานีญาในครึ่งปีหลังนี้จะรุนแรงขนาดไหน
นักอุตุนิยมวิทยาและนักวิเคราะห์การเกษตร อธิบายว่า รูปแบบปรากฏการณ์ลานีญานี้จะทำให้เกิดปริมาณน้ำฝนสูงขึ้นในออสเตรเลีย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และอินเดีย ขณะที่ภูมิภาคที่ผลิตธัญพืช และเมล็ดพืชอย่างสหรัฐฯ จะประสบกับสภาพอากาศที่แห้งแล้งมากขึ้น
ย้อนกลับไปในปรากฏการณ์เอลนีโญของปีที่แล้วที่ทำให้เอเชียมีอากาศร้อนและแห้ง แต่มีฝนตกมากขึ้นในสหรัฐฯ ซึ่งเพิ่มโอกาสผลผลิตทางการเกษตรในอาร์เจนตินาและที่ราบทางตอนใต้ของสหรัฐฯ ได้
ขณะที่อินเดีย ซึ่งเป็นซัพพลายเออร์ข้าวรายใหญ่ของโลก ได้จำกัดการส่งออกวัตถุดิบเนื่องจากความแล้ง เช่นเดียวกับผู้ผลิตข้าวสาลีส่งออกอันดับ 2 ของออสเตรเลียที่ได้รับผลกระทบ และสวนปาล์มน้ำมันและนาข้าวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้รับน้ำน้อยกว่าปกติเนื่องจากฝนไม่ค่อยตก
ลานีญาจะช่วยพลิกสถานการณ์เราได้มั้ย?
ผู้อำนวยการบริษัทนายหน้าการเกษตรในซิดนีย์ เล่าว่า ตามสมมติฐานแล้วลานีญานั้น น่าจะดีสำหรับพืชผลในออสเตรเลีย แต่จริงๆ แล้วมันก็ขึ้นอยู่กับว่าฝนจะตกหรือไม่ตกตอนไหน ซึ่งฝนจะต้องตกก่อนปลูกเพื่อให้ดินมีความชื้นดี หรือสม่ำเสมอในช่วงฤดูเพาะปลูก
ด้านนักวิเคราะห์เล่าว่า ในประเทศที่ผลิตข้าวและน้ำมันปาล์มในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สภาพอากาศชื้นอาจช่วยเพิ่มผลผลิตได้ ขณะที่มรสุมปกติของอินเดียจะช่วยเพิ่มการผลิตและรายได้ของเกษตรกร แต่บางทีอินเดียตอนใต้อาจมีความแห้งแล้งเล็กน้อย แต่สำหรับพื้นที่ตอนกลางและตอนเหนือของประเทศจะมีฝนตกมากกว่าปกติเล็กน้อย
เราจะเห็น เอลนีโญ-ลานีญา บ่อยขึ้นและรุนแรงขึ้น
มีงานวิจัยที่ชี้ให้เห็นว่า เหตุการณ์เอลนีโญและลานีญาที่รุนแรงและยาวนานนั้นเกิดขึ้นบ่อยขึ้น โดยงานวิจัยล่าสุดพบว่า ส่วนหนึ่งเป็นสาเหตุมาจากปัญหา Climate Change ที่เกิดจากมนุษย์ ซึ่งการตัดไม้ทำลายป่าก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เอลนีโญ-ลานีญายาวนานขึ้นด้วยเช่นกัน
หมู่เกาะต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นที่ตั้งของป่าฝนที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก หากต้นไม้เหล่านี้ถูกตัด เกาะต่างๆ ก็จะแห้งแล้งและร้อนขึ้น และอากาศอุ่นก็จะลอยตัวสู่ชั้นบรรยากาศที่นั่นมากขึ้น ในแบบจำลองของงานวิจัยแสดงให้เห็นว่าการไหลเวียนของชั้นบรรยากาศที่เพิ่มขึ้นจะทำให้ลมค้าที่พัดมาจากเม็กซิโกไปตะวันตกเฉียงใต้รุนแรงขึ้น ผลก็คือความถี่ของลานีญาจะเพิ่มขึ้นจาก 79% เป็น 88% หากยังมีการตัดไม้ทำลายป่า เอลนีโญก็จะเพิ่มขึ้น 40-45% ทั้งเอลนีโญและลานีญาที่ยาวนานอาจส่งผลร้ายแรงเช่น ภัยแล้งร้ายแรงในโซมาเลียช่วงลานีญาปี 2020-2023
ผู้ที่ทำการวิจัยเล่าว่า นอกจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลและปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์แล้ว การตัดต้นไม้เป็นอีกหนึ่งการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศของเราอย่างลึกซึ้ง
แม้ว่าปัจจุบันอัตราการตัดไม้ทำลายป่าในอินโดนีเซียและมาเลเซียจะลดลง แต่เมื่อปีที่แล้วพื้นที่หลายแสนเฮกตาร์ยังคงถูกทำลายเพื่อผลิตน้ำมันปาล์มสำหรับอาหารแปรรูป แชมพู และผลิตภัณฑ์อื่นๆ อยู่
อ้างอิงจาก