เคยเปิดดูหนังสือรุ่นบ้างไหม?
บางวันความคิดถึงที่ไม่ได้เชื้อเชิญก็กลับมาหาเรา เราอาจจะเก็บมันไว้ในชั้นหนังสือที่ปกคลุมด้วยฝุ่น ยิ่งไม่ได้แตะต้องนานฝุ่นยิ่งจับหนาแน่น และก็ยิ่งยากจะเข้าไปแตะต้อง น่าตลกดีเมื่อมันเป็นอย่างนั้นกับวัตถุที่เชื่อมเราเข้ากับความทรงจำวัยเรียน คืนวันที่เราบอกเพื่อนว่า “เราจะรักกันตลอดไป” ด้วยความเชื่อเช่นนั้นจริงๆ เมื่อเปิดกระดาษเหลืองกรอบซึ่งเป็นคลื่นจากความอับชื้น สิ่งที่เราเห็นคือทะเลของใบหน้าที่เราไม่รู้จัก นั่นรวมถึงใบหน้าของเราเองด้วย
หัวหน้าห้อง เด็กเรียน เด็กหลังห้อง คนที่เราเคยโดดเรียนด้วย คนที่โกรธเราเพราะเรื่องขี้ปะติ๋วที่สุด เพื่อนสนิท รักครั้งแรก ฯลฯ เศษเสี้ยวของความทรงจำเหล่านั้นกลายเป็นสิ่งที่จำกัดความวัยเรียนของเรา สวยงามและผ่านเลย ผ่านเลยมาเป็นสิบๆ ปีแล้ว หน้าแล้วหน้าเล่า เราเปิดหนังสือรุ่นเมื่อแดดส่องผ่านหน้าต่างใบเล็กๆ แสงที่ถูกกรองผ่านม่านหมอกของฝุ่นในห้อง และละอองจากอดีตทำให้มันสวยงามกว่าที่ควร
“ตอนนั้นมันดีจังนะ”
เราอาจจะพูดอะไรแบบนั้นออกไป มนุษย์อยู่กับปัจจุบัน แต่อดีตปกครองอยู่เหนือหัวของเราเสมอ เราเก็บความทรงจำเล็กๆ น้อยๆ ไว้รอบตัวโดยไม่ได้ตั้งใจ ในกลิ่นของอาหารที่ไม่มีคนทำให้อีกต่อไป ในเพลงสุดท้ายที่เขาเคยส่งให้และจะไม่ส่งอีกแล้ว ในรูปถ่ายของคนที่ไม่กลับมา ในถ้อยคำจดหมายของคนไกลที่จะไม่มีวันใกล้กันอีก อดีตที่เคยมีนั้นสวยงามกว่าเสมอ น่าเสียดายที่กว่าเราจะรู้ตัวว่าวันวานนั้นหอมหวานขนาดไหน เราก็ไม่ได้อาศัยอยู่ ณ ตรงนั้นอีกต่อไปแล้ว
การโหยหาอดีต หรือ Nostalgia ตรงตามคำเรียกของมันไม่ใช่การเรียกใช้ความทรงจำทั่วๆ ไป แต่มันมีมิติของอารมณ์ความรู้สึกเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการเรียกใช้นั้นๆ ด้วย ในที่นี้คือความรู้สึกถวิลหาห้วงเวลาเหล่านั้น จากงานวิจัยจำนวนมาก การโหยหาอดีตนั้นนำมาซึ่งผลดีต่อสภาพจิตใจของเรามากมาย ตัวอย่างเช่นเป็นบูสต์พลังบวก หรือเพิ่มความมั่นใจในตัวคนที่รู้สึก
ฟังอย่างนี้แล้วสิ่งแรกที่เราคิดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้น่าจะเป็นว่า ความทรงจำเหล่านั้นต้องเป็นความทรงจำที่ดีอย่างสุดโต่งแน่นอนใช่หรือไม่? บ่อยครั้งก็ไม่ใช่ เพราะการโหยหาอดีตเองเชื่อมโยงกับความรู้สึกแง่ลบด้วยในหลายๆ กรณี ตั้งแต่จุดเริ่มต้นของคำว่า Nostalgia ถูกนิยามขึ้นมาโดยแพทย์ชาวสวิส โยฮันเนส โฮเฟอร์ ในราวๆ ปี 1688 เพื่ออธิบายอาการที่เกิดขึ้นเมื่อทหารรับจ้างถูกบังคับให้ต้องพรากจากครอบครัว ซึ่งคำนี้มาจากคำภาษากรีกว่า Nostos ที่แปลว่าการหวนคืน และ Algos ที่แปลว่าความเจ็บปวด การโหยหาและปรารถนามาพร้อมกับความเจ็บปวดเสมอ เพราะเราโหยหาในสิ่งที่เราขาด และยากเหลือเกินที่เราจะเติมเต็มมันได้
ทั้งนี้งานวิจัยที่สะท้อนความซับซ้อนของการโหยหาอดีต ว่ามันไม่ใช่เพียงความรู้สึกแง่บวกอย่างเดียวคือ Nostalgia and Well-Being in Daily Life: An Ecological Validity Perspective โดยเดวิด นิวแมน (David Newman) และคณะ นักวิจัยจากคณะจิตวิทยา มหาวิทยาลัย Southern California ที่เชื่อว่าผลการวิจัยกระแสหลักซึ่งวางภาพให้การโหยหาอดีตคือความรู้สึกบวกเป็นหลัก เป็นผลมาจากวิธีการทำงานของวิจัยที่เผยให้เราเห็นการโหยหาอดีตซึ่งเกิดขึ้นจากวิธีเดียว นั่นคือการโหยหาอดีตที่เกิดขึ้นจากการถามถึง
ยกตัวอย่างให้เห็นภาพ เวลาเรานัดเจอกันกับเพื่อนเก่าแล้วใครสักคนพูดขึ้นมาว่า “จำตอนนั้นได้มั้ย? โคตรดีเลย” ความรู้สึกที่ตามมามักเป็นการรื้อฟื้นเรื่องราวดีๆ ที่เคยเกิดขึ้น แต่ว่าวันที่เรานอนมองเพดานแล้วนึกถึงอดีต ความสวยงามของอดีตมักเป็นดังใบมีดเสียมากกว่าอะไรทั้งนั้น และนั่นคือสิ่งที่งานวิจัยชิ้นดังกล่าวพิสูจน์สมมติฐานว่า เมื่อการโหยหาอดีตเกิดขึ้นในชีวิตประจำวันโดยไม่ได้ขอ มันมักมาพร้อมกับความรู้สึกแง่ลบ ซึ่งการทดลองนี้ทดลองผ่านการใช้ข้อความในโทรศัพท์ที่ไม่ได้ถามตรงๆ เกี่ยวกับการโหยหาอดีต แต่เป็นการรายงานชีวิตประจำวัน 8 ครั้งต่อวัน ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการรายงานถึงการโหยหาดังกล่าวเป็นครั้งคราวเมื่อมันเกิดขึ้น
ผลการทดลองพบว่า มี 2 เวลาที่คนคนหนึ่งจะรู้สึกโหยหาอดีต เวลาแรกคือเมื่อพวกเขาอยู่กับเพื่อนและครอบครัว โดยเฉพาะในเวลามื้ออาหาร ผู้วิจัยเล่าว่าเป็นไปได้ที่สิ่งเหล่านั้นจะเป็นตัวชี้นำให้เรานึกถึงคนที่อาจจะเลือกเข้ามามีปฏิสัมพันธ์กับมันด้วยตัวเอง หรือโดยบังเอิญก็ได้ ทั้งกลิ่นของอาหารก็เป็นยานพาหนะชั้นดีของความทรงจำ ในทางตรงกันข้าม อีกเวลาที่คนมักโหยหาอดีตคือเมื่อพวกเขารู้สึกเศร้าซึม โดยคำอธิบายนั้นเป็นเพราะเรามักใช้การโหยหาอดีตเป็นเครื่องมือในการพยายามทำให้ความเจ็บปวดของเราลดน้อยลง อย่างไรก็ตาม จากการวัดค่าอารมณ์ของวันต่อๆ มาหลังความพยายามดังกล่าวก็พบว่าอารมณ์ไม่ได้ดีขึ้นตาม
จากที่เราเล่ามาทั้งหมดทำให้เราเห็นว่า การโหยหาในอดีตนั้นไม่ใช่อาการที่ตรงไปตรงมา และแม้มันจะไม่ช่วยเราในการทำให้เราหลุดพ้นออกจากความเศร้าได้มากนั้น แต่เราก็ยังเลือกการโหยหาอดีต เพราะมันมอบความสบายใจแก่เราบ้างเล็กน้อย เช่นความอบอุ่น และในบางกรณีคือความหวัง
เมื่อพูดถึงความหวัง สิ่งที่เราอาจตั้งคำถามคือ อดีตจะเกี่ยวข้องกับความหวังได้ยังไง ในเมื่อความหวังมักเป็นสิ่งที่เราเชื่อมโยงกับอนาคต? และการโหยหาอดีตเชื่อมโยงกับอนาคตยังไง? มีบทความวิชาการที่พูดเกี่ยวกับประเด็นนี้ชื่อว่า Is Nostalgia a Past or Future-Oriented Experience? Affective, Behavioral, Social Cognitive, and Neuroscientific Evidence โดยเทย์เลอร์ ฟิโอริโต (Taylor FioRito) และเคลย์ รูทเลดจ์ (Clay Routledge) จากคณะจิตวิทยา มหาวิทยาลัยรัฐ North Dakota
บทความชิ้นนี้รวบรวมงานวิชาการซึ่งเกี่ยวข้องกับการโหยหาอดีตจากหลากหลายแห่ง เพื่อสร้างบริบทเชื่อมโยงรอบๆ มัน โดยสิ่งที่ผู้เขียนค้นพบคือ:
- การโหยหาอดีตนำมาซึ่งแรงผลักดันไปสู่อนาคต เช่น การมองโลกในแง่บวก แรงบันดาลใจ ความกล้าเข้าสังคม การพบความหมายของชีวิต
- แรงผลักดันในข้อที่ 1 ซึ่งมาจากความโหยหาอดีตมักนำไปสู่การกระทำจริง เช่น การมีความรู้สึกแง่บวกต่อสุขภาพตัวเองจะนำไปสู่การออกกำลังกาย เพราะมันสร้างเป้าหมายที่ชัดเจนให้แก่เรา
- การโหยหาอดีตสามารถเป็นแรงผลักดันให้เราออกไปพบปะผู้อื่น เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์การโหยหาอดีตร่วมได้ อย่างไรก็ตาม นั่นอาจต้องมีการวิจัยเพิ่มเติมในประเด็นนี้
- การนึกถึงอดีตสามารถทำหน้าที่เป็นเครื่องเตือนใจในความรู้สึกบางอย่างที่พาเราไปข้างหน้า ซึ่งตัวอย่างที่ผู้วิจัยยกขึ้นมาคือ การจำได้ว่าความรู้สึกของความอ่อนเยาว์ หรือการเคยเป็นที่รักเป็นยังไง นั่นทำให้เรามุ่งไขว่คว้ามันผ่านการกระทำ เช่น การดูแลตัวเอง หรือการสร้างความสัมพันธ์ได้
เมื่อมองเช่นนั้นแล้ว การโหยหาอดีตอาจไม่ใช่การจมอยู่กับอดีต แต่คือการมองอดีตเพื่อพัฒนาปัจจุบันและอนาคต และการโหยหาอดีตนั้นสามารถเป็นระดับส่วนตัวก็ได้ หรืออาจจะเป็นระดับสังคมที่เราหลายๆ คนมองเห็นว่า บางอย่างในอดีตดีกว่าที่เป็นในปัจจุบัน อาจเป็นเหตุให้เกิดแรงกระเพื่อมที่แรงกล้าสำหรับอนาคตก็เป็นได้
ลองสังเกตตัวเองดูว่าเรานึกถึงอดีตมากกว่าที่เราเคยหรือเปล่า? ตอนเด็กเรามองไปยังความน่าตื่นเต้นของอนาคตเสมอ แต่ทำไมยิ่งโตขึ้น เรากลับไขว่คว้าทุกสิ่งที่ทำให้เรานึกถึงวันที่เราเป็นเด็กน้อย? นั่นอาจเป็นธรรมชาติของช่วงวัย และวิธีการที่คนแต่ละช่วงวัยจดจำสิ่งต่างๆ ก็ได้ ทว่าเราจะโหยหาอดีตได้ เราต้องมีอดีตเสียก่อนจริงไหม?
ในบทความ Making Memories Matters, Even if Your Baby Won’t Remember Them โดยแคทเทอรีน เบลล์ (Catherine Bell) ที่ตีพิมพ์บนเว็บไซต์สำหรับการเลี้ยงลูก Parents ผู้เขียนเล่าว่าความทรงจำแรกของเด็กเล็กเริ่มต้นที่ 3 ขวบ และความทรงจำเหล่านั้นจะถูกลืมอย่างรวดเร็วในวัย 7 ขวบ และถัดมาเมื่ออายุ 9-10 ขวบ พวกเขาก็จะลืมไปจนเหลือเพียง 40% ซึ่งคำอธิบายของนักวิชาการคือ ในวัยนั้นความทรงจำของเราทำงานแตกต่างจากความทรงจำเมื่อเราโตขึ้นแล้วเนื่องจากภาษา หากเรายังไม่สามารถเรียนรู้ภาษาได้ เราก็ไม่อาจมีบริบทมากพอจะจดจำ นอกจากผ่านการเก็บอดีตเหล่านั้นของพ่อแม่
เมื่อเราโตขึ้นมาอีกหน่อยในวัยเรียน นี่คือการเริ่มช่วงวัยของความทรงจำที่หนักแน่นที่สุดในชีวิต สำหรับเราหลายๆ คนแม้ช่วงเวลานี้จะผ่านไปนานขนาดไหนก็ยังรู้สึกเหมือนห้วงวัยนี้เพิ่งผ่านไปไม่นานเสมอ เราเรียกปรากฏการณ์ความจำติดทนนี้ว่า Reminiscence Bump ซึ่งจากสถิติคือ มนุษย์จะจดจำช่วงเวลาของตัวเองในอายุ 10-30 ปีได้มากที่สุด โดยเฉพาะในวัย 20 ต้นๆ
นักวิจัยจำนวนมากเชื่อว่า เหตุที่เป็นเช่นนั้นเนื่องจากช่วงวัยดังกล่าวเป็นช่วงชีวิตที่มนุษย์เปิดรับการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ มากที่สุด มิหนำซ้ำยังเป็นช่วงเวลาที่เราได้ทำอะไรเป็นครั้งแรกอยู่เสมอ อย่างที่รู้กันว่าอะไรก็ตามที่เป็นครั้งแรกมักติดตรึงไปกับเรา เมื่อรู้อย่างนี้ก็ไม่แปลกเลยที่เมื่อโตขึ้นไปเราจะยิ่งโหยหาอดีต และนอกจากจะเริ่มมีความทรงจำจริงๆ จังๆ ได้แล้ว วัยที่เพิ่งผ่านมาไม่นานนี้เอง คือวัยที่เราเรียนรู้ที่จะเป็นเราก่อนจะวิวัฒนาการมาจนเป็นผู้ใหญ่ที่มองกลับไปในวันนี้นี่เอง
รู้ตัวอีกทีวัยผู้ใหญ่ก็มาถึง เป็นวัยที่ชีวิตของเรานำไปสู่สถานการณ์ซึ่งเอื้อแก่การโหยหาอดีตอย่างเลี่ยงไม่ได้อยู่บ่อยๆ เราอาจย้ายออกไปอยู่นอกบ้านคนเดียวเพราะการเรียนหรือการทำงาน เราโดดเดี่ยวขึ้น มีเรื่องที่ต้องจัดการมากขึ้น ระยะห่างของเราจากอดีตและสถานที่ที่เราเรียกว่าบ้านเพิ่มพูน บวกกับความเป็นไปได้ที่เราจะโหยหาอดีตเมื่อเรารู้สึกเศร้า นอกจากนั้นการเติบโตยังเป็นการมองไปข้างหน้าอย่างต่อเนื่องอย่างที่เราเล่าไปแล้ว และนั่นทำให้เรามองย้อนกลับไปยังอดีตอยู่บ่อยๆ ด้วยพร้อมกัน
การโหยหาอดีตจึงไม่ใช่เพียงการจดจำ แต่มันคือการพัวพันกันอย่างยุ่งเหยิงของความรู้สึกแง่บวกและลบ ความทรงจำที่หวานปนขม การย้อนกลับและไปข้างหน้า และการรู้สึกโหยหาอดีตที่เกิดจากการพลัดพรากและจากลา ความรู้สึกเช่นนั้นนำมาได้ทั้งความอบอุ่นข้างใน และความว่างโหวงที่รู้ว่าเราจะไม่ได้กลับไปยืนในจุดนั้นอีก
บางทีสิ่งที่เราทำได้คือ การทำปัจจุบันให้เป็นอดีตที่ดี เผื่อเราในอนาคตจะมองกลับมาด้วยความโหยหาก็ได้
อ้างอิงจาก