ภาพที่สร้างขึ้นโดย AI (AI-generated) กำลังเป็นที่พูดถึงอีกครั้ง เมื่อผู้ประกอบการหลายแห่งในไทยกำลังใช้ภาพที่สร้างขึ้นโดย AI ในการโปรโมตอีเวนต์ต่างๆ ซึ่งยังรวมไปถึงคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นที่ใช้ AI ประมวลผลภาพคน และสถานที่ต่างๆ จนออกมาคล้ายกับภาพวาดอีกเช่นกัน
เรื่องราวดังกล่าว ได้จุดประเด็นถกเถียงเรื่องการใช้ภาพและการสร้างภาพจาก AI กันอีกครั้ง ในวันนี้ (18 สิงหาคม) The MATTER จึงอยากชวนไปดูตัวอย่างข้อถกเถียงที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ ว่าทำไมนักวาดหลายๆ คนถึงไม่เห็นด้วยกับการใช้ภาพที่สร้างขึ้นจาก AI?
ต้องเล่าก่อนว่า ภาพที่ AI สร้างขึ้นในที่นี้ ไม่ได้หมายความว่า AI จะสามารถคิดแล้ววาดภาพออกมาได้เอง แต่ AI ก็ต้องอาศัยแหล่งข้อมูลเพื่อใช้ในการศึกษาและอ้างอิง ซึ่งแหล่งข้อมูลตรงนั้นก็คงหนีไม่พ้นภาพวาดของศิลปินมนุษย์ตัวเป็นๆ ที่เผยแพร่อยู่แล้วบนโลกอินเทอร์เน็ต
เกร็ก รัทคาวสกี้ (Greg Rutkowski) ศิลปินที่มีสไตล์โดดเด่น เป็นที่รู้จักในจากการสร้างฉากแฟนตาซีของมังกรและฉากมหากาพย์การต่อสู้ ในเกม Dungeons และ Dragons ก็ออกมาเล่าว่า โดยปกติ เป็นเรื่องยากมากที่จะพบเห็นงานสไตล์ของเขาได้ตามอินเทอร์เน็ต แต่นั่นก็คือก่อนที่ AI จะเข้ามา เพราะถ้าลองเสิร์ชชื่อของเขาบน X (ทวิตเตอร์) ก็จะพบเห็นงานในสไตล์ของเขา ทั้งๆ ที่เขาไม่ใช่คนรังสรรค์ผลงานนั้น และชื่อของเขาก็ถูกนำไปใช้ในให้ AI สร้างภาพไปกว่า 93,000 ครั้งแล้ว
รัทคาวสกี้ ยังกล่าวอีกว่า “ผมรู้สึกเหมือนมีบางอย่างที่ไม่สามารถควบคุมได้เกิดขึ้น ชื่อของผมและศิลปินคนอื่นๆ ถูกใช้ไปกับการสร้างภาพ AI” และอีกหนึ่งข้อกังวลของเขาก็คือ ผู้คนกำลังแสร้งว่าเป็นเป็นตัวเขา ซึ่งนั่นก็ดูเหมือนจะไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้องเท่าไรนัก
“บางทีตัวคุณและสไตล์ของคุณจะถูกผลักไสออกจากอุตสาหกรรม [ศิลปะ] เพราะจะมีงานศิลปะมากมายในสไตล์นั้น ซึ่งก็จะทำให้คุณไม่ได้น่าสนใจอีกต่อไป” รัทคาวสกี้กล่าว
เมื่อ AI จำเป็นต้องใช้ฐานข้อมูลจำนวนมากในการอ้างอิงเพื่อสร้างผลงานชิ้นหนึ่งออกมาแล้ว นั่นก็หมายความว่า เจ้าของผลงานที่ AI นำไปใช้อ้างอิงก็อาจไม่ได้ยินยอมให้มีการใช้ผลงานดังกล่าวให้ AI ไปเรียนรู้ หรือให้ AI นำผลงานนั้นไปใช้
แฮร์รี่ วูดเกต (Harry Woodgate) นักเขียนและนักวาดภาพประกอบของ Grandad’s Camper ซึ่งได้รับรางวัลหนังสือภาพ Waterstones 2022 กล่าวว่า โปรแกรมเหล่านั้น อาศัยภาพที่มีลิขสิทธิ์ของศิลปิน ช่างภาพ นักวาดภาพประกอบ และผลงานศิลปะจากศิลปินผู้ที่ครองลิขสิทธิ์อื่นๆ อีกนับไม่ถ้วน
เช่นเดียวกับ อานูชา ไซอิด (Anoosha Syed) นักวาดภาพประกอบที่ระบุว่า “AI ไม่ได้เสพศิลปะแล้วสร้างผลงานศิลปะของตัวเอง มันแค่สุ่มตัวอย่างจากผลงาน [ของนักวาด] ทุกคน แล้วก็เอางานมาเทรวมกันเท่านั้น”
ปัญหาดังกล่าวนี้ ก็ทำให้เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ศิลปินในสหรัฐฯ รวมตัวออกมาต่อสู้ในประเด็นทางกฎหมายกับบริษัทผู้สร้าง AI โดยระบุว่านั่นเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ (Digital Millennium Copyright Act) เพราะศิลปินไม่เคยให้ความยินยอม หรือได้รับการชดเชยเลย อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคมที่ผ่านมา Reuters ก็รายงานว่า ศาล ‘มีแนวโน้ม’ ที่จะยกฟ้องคดีดังกล่าว โดยระบุว่าศิลปินที่ฟ้องต้องแสดง ‘ข้อเท็จจริง’ เกี่ยวกับเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์มากกว่านี้
แม้ศาลจะมีแนวโน้มยกฟ้อง แต่ศิลปินหลายคนก็ยังคงมีการรณรงค์ต่อต้านการใช้ภาพจาก AI อีกทั้งในอาชีพอื่นๆ อย่างนักเขียน ก็ยังคงเรียกร้องให้มีกฎหมายคุ้มครองผลงานของเขา ไม่ให้ถูกใช้เพื่อเป็นแหล่งศึกษาให้กับ AI อีกเช่นกัน
กลับมาที่ประเด็นเรื่องการใช้ภาพจาก AI ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยครั้งนี้ ก็มีศิลปินคนหนึ่งแชร์เรื่องราวของเขาบน X (ทวิตเตอร์) ว่า ล่าสุด AI ก็สามารถวาดรูปแบบเดียวกับเขาได้แล้ว โดยเขารู้เพราะมีเพื่อนที่ลองใช้โปรแกรม AI ซึ่งผลก็ออกมาเหมือนกับภาพของเขาจนน่าตกใจ พอเขาลองส่งภาพที่ AI สร้างไปให้เพื่อนหลายๆ คนดู หลายคนก็คิดว่าเขาวาดเอง “นักวาดสิ้นแล้ว”
รวมไปถึงนักวาดอีกหนึ่งคน ที่ออกมาชี้ให้เห็นปัญหาของการใช้ AI ว่า เมื่อมีศิลปินที่วาดด้วยลายเส้นดังกล่าว ตอนนี้ก็กลายเป็นว่าโดนสงสัยว่าใช้ AI สร้างผลงานหรือเปล่า
นอกจากนี้ ก็ยังมีผู้ที่กังวลว่าต่อไปนักวาดมนุษย์อาจถูกกดราคาหรือไม่มีคนจ้าง เพราะการใช้ AI นั้นถูกกว่า และรวดเร็วกว่า และแม้ว่างานจาก AI อาจจะไม่ได้ออกมาสมบูรณ์เหมือนกับที่คนวาด (เช่นบางภาพก็เบี้ยว ตัวหายไป หรือนิ้วเกิน) หรือแม้จะยังมีข้อถกเถียงในเรื่องลิขสิทธิ์และเรื่องการคัดลอดผลงาน แต่เขาก็มองว่าบริษัทหลายๆ แห่งก็อาจจะไม่ได้สนใจประเด็นนี้มากนัก
อ้างอิงจาก