จะเป็นอย่างไร หากงานเขียนที่ผลิตโดย AI ได้รับรางวัลในการประกวดวรรณกรรม?
เรื่องราวต่อไปนี้เกิดขึ้นในประเทศจีน เมื่อ เฉินหยาง ศาสตราจารย์ด้านวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน ในมหาวิทยาลัยชิงหัวของจีนใช้ AI ผลิตงานเขียนนิยายแนวไซไฟเรื่อง ‘Land of Memories’ แล้วได้ที่ 2 ในการประกวดนิยายเยาวชนเจียงซู (Jiangsu Youth Popular Science Fiction)
นิยายเรื่อง Land of Memories เริ่มต้นโดยการเล่าถึงดินแดนแห่งความทรงจำที่ตั้งอยู่บริเวณขอบของเมต้าเวิร์ส รายล้อมไปด้วยภาพลวงตาที่แข็งแกร่งสร้างขึ้นโดยหุ่นยนต์ความจำเสื่อมและ AI ที่สูญเสียความทรงจำที่เข้ามาตั้งถิ่นฐาน
ในอาณาจักรแห่งนี้ เป็นสถานที่ต้องห้ามของเหล่ามนุษย์ ไม่ว่าใครก็ตามที่บุกรุกเข้าไป ความทรงจำทั้งหมดจะถูกลบเลือน และจะยังถูกกักขังอยู่ ณ สถานที่แห่งนี้ตลอดไป
การผจญภัยในเรื่องเกิดขึ้นเมื่อ หลี่เซี่ยว วิศวกรด้านประสาท (neural engineer) ในโลกแห่งความเป็นจริง สูญเสียความทรงจำทั้งหมดเกี่ยวกับครอบครัวไปโดยบังเอิญในระหว่างการทดลอง ทำให้เธอก็เริ่มสนใจตำนานของดินแดนแห่งความทรงจำ ด้วยหวังว่า ณ สถานที่แห่งนั้น จะสามารถเรียกคืนความทรงจำของเธอได้
เรื่อง Land of Memories นี้ถูกส่งไปประกวดในการแข่งขันที่จัดขึ้นโดยสมาคมนักเขียนวิทยาศาสตร์เจียงซู และได้รับการโหวตจากกรรมการ 3 ใน 6 โดยในกรรมการทั้งหมด มีเพียงแค่ 1 คนเท่านั้นที่รู้ว่าเฉินหยางใช้ AI สร้างนิยายขึ้นมา ซึ่งกรรมการคนดังกล่าวไม่ได้ลงคะแนนให้นิยายเรื่องนี้ ด้วยเหตุผลว่ามันไม่ได้มาตรฐานและยังขาดอารมณ์-ความรู้สึกอีกเช่นกัน
เฉินหยางระบุ AI จัดการทุกอย่าง ตั้งแต่เนื้อหา นามปากกา ชื่อเรื่อง ข้อความ ไปจนถึงภาพประกอบ พร้อมกล่าวว่า “นี่เป็นครั้งแรกในหน้าประวัติศาสตร์ของ AI และวรรณกรรม ที่งานเขียนของ AI ได้รับรางวัลในด้านวรรณกรรม”
เฉินหยางยังกล่าวเพิ่มเติมว่า เขาจะนำเสนอวิธีการผลิต และกระบวนการทั้งหมดสู่สาธารณชน เพื่อให้ทุกคนสามารถเรียนรู้ที่จะใช้ AI สร้างนิยายที่ดีได้
อย่างไรก็ดี ฝูรูชู ผู้อำนวยการกองบรรณาธิการของ People’s Literature Publishing House ตั้งข้อสังเกตว่าเป็นเรื่องยากที่จะรับรู้ได้ว่างานของเฉินหยางนั้นผลิตโดย AI เพราะนักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์มักจะให้ความสำคัญกับความคิดสร้างสรรค์และการบรรยายฉากต่างๆ มากกว่าเรื่องของอารมณ์อยู่แล้ว
ฝูรูชูกล่าวว่า AI อาจเป็นภัยคุกคามต่อนักเขียนแนวระทึกขวัญและวิทยาศาสตร์ พร้อมเตือนด้วยว่า AI อาจสร้างความเสียหายที่ไม่สามารถย้อนกลับได้ในเรื่องของภาษาในวรรณกรรม
ทั้งนี้ ประเด็นการใช้ AI สร้างผลงานไม่ว่าจะเป็นงานจิตรกรรม งานวรรณกรรม ฯลฯ เป็นที่ถกเถียงในสังคมอย่างต่อเนื่อง โดยมีคนที่กังวลว่าวันหนึ่ง AI อาจเข้ามาแทนที่มนุษย์ จนท้ายที่สุด ศิลปินจะถูกกดราคา หรือไม่มีคนจ้างงาน เพราะการใช้ AI นั้นถูกกว่า และรวดเร็วกว่า
นอกจากนี้ อีกหนึ่งประเด็นสำคัญหลายคนกังวลคือเรื่องของลิขสิทธิ์ เนื่องจากเคยมีศิลปิน ไม่ว่าจะนักเขียน นักวาด ฯลฯ ที่เคยออกมาให้ข้อมูลว่างานของพวกเขา ถูกนำไปใช้เพื่อเทรนAI โดยไม่ได้รับอนุญาต และยังมีบางครั้งที่พบว่า AI ก็อปปี้งานของพวกเขาอีกเช่นกัน
อ้างอิงจาก