วันนี้ (13 กันยายน) ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า ศาลอุทธรณ์พิพากษา ‘สมบัติ ทองย้อย’ อดีตการ์ด นปช. กรณีโพสต์ “กล้ามาก เก่งมาก ขอบใจนะ” พร้อมกับอีก 2 ข้อความ โดยพิพากษาให้จำคุก 4 ปี ไม่รอลงอาญา ในขณะนี้อยู่ในระหว่างยื่นประกันตัวในระหว่างฎีกา
ศาลระบุว่าอุทธรณ์ของสมบัติฟังไม่ขึ้น แต่พยานหลักฐานของโจทก์และพยานโจทก์เบิกความสอดคล้องกัน รวมถึงสมบัติเป็นผู้ติดตามการเมืองอยู่แล้วย่อมพิมพ์ข้อความโดยรู้ที่มาที่ไปของคำ
ข้อความส่วนที่ระบุว่า “#กล้ามาก #เก่งมาก #ขอบใจนะ” สมบัติโพสต์เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2563 ประกอบกับภาพบันทึกหน้าจอโทรศัพท์เป็นข่าวจากเว็บไซต์มติชนเรื่องบัณฑิตมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 1 คณะ ไม่เข้ารับปริญญาทั้งคณะ
ก่อนหน้านี้ ศาลชั้นต้นเห็นว่า “เก่งมาก กล้ามาก ขอบใจ” มีลักษณะเป็นการกล่าวชื่นชมและขอบใจ ไม่ได้ส่อไปในทางใส่ความให้บุคคลเสียชื่อเสียง แต่จากที่สมบัติโพสต์ข้อความนี้ เขามีเจตนากล่าวถึงรัชกาลที่ 10 เป็นการกระทําในบริบทที่มีข่าวว่าบัณฑิตมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะไม่เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรทั้งคณะ ซึ่งการเข้ารับปริญญาและรับพระบรมราโชวาทจากกษัตริย์โดยตรงนั้น เป็นที่ยอมรับกันในสังคมไทยตลอดมาว่า ถือเป็นเกียรติและเป็นสิริมงคลแก่ผู้ที่เข้ารับพระราชทานและครอบครัวของผู้นั้น การที่มีข่าวว่าบัณฑิตทั้งคณะจะไม่เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร ย่อมทําให้บุคคลทั่วไปเข้าใจได้ว่าเป็นพฤติกรรมอันมีลักษณะเป็น “การต่อต้านพระมหากษัตริย์”
ทั้งศาลชั้นต้นยังระบุอีกว่า จากเหตุการณ์ที่บัณฑิตไม่เข้ารับปริญญานี้ ก็ไม่ได้เป็นการกระทำสิ่งใดให้ต้องขอบใจ แต่เป็นการจงใจล้อเลียนและเสียดสี เพื่อแสดงออกถึงความรู้สึกพอใจกับข่าวอันมีลักษณะเป็นการต่อต้านพระมหากษัตริย์
ศาลชั้นต้นเห็นว่า การกระทำของจำเลยถือว่าเป็นสิ่งที่ไม่บังควร มีลักษณะเป็นการจาบจ้วง และชี้ให้เห็นถึงเจตนาของจําเลยที่ต้องการจะดูถูก ด้อยค่าพระมหากษัตริย์ อันเข้าลักษณะเป็นการดูหมิ่นแล้ว และเห็นว่าผิดตามฟ้องในความผิดฐานดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3)
ส่วนอีก 2 ข้อความ ที่มีการกล่าวถึงการทำตัวใกล้ชิดประชาชนและการแจกลายเซ็น ซึ่งโพสต์เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2563 สมบัติโพสต์ว่า “เขาให้ลดงบประมาณที่เอาไปใช้จ่าย ไม่ใช่ลดตัวลงมาใกล้ชิดประชาชน เข้าใจอะไรผิดไหม เรื่องการลดตัวลงมาแนบสนิทชิดใกล้ประชาชนแบบที่เห็น แสดงให้เห็นว่ารู้ตัวสินะว่าคนเขาไม่เอา เลยต้องลงมาทําขนาดนี้ ถ้าจริงใจต้องทํามานานแล้ว ไม่ใช่เพิ่งมาทําเพื่อเรียกคะแนนนิยมกลับคืนมา แต่น่าจะช้าไปแล้วจริงๆ ละครหลังข่าวชัดๆ” และ “มีแจกลายเซ็นต์ด้วยเซเลปชัดๆ”
เมื่อศาลชั้นต้นพิจารณาข้อความดังกล่าวแล้ว แสดงให้เห็นถึงเจตนาของสมบัติที่ต้องการสื่อให้บุคคลทั่วไปเข้าใจว่า สถาบันพระมหากษัตริย์ใช้งบประมาณแผ่นดินที่มากเกินความจําเป็น ประชาชนไม่ต้องการแล้ว จึงเสแสร้งทําตัวใกล้ชิดกับประชาชนเพื่อเรียกคะแนนนิยมกลับคืนมา ไม่ได้ทําด้วยความจริงใจ และเปรียบเทียบการที่กษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยในพระบรมฉายาลักษณ์พระราชทานแก่ประชาชนเป็นดาราที่แจกลายเซ็นต์ ซึ่งเป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริง
การโพสต์ข้อความดังกล่าว ศาลชั้นต้นจึงเห็นว่าไม่ใช่การติชมด้วยความเป็นธรรม อันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทํา แต่เป็นการใส่ความพระมหากษัตริย์ต่อบุคคลที่สาม ด้วยข้อความอันเป็นเท็จ เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทและดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และเป็นการนําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ และข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (1) (3)
อ้างอิงจาก