วันนี้ (20 กันยายน) ศาลฎีกามีคำตัดสินให้ พรรณิการ์ วานิช อดีต สส.พรรคอนาคตใหม่ ฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมฯ โพสต์ข้อความพาดพิงสถาบันฯ ให้ถอนสิทธิ์รับสมัครเลือกตั้งตลอดไป ไม่มีสิทธิ์ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
ประเด็นดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากที่ ศรีสุวรรณ จรรยายื่นหนังสือต่อ ป.ป.ช.ให้ตรวจสอบพรรณิการ์ กรณีที่โพสต์ข้อความและรูปภาพในเฟซบุ๊กส่วนตัว ที่อาจทำให้ประชาชนเข้าใจในทางที่เชื่อมโยงกับเรื่องของสถาบันกษัตริย์อย่างมิบังควร
ต่อมา ป.ป.ช.ก็มีมติเอกฉันท์เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565 ชี้ว่าพรรณิการ์ผิดจริยธรรมร้ายแรง ตามมาตรฐานจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ พ.ศ. 2561 ที่บังคับใช้กับ สส. กรณีโพสต์ภาพและข้อความจำนวนมากในเฟซบุ๊กที่ทำให้ประชาชนเข้าใจไปในทางที่อาจเชื่อมโยงกับเรื่องของสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างมิบังควร
กระทั่งล่าสุดในวันนี้ ศาลฎีกาก็ได้นัดฟังคำพิพากษาคดีดังกล่าวที่ ป.ป.ช.เป็นผู้ร้อง ยื่นขอให้วินิจฉัยประเด็นที่ พรรณิการ์ ฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมฯ ซึ่งศาลก็มีคำพิพากษาว่าพรรณิการ์ ฝ่าฝืนจริยธรรมร้ายแรงตามกฎหมาย ให้ถอนสิทธิ์รับสมัครเลือกตั้งตลอดไป ไม่มีสิทธิ์ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
-คำพิพากษาศาล
พรรณิการ์โพสต์ภาพถ่ายและข้อความในลักษณะเป็นการกระทำอันมิบังควรต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ลงเฟซบุ๊ก และต่อมาเธอก็ได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่ง สส. ซึ่งภาพถ่ายและข้อความดังกล่าวยังคงปรากฏอยู่ในเฟซบุ๊กของเธอ โดยที่บุคคลทั่วไปสามารถเข้าไปดูได้
ทั้งนี้ การที่พรรณิการ์ไม่ได้ลบภาพและข้อความดังกล่าวออก เป็นการแสดงออกถึงการไม่เคารพและเทิดทูนต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ “อันเป็นการไม่ยึดมั่นและธำรงไว้ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเป็นการไม่พิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ ขอให้พิพากษาว่า ผู้คัดค้าน [พรรณิการ์] ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง กับเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งและเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้คัดค้าน มีกำหนดเวลาไม่เกินสิบปี”
ทางด้านพรรณิการ์ระบุว่า การกระทำของตน เกิดขึ้นก่อนที่จะมีบทกฎหมายและมาตรฐานทางจริยธรรม จึงไม่อาจใช้บังคับย้อนหลังเอาได้ และบทกฎหมายดังกล่าวมุ่งหมายใช้บังคับแก่บุคคลที่ยังดำรงตำแหน่งอยู่ในขณะถูกร้องและดำเนินคดี แต่เธอพ้นจากตำแหน่ง สส.แล้ว ป.ป.ช.จึงไม่มีอำนาจไต่สวนและยื่นคำร้องต่อศาล
อีกทั้ง ขณะที่พรรณิการ์ดำรงตำแหน่ง สส. ก็มิได้กระทำการใดอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรม ส่วนการที่ยังคงมีภาพถ่ายและข้อความตามคำร้องปรากฎอยู่ไม่ถือเป็นการกระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรม ขอให้ยกคำร้อง
อย่างไรก็ดี ศาลฎีกาพิพากษาว่า ในตอนที่ ป.ป.ช.ได้รับคำร้องที่กล่าวหาพรรณิการ์ ขณะนั้น กฎหมายมีผลใช้บังคับแล้ว และในตอนนั้น เธอก็ดำรงตำแหน่ง สส.แล้ว
แม้ต่อมาพรรณิการ์จะพ้นจากตำแหน่งแล้ว ป.ป.ช.ก็ยังคงมีอำนาจไต่สวนและยื่นคำร้องคดีนี้ได้ ตามรัฐธรรมนูญที่วางหลักว่าประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และบุคคลมีหน้าที่พิทักษ์รักษาไว้ซึ่งชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รวมถึงพ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
นอกจากนี้ พรรณิการ์ยังมีเชื้อชาติและสัญชาติไทย ที่ยังดำรงตำแหน่ง สส.ก็ต้อง “ยึดถือปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมเพื่อรักษาเกียรติศักดิ์ของการดำรงตำแหน่งและความเชื่อถือศรัทธาของประชาชน ย่อมต้องระมัดระวังในการใช้สื่อสังคมออนไลน์มิให้มีภาพถ่ายหรือข้อความพาดพิงหรือแสดงออกต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ในทางที่ไม่เหมาะสมหรือมิบังควร เนื่องจากพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของประเทศ เป็นมิ่งขวัญและศูนย์รวมความสามัคคีของปวงชนชาวไทย”
เมื่อพิจารณาโพสต์ดังกล่าวแล้ว ก็เห็นได้ว่า เธอมีเจตนาพาดพิงถึงในหลวงรัชกาลที่ 9 และการโพสต์ข้อความพาดพิงถึงสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ (พระนามในขณะนั้น) “เป็นการแสดงออกต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ในทางที่ไม่เหมาะสมหรือมิบังควรอย่างยิ่ง” เพราะเป็นการไม่เคารพในหน้าที่ของปวงชนชาวไทยที่ต้องพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ แสดงให้เห็นถึงทัศนคติของเธอที่มีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา
ศาลจึงมองว่า พฤติการณ์ของพรรณิการ์เป็นการแสดงออกถึงการไม่เคารพและเทิดทูนต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ที่ต้องพิทักษ์รักษาไว้ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักไทย การที่เธอไม่ลบหรือนำภาพถ่ายและข้อความดังกล่าวทั้งหมดออกจากระบบคอมพิวเตอร์ทั้งที่สามารถกระทำได้ ถือเป็นการงดเว้นการที่จักต้องกระทำเพื่อป้องกันผลนั้นด้วย
การกระทำของพรรณิการ์จึงเป็นการผ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ตามรัฐธรรมนูญ ประกอบ พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต และมาตรฐานทางจริยธรรมฯ
“ให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้คัดค้าน [พรรณิการ์] ตลอดไป รวมถึงไม่มีสิทธิดำรงตำแหน่งทางการเมืองใดๆ ตามรัฐธรรมนูญ…แต่ยังฟังไม่ได้ว่าเป็นการไม่ยึดมั่นและธำรงไว้ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามมาตรฐานทางจริยธรรมฯ ข้อ 5 จึงยังไม่เห็นสมควรเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้คัดค้าน”
สรุปว่าพรรณการ์ยังคงมีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง แต่ไม่สามารถลงสมัครเพื่อรับเลือกตั้งได้แล้ว
อ้างอิงจาก