หลังจากเหตุการณ์ยิงที่ห้างพารากอนเมื่อวันที่ 3 ตุลาคมที่ผ่านมา ผู้คนมากมายก็พยายามหาคำตอบเกี่ยวกับแรงจูงใจของผู้ก่อเหตุ อย่างไรก็ตาม มีบางคนมองว่า สาเหตุมาจากแรงกดดันเรื่องการเรียนจากครอบครัวหรือเปล่า เพราะมีข้อมูลบางส่วนชี้ว่า ผู้ปกครองให้ผู้ก่อเหตุเริ่มเรียนพิเศษตั้งแต่อนุบาล
ดังนั้น The MATTER จึงชวนทุกคนมาดูว่าเหตุใดเด็กไทยถึงเริ่มเรียนพิเศษตั้งแต่ยังเล็ก และผลกระทบที่เด็กเหล่านี้จะต้องแบกรับมีอะไรบ้าง
ขอเริ่มก่อนว่า เมื่อหลายปีก่อน ธุรกิจสถาบันกวดวิชาเติบโตขึ้นเรื่อยๆ โดยข้อมูลล่าสุดเมื่อปี 2560 ระบุว่า มีจำนวนเจ้าของธุรกิจดังกล่าวส่งงบการเงินถึง 265 ราย มีรายได้รวม 2,691 ล้านบาท
ทว่าในปัจจุบันธุรกิจนี้เริ่มซบเซา เนื่องจากอัตราการเกิดของประชากรที่ลดน้อยลง และสภาวะเศรษฐกิจที่แย่ลง ทำให้เด็กจำเป็นต้องเลือกเรียนวิชาที่ตัวคิดว่าไม่ถนัดจริงๆ
อย่างไรก็ดี ปัจจุบันผู้ปกครองส่วนใหญ่ก็ยังให้ความสำคัญต่อการเรียนพิเศษอยู่ดี ด้วยหลายๆ ปัจจัย อาทิ โรงเรียนไม่ตอบโจทย์กับเด็กมากพอที่จะช่วยให้พวกเขาสอบเข้าโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงได้ ทำให้ยังมีเด็กหลายคนยังถูกส่งให้เรียนพิเศษอยู่ดี
แต่สิ่งที่น่าตกใจคือ ในปัจจุบันมีผู้ปกครองหลายคนเริ่มให้ลูกเรียนพิเศษตั้งแต่ยังเรียนอนุบาล เพื่อการสอบเข้าโรงเรียนมีชื่อเสียงตั้งแต่เนิ่นๆ เช่น โรงเรียนสาธิตฯ ต่างๆ
“แม่ทำเพื่ออนาคตของเขา ถ้าเขาสอบเข้าสาธิตฯ ได้ ก็จะสอบเข้ามหาวิทยาลัยดีๆได้ แล้วเขาก็จะมีงานดีๆ ทำ” แม่คนหนึ่งระบุ
อย่างไรก็ตาม มีผู้เชี่ยวชาญออกมาชี้ถึงผลกระทบที่เด็กจะได้รับ ถ้าเริ่มติวเข้มตั้งแต่ยังเด็กมากๆ โดยเพจ ‘เข็นเด็กขึ้นภูเขา’ ระบุว่า เด็กเล็กช่วงวัยอนุบาล (3-6 ปี) ควรถูกพัฒนาด้านความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ การรับรู้ประสาทสัมผัส การได้ยิน มองเห็น อารมณ์ และทักษะสังคมด้วยการวิ่งเล่น ร้องเพลง ฟังนิทาน วาดรูป หรือแม้แต่ชวนให้เด็กทำงานบ้านนิดๆ หน่อยๆ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่จำเป็นต่อพัฒนาการเด็กในช่วงวัยนี้เป็นอย่างมาก
“ถ้าเด็กในวัยนี้ขาดสิ่งเหล่านี้ไป เพราะถูกผู้ปกครองกำกับให้เรียนอย่างเดียว เด็กอาจจะเติบโตไปโดยมีร่างกายที่ไม่แข็งแรง และที่สำคัญจะขาดทักษะที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิต เช่น วิธีการจัดการอารมณ์ ทักษะการอยู่ร่วมกับคนอื่น เพราะเด็กเหล่านี้มักจะโตมาพร้อมกับความเครียดและความกดดัน จนในท้ายที่สุดพวกเขาจะมีภาวะวิตกกังวลหรือซึมเศร้า
อ้างอิงจาก