“ผมไม่ประสงค์จะใช้ความคุ้มครองใดๆ แต่การพิจารณาต้องเป็นไปตามมติของวุฒิสภา”
วันนี้ (9 ตุลาคม) ที่ประชุมวุฒิสภามีมติ 174:7 ไม่ส่งตัว อุปกิต ปาจรียางกูร สว.ไปดำเนินคดีอาญาระหว่างสมัยประชุม ในความผิดฐานสมคบโดยตกลงกันตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติดในลักษณะองค์กรอาชญากรรมและสนับสนุนความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติด
อุปกิต ชี้แจงต่อที่ประชุม ยืนยันว่าเขาบริสุทธิ์ พร้อมระบุว่าก่อนที่จะเข้ารับตำแหน่ง สว. ในปี 2562 เขาไม่มีข้อเกี่ยวข้องใดๆ กับบริษัทอัลลัวร์ กรุ๊ป ส่วนกรณีที่ถูกฟ้องร้องคดีนั้นเป็นการด่วนสรุป เรื่องโอนเงินชำระค่าไฟตามบิลของ กฟภ. มูลค่าที่มาจากบัญชีที่ไม่ดีเป็นเพียง 2–3% ของมูลค่าการซื้อขายไฟ ทั้งที่ในช่วงที่ตนเป็นตัวแทนซื้อขายไฟฟ้าระหว่างไทย-เมียนมาร์ ซึ่งผ่านมาเกือบ 15 ปี ไม่เคยมีปัญหาแม้แต่ครั้งเดียว
แต่ อุปกิตก็ระบุว่า เกิดปัญหาขึ้นในปี 2563–2565 ที่ด่านปิดจากสถานการณ์ COVID-19 กรณีที่ทุน มิน ลัต นักธุรกิจเมียนมาร์เข้ามาทำธุรกิจไฟฟ้าต่อจากตน เพราะช่วงที่ชายแดนไทย–เมียนมาร์ ปิด จำเป็น ต้องชำระเงินผ่าน Money changer (MC) เป็นวิธีเดียวที่สามารถโอนเงินตามปกติของการค้าชายแดน
อุปกิตระบุว่า ต่อมา ทุน มิน ลัต ก็เอาเงินไปให้ MC ฝั่งเมียนมาร์ โดยที่เงินไม่ได้รับการโอนมาจริงๆ และ MC คนดังกล่าวหาบัญชีต่างๆ ของบุคคลที่ต้องการรับเงินในฝั่งเมียนมาร์ แล้วสั่งให้โอนเงินต่อไปยังจุดมุ่งหมายของผู้ที่จะโอน โดยกรณีนี้คือโอนไปที่ กฟภ. เมื่อพนักงานสืบสวนนครบาลเห็นเส้นทางการชำระค่าไฟฟ้า ก็กล่าวหาเป็นบัญชียาเสพติด ด่วนสรุปการกระทำความผิดเป็นเพียงเรื่องโอนเงินชำระค่าไฟตามบิลของ กฟภ. มูลค่าที่มาจากบัญชีที่ไม่ดีเป็นเพียง2–3% ของมูลค่าการซื้อขายไฟ
“ผมไม่ประสงค์จะใช้ความคุ้มครองใดๆ แต่การพิจารณาต้องเป็นไปตามมติของวุฒิสภา และต้องการพิทักษ์เกียรติประวัติของตระกูลและครอบครัว ผมแสดงเจตนาพร้อมเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ไม่ต้องรอปิดสมัยประชุมวันที่ 30 ตุลาคมนี้ เพราะไม่ประสงค์ให้ใครเอาไปเป็นประเด็นวิจารณ์วุฒิสภา ผมพร้อมเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ที่ผมยังมีความเชื่อมั่นอยู่ โดยไม่จำเป็นต้องขอความคุ้มครองใดๆ” อุปกิตกล่าว
ในการอภิปรายของ สว. เน้นการอภิปรายเนื้อหาและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา 125 ที่มีเนื้อหา ระบุว่าในระหว่างสมัยประชุม ‘ห้ามจับ คุมขัง หรือ หมายเรียกตัว สส. หรือ สว. ไปสอบสวนฐานะผู้ต้องหาคดีอาญา’ เว้นแต่จะได้รับอนุญาติจากสภาที่ผู้นั้นเป็นสมาชิกหรือเป็นการจับในขณะกระทำความผิด
โดย สว.ที่อภิปราย อาทิ พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์, พล.อ.ต.เฉลิมชัย เครืองาม,จัตุรงค์ เสริมสุข,วิวรรธน์ แสงสุริยะฉัตร ยืนยันไม่เห็นชอบที่จะลงมติให้นำตัวนายอุปกิตไปดำเนินคดีตามที่ ผบ.ตร. ทำหนังสือขออนุญาตต่อที่ประชุมวุฒิสภา เนื่องจากในหลักการของมาตรา 125 มุ่งให้ความคุ้มครองสมาชิกฐานะตัวแทนของประชาชน ซึ่งไม่ใช่เป็นประเด็นเอกสิทธิแม้นายอุปกิตจะขอสละสิทธิความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ
“เมื่อนายอุปกิต ชี้แจงไปแล้ว แต่ไม่ลงรายละเอียด หากพบว่าเป็นการกลั่นแกล้ง ปิดเบือนออกหมายจับ ปิดบังศาล และทำให้ครอบครัว หรือตัวเองเสียหาย สว. จะเป็นเครื่องมือที่ทำให้เกิดความเสียหายหรือไม่…ผมขอให้ตำรวจมาแสดงเหตุผลต่อในที่ประชุม และชี้แจงว่ามีพยานหลักฐานอะไร ผมจะยกมือเป็นคนแรกให้ออกหมายจับ แต่หากเป็นเอกสารเพียงแผ่นเดียว ระบุว่าเกี่ยวพันกับยาเสพติด” วิวรรธน์กล่าว
อ้างอิงจาก
https://www.bangkokbiznews.com/politics/1092795
https://www.matichon.co.th/politics/news_4223117