“ขอให้ผมเริ่มต้นด้วยการกล่าวว่า ประเทศไทยกลับมาแล้วอย่างเต็มที่ ด้วยสถานการณ์ทางการเมืองที่มีเสถียรภาพ” เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ประกาศต่อหน้าผู้นำทางธุรกิจและนักลงทุน บนเวทีในงาน APEC CEO Summit ประจำปี 2023 ที่สหรัฐฯ
“เรากำลังเดินหน้าอย่างเต็มกำลัง นโยบายทางเศรษฐกิจและแรงจูงใจด้านการลงทุนต่างๆ ได้กลายมาเป็นแกนกลางสำคัญ และกำลังถูกนำในปฏิบัติอย่างเต็มที่
“ลำดับความสำคัญของเราอยู่ที่การขยายการเจริญเติบโต ส่งเสริมการแข่งขัน และยกระดับตำแหน่งของเรา ในฐานะปลายทางสำคัญด้านการค้าและการลงทุน เราให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการสร้างและส่งเสริมให้มีสภาพแวดล้อมที่ดึงดูดการลงทุน กระตุ้นให้เกิดนวัตกรรม ในขณะที่สนับสนุนให้เกิดความร่วมมือสำหรับการเจริญเติบโตที่ยั่งยืน
“บนพื้นฐานนี้ ผมต้องบอกว่า ถึงเวลามาลงทุนที่ประเทศไทยแล้ว” เศรษฐาประกาศ
The MATTER ได้ร่วมฟังการกล่าวสปีชของนายกฯ เศรษฐา ถึงในงาน APEC CEO Summit เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน ตามเวลาในสหรัฐฯ ที่ศูนย์การประชุม มอสโคนี เซ็นเตอร์ (Moscone Center) ณ นครซานฟรานซิสโก – และขอสรุปเนื้อหาในครั้งนี้ ซึ่งประกอบไปด้วย 3 หัวข้อหลัก คือ ความยั่งยืน เทคโนโลยีและนวัตกรรม และการค้าการลงทุน
1. ความยั่งยืน (sustainability)
ประเด็นแรกที่เศรษฐาระบุถึง คือ เรื่องของความยั่งยืน “เอเชียแปซิฟิกคือหนึ่งในภูมิภาคที่เปราะบางที่สุดต่อผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” เศรษฐากล่าว เขาจึงเชิญชวนให้ทุกฝ่ายในภูมิภาคทำงานร่วมกันอย่างเด็ดขาด เพื่อสร้าง ‘อนาคตที่ยั่งยืน’ สำหรับประชาชน
สำหรับหนึ่งในแนวทางสู่ความยั่งยืน เศรษฐากล่าวถึงโมเดลเศรษฐกิจ BCG ที่ไทยผลักดัน และได้รับการรับรองในเอกสาร ‘เป้าหมายกรุงเทพฯ’ (Bangkok Goals) ที่ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG และมีการลงนามโดยผู้นำเขตเศรษฐกิจ APEC ในการประชุมที่กรุงเทพฯ เมื่อปีที่ผ่านมา ซึ่งเขาก็กล่าวชื่นชมสหรัฐฯ ด้วยที่ให้ความสำคัญ และนำเป้าหมายกรุงเทพฯ ไปต่อยอดต่อไป
นอกจากนี้ เขายังชื่นชมการประกาศ BCG Pledge โดยสภาธุรกิจเอเปค (ABAC) รวมถึงการจัดงาน Sustainable Future Forum โดยหน่วยงาน National Center for APEC (NCAPEC) ที่มี สีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศ ขึ้นกล่าวปาฐกถา เมื่อวานนี้ (14 พฤศจิกายน) ด้วย
“การดำเนินการเหล่านี้เป็นตัวอย่างที่ดีของความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชนอย่างออกดอกออกผล ที่มี APEC เป็นหัวหอกสำคัญ และเราตั้งหน้าตั้งตารอคอยความก้าวหน้าที่เข้มแข็งยิ่งขึ้นต่อไปในอนาคต” เศรษฐากล่าว
นายกฯ ยังย้ำอีกครั้งบนเวทีนี้ว่า ไทยจะเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (carbon neutrality) ภายในปี 2050 และลดการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ (net zero) ภายในปี 2065
เพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว ไทยจะประกาศออกตราสารหนี้ส่งเสริมความยั่งยืน (Sustainability-linked Bond) เพื่อส่งเสริมการเงินสีเขียว (green finance) และกระตุ้นตลาดตราสารหนี้สีเขียว (Green Bond market) ภายในปีหน้า รวมถึงให้ความสำคัญกับการลดการใช้พลังงานฟอสซิล และลงทุนในพลังงานหมุนเวียน (renewable energy)
“นี่จะทำให้ไทยเป็นฮับสำหรับพลังงานหมุนเวียน มันจะช่วยรับประกันด้วยว่า ทุกบริษัทที่จะมาลงทุนในประเทศไทยในอนาคตสามารถเข้าถึงพลังงานหมุนเวียนได้” เศรษฐาระบุ
อีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญ คือการประกาศผลักดันการพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนตร์ EV
นายกฯ กล่าวว่า เป้าหมายของไทยคือการสร้างซัพพลายเชน EV ที่ครอบคลุมรถยนตร์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนทุกประเทศ รวมถึงจะพัฒนาระบบนิเทศทางธุรกิจเพื่อสนับสนุนบริษัทเหล่านี้ เช่น การสนับสนุนแรงจูงใจด้านการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ อบรมพัฒนาแรงงาน รวมถึงขยายโครงสร้างพื้นฐานในการชาร์จไฟฟ้า
“ประเทศไทยขอเชิญชวนนักลงทุนมสาร่วมกันทำเป้าหมายนี้ให้เป็นจริง” นายกฯ ไทย ประกาศ
2. เทคโนโลยีและนวัตกรรม (technologies and innovation)
“การเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีล้ำยุค เช่น AI เชิงสร้างสรรค์ (generative AI) บล็อกเชน และอินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (Internet of Things) กำลังเปลี่ยนแปลงชีวิตของเราอย่างลึกซึ้ง และนำไปสู่โอกาสใหม่ๆ ที่น่าตื่นเต้น” เศรษฐาระบุในหัวข้อที่สอง
ในแง่นี้ นายกฯ จึงเน้นย้ำว่า เราต้องมีความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนความรู้และเทคโนโลยี โดยเฉพาะสำหรับเขตเศรษฐกิจที่กำลังพัฒนา เพื่อให้เข้าถึงโอกาสต่างๆ ได้ รวมถึงสนับสนุนระบบการศึกษา เพื่อให้ประชาชนมีทักษะที่จำเป็นในยุคดิจิทัลที่พัฒนาอย่างรวดเร็ว
ที่สำคัญ เศรษฐากล่าวถึงโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ของรัฐบาล ซึ่ง “นอกจากจะกระตุ้นเศรษฐกิจแล้ว มันจะยังช่วยวางรากฐานระบบการเงินบนฐานของบล็อกเชนแบบทั่วประเทศอีกด้วย โดยมีวินัยทางการเงินที่เข้มงวด และกระบวนการการลงทุนจากต่างประเทศที่คล่องตัว”
นอกจากนี้ เขายังกล่าวว่า ไทยจะมุ่งมั่นเปลี่ยนผ่านไปสู่การมีรัฐบาลดิจิทัล (digital government) รวมถึงประกาศต้อนรับการลงทุนในอุตสาหกรรมดังกล่าว ด้วยแรงจูงใจทั้งทางภาษีและที่ไม่ใช่ภาษี ที่มีความน่าดึงดูด
“ประเทศไทยเปิดกว้าง พร้อมออกเดินทางในครั้งนี้ และตั้งหน้าตั้งตารอคอยที่จะร่วมมือกับหุ้นส่วน เพื่อทำให้เป้าหมายด้านการทำให้เป็นดิจิทัล (digitalization) ของเราเป็นจริง”
3. การค้าการลงทุน (trade and investment)
ในหัวข้อสุดท้าย เศรษฐากล่าวว่า “APEC มีบทบาทสำคัญในการขยายการค้าการลงทุนภายในภูมิภาค ซึ่งช่วยยกระดับความเป็นอยู่ของคนนับล้าน” เห็นได้จากตัวเลขตลอด 2 ทศวรรษ การค้าทั่ว APEC ได้เพิ่มขึ้นถึง 4 เท่า จาก 7.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ กลายเป็น 27 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
เพื่อต่อยอด เขาจึงเน้นย้ำให้ส่งเสริมการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ (economic integration) ต่อไป โดยเฉพาะการผลักดันให้เกิดเขตการค้าเสรีเอเชีย–แปซิฟิก (Free Trade Area of the Asia-Pacific หรือ FTAAP)
นอกจากนี้ ไทยยังประกาศจะเร่งพัฒนาสถาปัตยกรรมทางการค้า (trade architectures) อื่นๆ ทั้งในระดับทวิภาคีและระดับภูมิภาค ดำเนินการยกระดับเขตการค้าเสรี (FTAs) ให้มีความเชื่อมโยงร่วมกันมากขึ้น และจะดำเนินการต่างๆ เพื่อให้ซัพพลายเชนมีความยืดหยุ่นรองรับความท้าทายต่อไป
สิ่งหนึ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้สำหรับรัฐบาลชุดปัจจุบัน คือ การประกาศว่าไทยจะเดินหน้าเมกะโปรเจ็กต์ ‘แลนด์บริดจ์’ ซึ่งจะเชื่อมระหว่างมหาสมุทรอินเดียกับมหาสมุทรแปซิฟิก “นี่เป็นโปรเจ็กต์ที่สำคัญ ไม่ใช่เฉพาะกับไทย แต่กับโลกด้วย เพราะนี่จะทำให้มีจุดเชื่อมโยงเพิ่มขึ้นมาอีกจุดหนึ่ง ระหว่างตะวันออกกับตะวันตก” เศรษฐาระบุ
พร้อมประกาศว่า วิสัยทัศน์ของรัฐบาล คือ การทำให้ไทยเป็นจุดศูนย์กลางระดับภูมิภาคด้านพาณิชย์และโลจิสติกส์ ภายในทศวรรษนี้
นายกฯ ของไทยกล่าวสรุปว่า “ระหว่างการเดินทางต่างประเทศ ผมให้ความสำคัญในการพบปะกับคู่ค้าทางธุรกิจของเรา ผมยังได้พาทีมผู้นำทางธุรกิจของไทยมา เพื่อสร้างสัมพันธ์และจับคู่ธุรกิจต่อไป ณ ที่นี่ ที่ซานฟรานซิสโกด้วย ผมเชื่อว่า นี่จะเป็นโอกาสที่ดีอย่างยิ่งสำหรับการทำงานร่วมกันที่ลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น”
ก่อนจะปิดท้ายว่า “ขอให้ผมกล่าวกับพวกคุณอีกครั้ง ถึงเวลามาลงทุนในประเทศไทยแล้ว”