“โตไปเดี๋ยวก็เข้าใจเอง” รู้สึกยังไงกับคำคำนี้?
ในวัยเด็กและวัยเรียนที่เราโหยหาความรู้และความเข้าใจในโลกที่เรายืนอยู่ การถามอะไรไปแล้วได้คำตอบกลับมาอย่างนั้นน่าหงุดหงิดไม่น้อย คำถามที่นำมาซึ่งคำตอบรูปแบบนี้ มักมาจากการมองวิธีที่ผู้ใหญ่ใช้ชีวิตของพวกเขา วิธีการใช้ชีวิตที่เราอาจไม่เข้าใจ หรือไม่ตรงตามสิ่งที่เราคิดว่าควรจะเป็นในฐานะเด็กคนหนึ่งที่เติบโตและเรียนรู้เกี่ยวกับชีวิตและคุณค่าอยู่ทุกวัน “เมื่อไหร่ถึงโตพอ?” คงเป็นสิ่งที่หลายๆ คนคิดในใจเมื่อเราพบกับผู้ใหญ่ที่บอกปัดเราไปอย่างนั้น แค่บอกกันมาให้เข้าใจก็จบ วัยจะไปเกี่ยวอะไรกับความเข้าใจกัน?
เรื่องแบบนี้ไม่ได้จบอยู่แค่ตอนเด็ก เมื่อเราโตขึ้นเป็นวัยรุ่น คนที่อายุมากกว่าเราหลายๆ คนก็ทำในสิ่งที่เราเข้าใจไม่ได้เหมือนเดิม อาจจะเป็นหัวหน้าที่ว่ากล่าวลูกน้อง อาจารย์ที่ลำเอียง พ่อที่ไม่คุยกับลูกตัวเองเพราะอีโก้ คนที่ทำงานไปวันๆ ไร้ความฝันและจุดหมาย ฯลฯ เราไม่ถามอีกต่อไปว่าทำไมพวกเขาทำแบบนั้น เรารู้เกี่ยวกับโลกมากพอจะตัดสินพวกเขาด้วยเข็มทิศจริยธรรมของเรา และเสียงกระซิบในหัวใจเราบอกกับตัวเอง ว่าเราจะไม่โตไปเป็นผู้ใหญ่แบบนี้
อย่างไรก็ตาม เมื่อเราเป็นผู้ใหญ่แล้ว เรามองที่ตัวเองแล้วเผลอนึกขึ้นได้ว่าเศษเสี้ยวบางอย่างในเราเริ่มเปลี่ยนแปลงไป เปลี่ยนไปเป็นคนที่เราเคยคิดว่าเราจะไม่เป็นแน่นอน อยู่มาวันหนึ่งความฝันที่ยิ่งใหญ่ของเราก็กลายเป็นฉากหลัง แล้วเราทำงานด้วยความกระเสือกกระสนเพื่อจะมีชีวิตไปจ่ายบิลเดือนถัดไป เราอาจละทิ้งคนรอบตัวของเราจากห้วงเวลาหนึ่งไปแล้วทั้งๆ ที่สัญญาว่าจะไม่หยุดเป็นเพื่อนกัน และบางครั้ง เมื่อมีเด็กสักคนถามคำถามว่าทำไมเราเป็นอย่างที่เราเป็น คำพูดที่ออกมาจากปากของเราโดยไม่ต้องคิดมากคือ “โตไปเดี๋ยวก็รู้”
เมื่อช่วงวัยเปลี่ยนไป เรากลายเป็นใคร? สิ่งที่เราเคยไม่อยากเชื่อและต่อต้านกลายเป็นสิ่งที่แสนธรรมดาได้ยังไง? เรายังเป็น ‘เรา’ อยู่หรือไม่? และเมื่อเวลาผ่านไป เราจะไม่กลายเป็นผู้ใหญ่แบบที่เรา ‘เกลียด’ ได้จริงเหรอ? การจะคุยกันเรื่องนี้ สิ่งแรกที่อาจต้องพูดถึงอาจคือเรื่องของตัวตน
ตัวตนของเราอยู่ที่ไหน? ถ้าการถกเถียงกันของนักปรัชญานับพัน ในช่วงเวลาพันกว่าปีไม่สามารถนำไปสู่คำตอบที่สากลได้ บทความของนักเขียนคนเดียวที่รีบทำงานนี้ให้ทันเดดไลน์ก็อาจไม่สามารถนำใครไปถึงจุดนั้นได้เหมือนกัน อย่างไรก็ตาม การพูดถึงตัวตนเป็นสิ่งที่ยาก นั้นก็เพราะมันเป็นเรื่องส่วนตัวที่เราต่างคนต่างไม่มีใครเห็นตรงกันเต็มร้อย มากไปกว่านั้น เรื่องที่เราคุยกันวันนี้มีอีกปัจจัยที่ทำให้เรื่องนี้จับต้องยากขึ้นไปอีก นั่นคือเรื่องของเวลา
เราในวันนี้ เราเมื่อ 8 ปีที่แล้ว และเราใน 8 ปีข้างหน้า คือ ‘เรา’ คนเดียวกันหรือเปล่า? คำตอบของคำถามนี้คงไม่เหมือนกัน เมื่อเรามีมุมมองต่อตนเองและชีวิตไม่เหมือนกัน แต่ในเชิงปฏิบัติล่ะ? กี่ครั้งแล้วที่เราใช้ฟังก์ชั่น On This Day ของเฟซบุ๊กแล้วพบว่าเราไม่รู้จักคนที่เขียนสเตตัสนี้เลยทั้งๆ ที่นั่นเองก็คือเรา? ในเชิงการปฏิบัติและการใช้ชีวิต บ่อยครั้งเรามองเราในอดีตเป็นคนอีกคนกับเราในปัจจุบันโดยสิ้นเชิง แม้ว่าในตอนนั้นเราอาจเชื่อและมั่นใจในตัวเองมากพอจะสื่อสารสิ่งเหล่านั้นลงบนพื้นที่สาธารณะให้โลกรอบข้างของเราได้เห็น
การมองกลับไปแล้วพบความไม่ลงรอยกันระหว่างเราในตอนนี้กับเราเมื่อตอนนั้นนำไปสู่ความรู้สึกว่าเรากำลังไม่เป็นตัวเอง ไม่ว่าเราจะมองว่าเราตอนไหนคือเราที่แท้จริง ความแตกต่างนั้นพาเราให้รู้สึกว่าเราสามารถตัดขาดจากตัวตนของเราได้ และการตัดขาดนั้นๆ มักนำมาซึ่งความรู้สึกเช่นความอับอาย อาจจะตลก หรือที่รุนแรงขึ้นคือความผิดหวัง ซึ่งเกิดขึ้นบ่อยเมื่อเราเรากลายเป็นสิ่งที่เราไม่คิดว่าเราจะเป็นได้ เหมือนการผิดสัญญากับตัวเองในอดีต
เราหมายถึงอะไรเมื่อเราพูดว่า
เราจะไม่โตไปเป็นแบบคนที่เราเกลียด?
โดยพื้นฐานแล้วมันคือการที่เราแสดงออกจุดยืนของเราต่อประเด็นอะไรสักอย่าง น้อยหรือใหญ่ก็ตาม เราจะไม่โตไปเป็นอนุรักษนิยม เราจะไม่โตไปเป็นคนที่หมดหวังกับการขับเคลื่อนทางสังคม เราจะโตไปเป็นผู้ปกครองที่เข้าใจลูกเต็มร้อย เราจะไม่โตไปเป็นทาสทุนนิยม ฯลฯ แต่อาจเถียงได้ว่านี่ไม่ใช่เพียงการแสดงจุดยืน แต่ลึกลงไปกว่านั้น
การแสดงจุดยืนนั้นสามารถทำได้ผ่านการนำเสนอจุดยืนนั้นๆ ในตัวของมันเดี่ยวๆ ได้ เราบอกว่าเรายืนอยู่ตรงนี้ด้วยเหตุผลบางอย่าง แต่การพูดว่าเราจะไม่เป็นอะไรสักอย่างคือการปฏิเสธสิ่งนั้นๆ ในระดับตัวตน และปฏิเสธมันอย่างแรงกล้าในระดับที่การปฏิเสธนั้นๆ ข้ามกาลเวลาไปด้วย มันคือการสร้างระยะห่าง อาจจะระยะห่างทางรสนิยม ทางคุณค่า หรือทางจริยธรรม
อย่างที่บอกไปแล้ว เวลาเปลี่ยนทุกอย่าง เวลาและอายุนำมาซึ่งประสบการณ์ส่วนตัว จากที่เราเคยมองใครสักคนอย่างห่างๆ แล้วตัดสินพวกเขาด้วยสายตาที่ห่างไกล เราได้ยืนอยู่จุดเดียวกันกับพวกเขา เมื่อมีเงินก้อนโตอยู่ตรงหน้าแล้วสิ่งเดียวที่เราต้องทำคือการละทิ้งความฝัน เราจะทำยังไงในเมื่อทุกอย่างมันแพงไปหมด? เกิดอะไรขึ้นเมื่อเรากลายเป็นหัวหน้าที่ต้องบริหารคน? เราดีกับพนักงานได้เท่าที่เราเคยสัญญาไว้หรือไม่? เกิดอะไรขึ้นเมื่อเราอยู่ในขบวนการต่อสู้ทางสังคมนานเท่ากับคนที่เคยสู้จนเลิกจนท้อ เพราะไม่เห็นความเปลี่ยนแปลง?
เมื่อความเปลี่ยนแปลงนั้นมาถึง แล้วอย่างที่เราบอก ว่าตัวตนของเราขึ้นอยู่กับความเหมือนหรือต่างของเราจากภาพที่เราวาดไว้ บางครั้งนั่นคือที่มาของการที่ความเปลี่ยนแปลงสร้างความรู้สึกแง่ลบให้กับเรา และการที่เราเริ่มเข้าใจและยอมรับความเปลี่ยนแปลงนั้นได้ บ่อยครั้งก็ยิ่งนำไปสู่ความผิดหวังที่สูงส่งกว่าเดิมเพราะในมุมมองของเรา มันเหมือนการผิดสัญญากับตัวเอง แต่มันต้องเป็นอย่างนั้นแน่หรือเปล่า?
เรือของเธซิอุส คือการทดลองทางความคิดเกี่ยวกับธรรมชาติของตัวตน โดยโจทย์มีอยู่ว่า เรือของวีรบุรุษเธซิอุสสร้างขึ้นมาจากแผ่นไม้ 1,000 แผ่น แน่นอนว่าไม้เป็นวัสดุที่ต้องผ่านการซ่อมบำรุงจากความผุพังของกาลเวลาอยู่เสมอ โดยเธซิอุสจำต้องเปลี่ยนแผ่นไม้ในเรือของเขาปีละ 1 แผ่น คำถามคือ ในปีที่เท่าไรที่เรือของเธซิอุสหยุดที่จะเป็นเรือของเธซิอุส? แล้วหากนำไม้เดิมไปประกอบเป็นเรือลำใหม่อีกลำ เรือลำใหม่นับเป็นเรือของเธซิอุสอยู่หรือไม่?
การทดลองทางความคิดนี้สร้างปัญหาให้เราได้ทดลองมุมมองของเราเอง เรามองว่าตัวตนของเราอยู่ตรงไหน ส่วนที่ประกอบร่างเราขึ้นมา หรือที่ความเป็นเราโดยภาพรวม และที่สำคัญคือถามเราว่าเรามองว่า ‘เรา’ สามารถเปลี่ยนได้หรือไม่? และหากเปลี่ยน เปลี่ยนมากน้อยขนาดไหนที่ยังทำให้เรายังเป็นเราอยู่? คำตอบของการทดลองทางความคิดนี้ไม่ตายตัวและขึ้นอยู่กับวิธีการมองโลกของเรา อย่างไรก็ตาม สิ่งที่อยากจะโฟกัสคือ ไม่ว่าเราจะมองอย่างไร สิ่งหนึ่งจริงเสมอในทุกมุมมอง: ความเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่ไม่อาจหยุดยั้งได้เมื่อเราพูดถึงตัวตน
เวลาและประสบการณ์เปลี่ยนเราอย่างเลี่ยงไม่ได้ เราพบเจอผู้คนที่อาจจะสนับสนุนหรือท้าทายมุมมองของเรา สถานการณ์สุดขั้วบางอย่างบังคับให้เราเผชิญหน้าความเชื่อของตัวเอง สิ่งที่เราเรียนเปลี่ยนเรา สิ่งที่เราเชื่อมาตลอดถูกหักล้าง หรือเปลี่ยนแปลงไปจนเราไม่อาจเชื่อต่อ หากเราตั้งต้นด้วยความเชื่อว่าการเปลี่ยนคือการผิดสัญญาที่น่าผิดหวัง เราในทุกจักรวาลและความเป็นไปได้คงต้องผิดหวังในตัวเอง
เช่นนั้นแล้ว อย่าเกลียดตัวเองแค่เฉพาะว่าเราเปลี่ยนไปเป็นสิ่งที่เราเคยไม่ชอบจะดีเสียกว่าเนื่องจากความเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่ไม่อาจต้านทาน มองไปที่อื่นเช่นปรัชญา หรือการเมือง ว่าสิ่งที่เปลี่ยนในเรานั้น มันพาเราไปในจุดยืนที่เราอยากไปถึงหรือไม่ ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวตรงกับคุณค่าที่เราอยากมีหรือเปล่า การคิดเช่นนั้นอาจนำพาอิสระมาให้เราได้มากขึ้น
เพราะไม่ว่ายังไง ต่อให้เปลี่ยนขนาดไหน ในแง่มุมหนึ่งเราก็ยังคือเรา
อ้างอิงจาก