ทำงานที่เก่าจนไม่มีอะไรท้าทายแล้ว ย้ายงานใหม่ดูสิ เข้ากับวัฒนธรรมองค์กรไม่ได้เลย ย้ายงานใหม่ดูสิ ออฟฟิศเดินทางลำบากมาก ย่านนั้นรถติดสุดๆ ก็ย้ายงานใหม่ดูสิ ยังมีเหตุการณ์อีกมากมายที่เรามักได้คำตอบเป็นย้ายขยับย้ายไปหาประสบการณ์ใหม่จากที่อื่น
มุมหนึ่งก็เหมือนการหวังพึ่งน้ำบ่อหน้า อีกมุมก็ยังดีกว่าการไม่ทำอะไรเลย แล้วปล่อยให้ตัวเองเหี่ยวเฉาอยู่ที่เดิม หลายคนเลยหวังให้น้ำบ่อหน้านี้เป็นดั่งโอเอซิสชะโลมใจ แต่เมื่อถึงที่หมายกลับกลายเป็นภาพน้ำลวงตาเสียได้
ออกจะฟังดูเคราะห์ซ้ำกรรมซัดอยู่ไม่น้อย ถ้าเราหอบเอาความหวังอันน้อยนิด ในหัวใจกับไฟที่แทบมอดดับ หวังจะได้เจองานใหม่ที่ใช่กว่าเดิม แล้วต้องมาพบว่า ภาพฝันดันไม่ได้เป็นอย่างที่คิดเอาเสียเลย แต่สิ่งนี้เกิดขึ้นกับโลกการทำงานอยู่ตลอดเวลา เมื่อเราต่างไม่ได้เป็นคนที่ตัดสินใจได้ถูกต้อง เฉียบขาดอยู่ทุกครั้ง หรือมองเห็นอนาคตได้ว่างานไหนจะดีกว่ากัน เราก็ต้องผิดหวังกับการเปลี่ยนงานไปแล้วไม่เป็นดั่งใจอยู่บ้าง
เข้ากับเพื่อนร่วมงานใหม่ไม่ได้สักที ขั้นตอนการทำงานที่ไม่คุ้นชิน เนื้องานไม่ได้เป็นอย่างที่คิดไว้ อีกหลายเหตุการณ์แอบซ่อนอยู่หลังประตูของงานใหม่ที่เราอาจจะไม่ได้นึกถึง แต่พอเกิดขึ้นกับตัวแล้วจึงเริ่มรู้สึกเสียดายบางอย่างในที่ทำงานเก่าขึ้นมา ไม่ต้องรู้สึกว่าเรามันเหลาะแหละเกินไปหรือเปล่า ย้ายมาแปปเดียวก็ใจฝ่อเสียแล้ว สิ่งนี้เกิดขึ้นได้กับทุกคนและเกิดขึ้นอยู่บ่อยๆ ด้วย
เราเรียกสิ่งนี้ว่า ‘Shift Shock’ อธิบายให้เห็นภาพง่ายๆ เหมือนปลาน็อกน้ำตอนย้ายตู้ใหม่ๆ นั่นแหละ ความรู้สึกที่เรารู้ตัวแล้วว่างานใหม่ของเรานี้เนี่ย ไม่ได้เจ๋งอย่างที่คิดหรืออวดอ้างไว้ อาจเกิดได้จากทั้งความคาดหวังของเราเอง และความตุกติกบางอย่างในขั้นตอนสัมภาษณ์ที่อวดอ้างไว้ดิบดี เจอของจริงก็เลี้ยวกลับแทบไม่ทัน (ซึ่งไม่ทันแล้วจริงๆ นั่นแหละ)
ตัวเลขที่น่าสนใจจาก The Muse แพลตฟอร์มหางานออนไลน์ บอกว่า ในปี 2022 นั้น คนที่ย้ายงานกว่า 72% เจอปัญหา Shift Shock ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่สูงมากทีเดียว บวกกับช่วงนั้นอยู่ในช่วงของ COVID-19 ทำให้แนวโน้มการตัดสินใจในการเลือกงานเปลี่ยนไปพอสมควร โดยที่ 41% บอกว่าถ้าผ่านไปหกเดือนแล้วยังรู้สึกถึงปัญหา Shift Shock อยู่ ก็ต้องเริ่มมองหางานใหม่ และอีก 48% บอกว่าจะย้ายกลับไปทำงานที่เก่า ดูเหมือนว่าสิ่งนี้จะเป็นปัญหากวนใจให้เหล่าคนทำงานอยู่ไม่น้อย
งานใหม่ไม่ถูกใจ ย้ายหนีเลยดีไหมนะ?
อย่าเพิ่งตกใจไป ทุกครั้งที่เราย้ายไปสู่พื้นที่ใหม่ สังคมใหม่ เราย่อมใช้เวลาสักพักในการปรับตัว เพื่อให้เข้ากับทั้งรูปแบบงานที่เราไม่คุ้นเคย ผู้คน วัฒนธรรมที่เราเพิ่งได้สัมผัส ให้เวลากับตัวเองและที่ทำงานใหม่ได้ปรับจูนเข้าหากันสักพัก ถึงค่อยมาประเมินกันว่า จากปัญหาที่เราเจอในตอนแรกเนี่ย มันลดน้อยลงบ้างไหม ได้รับการแก้ไขบ้างหรือยัง?
ถ้าสถานการณ์โดยรวมดีขึ้นอยู่เรื่อยๆ (แม้จะไม่ดีขึ้นทันตาทั้งหมด) ถือว่าความอดทนของเราเริ่มผลิดอกออกผล หากให้เวลามากกว่านี้อีกนิด ปัญหาที่ทำให้ตกอกตกใจในช่วงแรก อาจได้รับการแก้ไขทั้งหมดเลยก็ได้ ในขณะเดียวกัน เราเองก็ต้องพยายามบอกเล่าถึงปัญหาที่เราเจอด้วยเช่นกัน เพื่อให้องค์กรหรือทีมรับรู้ปัญหาและแก้ได้อย่างตรงจุด
แต่หากผ่านไปจนแล้วจนรอด ก็ยังไม่มีวี่แววจะดีขึ้นเลย ปัญหาเก่าไม่ทันหาย ปัญหาใหม่ก็เข้ามาแทรก แบบนี้แล้วก็ไม่ผิดอะไรที่เราจะมองหางานใหม่ทั้งที่เพิ่งย้ายมา อย่างที่เราเคยตัดสินใจในทุกครั้ง เมื่อเรารู้แล้วว่าพื้นที่ตรงนี้ยังไม่ใช่ น้ำบ่อหน้าแม้จะยังไม่รู้ว่าจะเป็นโอเอซิสหรือจะเป็นภาพลวงตาก็ยังมีลุ้นอยู่บ้าง แต่ตรงนี้เนี่ยเรารู้อยู่แล้วว่าไม่ใช่โอเอซิสแน่นอน ก็ไม่จำเป็นต้องจมจ่อมให้เสียเวลา
แล้วเราจะทำยังไงไม่ให้เจอปัญหา Shift Shock นี้อีก?
แน่นอนว่าคราวที่เพิ่งตัดสินใจพลาดไปหมาดๆ หากจะต้องตัดสินใจเรื่องใหญ่อย่างการย้ายงานอีกครั้ง ความมั่นใจที่มีมันก็หดหาย พอจะมีทางไหนบ้างไหมนะที่ช่วยให้เราไม่ต้องมาเจอกับปัญหานี้อีก
จอช มิลเลต (Josh Millet) ผู้ก่อตั้ง Criteria บริษัทให้คำแนะนำด้านการทำงาน ได้ให้สัมภาษณ์บนเว็บไซต์ forbes.com เกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ว่า “เราควรแสดงความคาดหวังของเราให้ชัดเจน ด้วยการบอกกล่าวโดยตรงเลยว่า เรากำลังมองหาอะไรในตำแหน่งนี้ ถามลงลึกถึงรายละเอียดอย่างบทบาทการทำงาน เงินเดือน และความคาดหวังขององค์กรที่มีต่อตำแหน่งนี้”
ในทางกลับกัน องค์กรเองก็ต้องให้ข้อมูลอย่างถูกต้อง โปร่งใสด้วย เมื่อมาถึงขั้นตอนรับเข้ามาทำงานเรียบร้อยแล้ว ทุกข้อเสนอ ความคาดหวังที่ถูกหยิบยกมาคุยกันในช่วงสัมภาษณ์ ทางองค์กรเองก็ควรติดตามเรื่องนี้ให้มันเกิดขึ้นได้จริง อย่าลืมว่ามีเหล่าคนทำงานถึง 41% ที่พร้อมจะมองหาที่ใหม่ถ้ายังต้องเจอกับปัญหาเดิมนี้อยู่
ไม่ต้องรู้สึกว่าเราเอาตัวเองเป็นที่ตั้งมากไปหรือเปล่านะ ย้ายงานไปมาแบบนี้ จะไปตัดสินใจอะไรได้ แต่ถ้าเราต้องตื่นไปทำงานที่ต้องกล้ำกลืนฝืนทน วันจันทร์เป็นเหมือนฝันร้ายที่ไม่อยากเจอ นั่นอาจเป็นทุกข์มากกว่าการลุกหาโอกาสใหม่ให้ตัวเองหรือเปล่านะ
อ้างอิงจาก