“เราจำเป็นต้องคุยถึงเส้นแบ่งระหว่างศิลปะกับสื่อลามกอนาจารเด็ก”
สำนักข่าวญี่ปุ่นพบว่า ภาพอนาจารของเด็กกว่า 3,000 ภาพ ที่สร้างขึ้นจาก AI (AI-generated) ถูกอัปโหลดโดยบริษัทเทคโนโลยีแห่งหนึ่งในโอซาก้า และเว็บไซต์ดังกล่าวก็ยังมีการเข้าชมมากกว่า 2 ล้านครั้งต่อเดือน จนเกิดเป็นข้อถกเถียงถึงช่องว่างทางกฎหมายเกี่ยวกับสื่อลามกอนาจารเด็กในญี่ปุ่น
เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายนที่ผ่านมา สำนักข่าวญี่ปุ่น ‘Yomiuri Shimbun’ รายงานว่า มีบริษัทเทคโนโลยีแห่งหนึ่งในโอซาก้า อนุญาตให้ผู้ใช้งานโพสต์และซื้อภาพเด็กเปลือยกายที่ AI สร้าง โดยภาพเหล่านี้มีคําบรรยาย เช่น “มันเป็นตัวละครสมมติที่สร้างโดย AI”
จากการตรวจสอบของสำนักข่าว Yomiuri Shimbun พบว่า ใน 1 เดือน อาจมีรูปภาพอนาจารเด็กที่ AI สร้างขึ้นกว่า 3,000 ภาพเผยแพร่อยู่บนเว็บไซต์ดังกล่าว โดยมีผู้ใช้งานกว่า 100,000 ยูสเซอร์ และมีการเข้าดูกว่า 2 ล้านครั้งต่อเดือน
Yomiuri Shimbun ยังรายงานอีกว่า บริษัทดังกล่าว เป็นเพียงหนึ่งในหลายๆ บริษัท ที่สร้างและขายภาพอนาจารเด็กที่ทำขึ้นจาก AI เท่านั้น
ต่อมา ยังมีบริษัทแห่งหนึ่งกล่าวถึงรูปภาพลามกเด็กที่ AI สร้างขึ้นอีกว่า “เราเชื่อว่าจะไม่มีปัญหาในทางกฎหมายใดๆ” โดยตัวแทนยังกล่าวเสริมว่าบริษัทจะยังคงให้บริการรูปภาพต่อไปเนื่องจากเป็นที่นิยม และการดำเนินงานจะระงับก็ต่อเมื่อมีกฎระเบียบใหม่เท่านั้น
นั่นก็เป็นเพราะในทางการกฎหมาย แม้ภาพเปลือย หรือภาพลามกอนาจารของเด็กเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย แต่กฎหมายดังกล่าวก็คุ้มครองเฉพาะ ‘บุคคล’ ไม่สามารถบังคับใช้ในกรณีภาพวาด หรือสื่อใดๆ ที่ AI สร้างขึ้นมา
ปัญหาเรื่องภาพเด็กที่สื่อไปถึงเรื่องเพศก็เรื่องที่ถกเถียงกันมาอย่างยาวนาน อีกทั้งในญี่ปุ่น ก็ยังมีการรณรงค์เรียกร้องให้แบนมังงะหรืออนิเมะที่มีเนื้อหาดังกล่าวเรื่อยมา แต่หนึ่งในปัจจัยที่ทำให้การเรียกร้องนั้นไม่ประสบผลสำเร็จคือ นักการเมืองหลายคนต่างมองว่าภาพเหล่านั้นเป็นเพียงภาพวาด จึงไม่มี ‘ผู้เสียหาย’ ที่เป็นมนุษย์ ดังนั้นจึงไม่อาจกล่าวได้ว่าเป็นการก่ออาชญากรรม
อีกทั้ง ทางผู้เขียน ศิลปิน หรือผู้จัดพิมพ์ก็ยังอ้างได้ว่า การสั่งห้ามเผยแพร่ผลงาน เป็นการละเมิดเสรีภาพในการแสดงออกของพวกเขาตามรัฐธรรมนูญ
อย่างไรก็ดี ฟูจิโกะ ยามาดะ ผู้ก่อตั้งศูนย์ Child Maltreatment Centre ระบุว่า เธอไม่เชื่อว่าจำเป็นต้องเปลี่ยนรัฐธรรมนูญเพื่อการนี้ “ศาลสามารถกำหนดให้เคารพเสรีภาพในการแสดงออกได้ แต่พวกเขาไม่ควรวางเสรีภาพไว้เหนือสิ่งใดที่อาจส่งผลกระทบต่อสิทธิของบุตรหลานของเราและอาจส่งผลเสียต่อพวกเขา”
ยามาดะมองว่า สังคมต้องรีบเปลี่ยนแปลง เพราะถ้าปล่อยไว้ให้ภาพดังกล่าวกระจายออกไปเรื่อยๆ มันจะถูกทำให้กลายเป็นเรื่อง ‘ปกติ’ จนอาจเกิดการชักจูงเด็กๆ ว่าการเข้าไปทำงานในอุตสาหกรรมทางเพศนั้น เป็นเรื่องที่ยอมรับได้
นอกจากนี้ โมริโนสุเกะ คาวากุจิ นักวิเคราะห์และที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยีซึ่งเคยเป็นอาจารย์ของสถาบันเทคโนโลยีโตเกียว ยังกล่าวถึงสังคมญี่ปุ่นในประเด็นดังกล่าวอีกว่า เมื่อพูดถึงภาพที่มีเนื้อหาสื่อไปในทางเพศของเด็ก ญี่ปุ่นมีมาตรฐานที่แตกต่างออกไป เพราะแม้ตะวันตกจะไม่ยอมรับเรื่องการมีความรู้สึกทางเพศกับเด็ก แต่คอนเซ็ปต์ดังกล่าวก็ยังไม่ได้เป็นที่เข้าใจในสังคมญี่ปุ่นเท่าไรนัก
คาวากุจิกล่าวต่อว่า เมื่อ AI ไม่ได้มีศีลธรรมในตัวมันเอง ดังนั้นมนุษย์จึงสามารถใช้มันเพื่อสร้างภาพดังกล่าวขึ้นมา และทำให้ปัญหาที่เป็นประเด็นละเอียดอ่อนมากอยู่แล้วเห็นชัดขึ้น เขาจึงเห็นว่าควรมีการพูดคุยถึงประเด็นนี้
“คนรุ่นเก่าดูเหมือนจะไม่สามารถเปลี่ยนค่านิยมของตนเองได้เลย แม้ว่าคนรุ่นใหม่มีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนแปลงเร็วขึ้นก็ตาม…จะต้องใช้เวลาอีกนานและต้องได้รับแรงกดดันจากทั่วโลก กว่าจะถือได้ว่าสิ่งนี้ [ภาพอนาจารเด็ก] ไม่สามารถยอมรับได้ [ในสังคมญี่ปุ่น]” คาวากุจิกล่าว
อ้างอิงจาก