แค่พาเด็กไปกินไอศกรีมเฉยๆ ก็ต้องขอพ่อแม่ด้วยเหรอ?
เด็กอายุ 13 พรากเด็กอายุ 13 จะผิดพรากผู้เยาว์ไหม?
ถ้าไม่รู้ว่าเด็กยังอายุไม่ถึง 18 จะผิดหรือเปล่า?
ประเด็นเรื่องของการพรากผู้เยาว์ มักถูกหยิบยกขึ้นมากล่าวถึงในสังคมไทยเสมอ เมื่อมีคนกำลังจะไปมีความสัมพันธ์ในเชิงชู้สาว หรือจะไปมีเพศสัมพันธ์กับเด็กต่ำกว่า 18 ปี แต่ในความจริงแล้ว กฎหมายพรากผู้เยาว์ไม่ได้คุ้มครองแค่เฉพาะเรื่องเพศ และกฎหมายนี้ ก็ไม่ได้มุ่งคุ้มครองตัวเด็กเป็นหลักอีกเช่นกัน
แล้วอย่างนี้กฎหมายพรากผู้เยาว์คืออะไรกันแน่? เมื่อเกิดคำถามถึงประเด็นข้อกฎหมายเรื่องพรากผู้เยาว์ The MATTER จึงต่อสายหา รณกรณ์ บุญมี อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อขอคำอธิบายแบบ 101 แล้วได้สรุปเอาไว้ให้แล้ว
พรากผู้เยาว์คืออะไร?
หากเปิดประมวลกฎหมายอาญามาตรา 317-319 ก็จะเจอกับตัวบทกฎหมายว่าด้วยการพรากผู้เยาว์ ซึ่งกฎหมายทั้ง 3 มาตรานี้ มีคอนเซ็ปต์เดียวกัน คือเป็นเรื่องของ ‘การพราก’
คำว่าพรากในที่นี้ คือการทำให้พ่อแม่ ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลเด็กไม่สามารถใช้อำนาจปกครองได้ หรือก็คือเป็นการพาเด็กออกมาจากอำนาจปกครองนั่นเอง
ในที่นี้ คำว่าผู้ปกครอง คือคนที่ศาลแต่งตั้งให้เป็นผู้ปกครอง ส่วนคำว่าผู้ดูแล คือใครก็ตามที่เข้ามาดูแลเด็กตามความเป็นจริง เช่น พ่อแม่ฝากให้เจ้าของร้านอาหารช่วยดูแลลูก เจ้าของร้านอาหารก็คือผู้ดูแลของเด็กคนนั้น
นั่นจึงหมายความว่ากฎหมายพรากผู้เยาว์นี้ มุ่งคุ้มครอง ‘อำนาจปกครอง’ เพราะฉะนั้น เพียงแค่การพาเด็กออกจากอำนาจปกครอง ไม่ว่าจะไปพากินข้าว ซื้อขนม หรือพาไปเที่ยว โดยที่ยังไม่ได้รับอนุญาตจากพ่อแม่ ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลของเด็ก ก็นับว่าเป็นการพรากแล้ว
แล้วถ้าพาตัวเด็กที่ไม่มีคนดูแล จะถือว่าผิดฐานพรากผู้เยาว์ไหม? The MATTER ถาม อ.รณกรณ์ต่อ ซึ่งอาจารย์ก็อธิบายว่า มี 3 กรณี ที่จะไม่ถือว่าเป็นการพรากผู้เยาว์ ได้แก่
- เด็กหนีออกจากบ้าน โดยที่พ่อแม่ ผู้ปกครอง หรือคนดูแลไม่สนใจ ไม่ติดตาม
- อยู่เฉยๆ แล้วเด็กเข้ามาหาเอง
- ไปหาเด็กที่บ้าน และไม่ได้ล็อกประตู
ประเด็นหลักของการพรากผู้เยาว์มีอะไรบ้าง?
อายุของเด็กที่พรากก็นับว่าเป็นประเด็นหลักที่ต้องพิจารณา ทั้งนี้ การนับอายุของบุคคลตามกฎหมาย จะไม่ได้นับตรงตามวันเกิด เช่น เกิดวันที่ 14 มกราคม 2000 ในทางกฎหมายจะถือว่าครบอายุ 15 ปี ในวันที่ 13 มกราคม 2015 และในวันที่ 14 มกราคมปี 2015 ก็จะถือว่าบุคคลนั้นมีอายุ 15 ปี 1 วันแล้ว
ส่วนรายละเอียดของกฎหมายพรากผู้เยาว์ จะสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 กรณีใหญ่ๆ คือกรณีของเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี และผู้เยาว์อายุกว่า 15 ปี แต่ไม่เกิน 18 ปี
- เด็กอายุไม่เกิน 15 ปี (น้อยกว่า หรือเท่ากับ 15 ปี): กรณีนี้ ไม่ว่าจะพาเด็กไปทำอะไร โดยปราศจากเหตุอันสมควรและไม่ได้รับความยินยอมจากพ่อแม่ ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลก็นับว่าผิดฐานการพรากผู้เยาว์ทั้งหมด ความผิดฐานนี้ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3-15 ปี และปรับตั้งแต่ 6 หมื่น-3 แสนบาท
เช่น A ต้องการพา B เด็กชาย วัย 13 ปีไปซื้อไอศกรีม แต่ไม่ได้ขอพ่อแม่ของ B ก่อน กรณีนี้ แม้เด็กชาย B จะเต็มใจไป A ก็ยังจะผิดฐานพรากผู้เยาว์ เนื่องจากไม่ได้รับความยินยอมจากพ่อแม่ของเด็กชาย B
แต่ในความผิดฐานพรากผู้เยาว์ของเด็กที่อายุยังไม่เกิน 15 ปีนี้ จะผิดมากขึ้นไปอีก เมื่อพาเด็กคนนั้นไปเพื่อการอนาจาร หรือการหากำไร เช่น พาไปขาย ขอทาน กอด จูบ ลูบ คลำ ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 5-20 ปี และปรับตั้งแต่ 1-4 แสนบาท
สำหรับความผิดฐานพรากผู้เยาว์ไปเพื่อการอนาจารหรือเพื่อหากำไรนั้น จะผิดตั้งแต่มีการพรากเด็กคนนั้นไป โดยมีเจตนาที่จะอนาจารหรือหากำไร แม้จะยังไม่ได้เริ่มกระทำอนาจารหรือหากำไรจากเด็กคนนั้นเลยก็ตาม
เช่น A พาเด็กชาย B วัย 14 ไปที่โรงแรมเพื่อหวังจะมีเพศสัมพันธ์ด้วย แต่เมื่อทั้งคู่เดินทางถึงโรงแรม ปรากฏว่า A มีธุระด่วน ต้องรีบกลับบ้าน กรณีนี้ A ก็จะถือว่ามีความผิดฐานพรากผู้เยาว์ไปเพื่อการอนาจารแล้ว
- ผู้เยาว์อายุเกินกว่า 15 ปี แต่ไม่เกิน 18 ปี (ตั้งแต่ 15 ปี 1 วัน จนถึงอายุครบ 18 ปี): กรณีนี้ จะต้องพิจารณา ประเด็นเรื่องของความยินยอมของผู้เยาว์ด้วย
- ในกรณีที่ผู้เยาว์เต็มใจไปด้วย ผู้ที่พาผู้เยาว์คนนั้นไปจะไม่มีความผิดฐานพรากผู้เยาว์
เช่น ผู้ใหญ่วัย 30 ชวน A ผู้เยาว์วัย 16 ไปกินข้าวมันไก่ โดย A เต็มใจจะไปด้วย แล้วทั้งคู่ก็ไปกินข้าวที่ร้านข้าวมันไก่จริงๆ กรณีนี้จะไม่ถือว่าเป็นความผิดฐานพรากผู้เยาว์
ถึงแม้ว่าผู้เยาว์จะยินยอมไปด้วย แต่ถ้าเป็นการพาไปเพื่อการอนาจาร หรือเพื่อหากำไร ก็จะมีความผิดฐานพรากผู้เยาว์ โดยผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 2-10 ปี และปรับตั้งแต่ 4 หมื่น- 2 แสนบาท
- ในกรณีที่ผู้เยาว์ไม่เต็มใจไป บุคคลนั้นจะผิดฐานพรากผู้เยาว์ ต้องระวางโทษตั้งแต่ 2-10 ปี และปรับตั้งแต่ 4 หมื่น- 2 แสนบาท
ผู้ที่พรากผู้เยาว์ไปโดยที่ผู้เยาว์ไม่เต็มใจ จะได้รับโทษหนักขึ้นไปอีก เมื่อพาผู้เยาว์คนนั้นไปเพื่อกระทำอนาจาร หรือเพื่อกำไร ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3-15 ปี และปรับตั้งแต่ 6 หมื่น- 3 แสนบาท
ทั้งนี้แม้ในบางกรณีอาจจะไม่เข้าข่ายเรื่องของการพรากผู้เยาว์ แต่ก็ต้องพิจารณาว่ามีความผิดตามฐานกฎหมายอื่นด้วยหรือไม่
จำเป็นต้องรู้ไหมว่าเด็กที่พรากไปอายุเท่าไร?
ความไม่รู้ มักเป็นประเด็นหลักที่มักถูกหยิบยกขึ้นมาอ้างในการต่อสู้ทางกฎหมาย ซึ่งประมวลกฎหมายอาญามีบทบัญญัติว่าด้วยเจตนาในการกระทำความผิดอยู่ในมาตรา 59 ที่วางหลักว่า
บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนา…เว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิดแม้ได้กระทำโดยไม่มีเจตนา
กระทำโดยเจตนา ได้แก่กระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำและในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผล หรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น
ถ้าผู้กระทำมิได้รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิด จะถือว่าผู้กระทำประสงค์ต่อผล หรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้นมิได้
ประเด็นนี้ อ.รณกรณ์อธิบายว่า ถ้าผู้กระทำไม่รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบความผิด จะถือว่าเขาประสงค์ต่อผล หรือเล็งเห็นผลไม่ได้ โดยในกรณีของการพรากผู้เยาว์ อายุ เป็นหนึ่งข้อเท็จจริงซึ่งเป็นองค์ประกอบของความผิด
อ.รณกรณ์อธิบายถึงจุดประสงค์ที่ต้องมีการกำหนดเจตนาว่า ในขณะที่กฎหมายคุ้มครองผู้เสียหายแล้ว ก็ต้องคุ้มครองผู้ถูกกล่าวหาที่ไม่ให้ถูกลงโทษในสิ่งที่เขาไม่ได้มีเจตนาด้วย เพราะบางครั้ง ถ้าผู้กระทำรู้ว่าเด็กที่เขาเจอนั้นยังอายุไม่เกิน 18 ปี ก็คงจะไม่ไปกระทำในลักษณะที่เข้าข่ายความผิด แต่ที่เขาทำไป เพราะเขาไม่รู้ว่าเด็กอายุยังไม่เกิน 18
“คือกฎหมายต้องพยายามรักษาสมดุลระหว่างสิทธิของผู้เสียหาย กับสิทธิของผู้ถูกกล่าวหา…”
อย่างไรก็ตาม ถ้าเป็นกรณีที่เด็กอายุยังไม่เกิน 13 ปี ผู้กระทำจะไม่สามารถอ้างถึงความไม่รู้ได้ เนื่องจากประมวลกฎหมายอาญามาตรา 320/1 วางหลักเอาไว้ว่า ถ้าเป็นการพรากผู้เยาว์เด็กอายุไม่เกิน 13 “ห้ามอ้างความไม่รู้อายุของเด็กเพื่อให้พ้นจากความผิดนั้น”
รวมไปถึง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317-319 ยังกำหนดให้ผู้ที่ ซื้อ จำหน่าย หรือรับตัวเด็กซึ่งถูกพรากไปโดยทุจริต (คือ เพื่อแสดงหาผลประโยชน์ที่ไม่ควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย) ก็มีความผิดเหมือนกับคนที่พรากด้วยเช่นกัน แต่ถ้าเป็นกรณีที่รับตัวเด็กที่ถูกพรากมา เพื่อนำกลับไปคืนพ่อแม่ ก็จะไม่เข้าความผิดตามมาตรานี้
การพรากผู้เยาว์นั้นยังมีคำถามต่ออีกว่า คนที่จะพรากผู้เยาว์ได้ จะต้องเป็นผู้ใหญ่เท่านั้นหรือไม่? ประเด็นนี้ อ.รณกรณ์อธิบายว่า ไม่ได้มีการกำหนดอายุของผู้กระทำผิด กล่าวคือ ไม่ว่าจะอายุเท่าไร แค่มีการพรากผู้เยาว์ ก็มีความผิดแล้ว เพียงแต่จะต้องไปดูกฎหมายว่าด้วยเงื่อนไขของอายุผู้กระทำความผิด ที่อาจจะมีการลดโทษ งดเว้นการลงโทษ หรืออาจจะกำหนดวิธีการลงโทษอื่นก็ได้เช่นกัน
อย่างไรก็ดี ยังคงมีข้อสังเกตอีกว่า ในกรณีของผู้เยาว์ที่สมรสแล้ว จะยังสามารถถูกพรากได้หรือไม่ ประเด็นนี้ก็ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันในกลุ่มแวดวงกฎหมายอยู่ แต่สำหรับความเห็นของ อ.รณกรณ์มองว่า มาตรา 317-319 มุ่งคุ้มครองอำนาจปกครองของพ่อแม่ ผู้ปกครอง ผู้ดูแล เมื่อผู้เยาว์จดทะเบียนสมรสถูกต้องตามกฎหมาย แล้วมีคนมาพรากเขาไป ก็น่าจะไม่ใช่เรื่องของการพรากผู้เยาว์ แต่จะเป็นความผิดต่อตัวเด็ก เรื่อง ‘การพา’ เด็กไปมากกว่า
อ.รณกรณ์ยังทิ้งท้ายถึงประเด็นเรื่องกฎหมายการพรากผู้เยาว์ โดยมีข้อเสนอว่าประเทศไทยควรจะมาคุยถึงการกระทำที่เกิดก่อนจะมีการพรากอย่างเรื่อง child grooming หรือ sexting ด้วยว่าจะถือเป็นความผิดไหม เพราะในตอนนี้ ประเทศไทยยังไม่มีบทบัญญัติที่คุ้มครองการกระทำที่เกิดก่อนการพราก