โรงเรียนนี้ ครูตีเด็ก!
แรงบันดาลใจจากพ็อกเก็ตบุ๊ค ‘คู่มือเอาตัวรอดในโรงเรียน’ ของกลุ่มนักเรียนเลว สู่ภาพยนตร์เสียดสีการศึกษาที่เป็นดั่งจดหมายเหตุบันทึกช่วงเวลาแห่งการเรียกร้องซึ่งสิทธิเหนือร่างกายของเด็กไทย
*บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของภาพยนตร์ ‘อานนเป็นนักเรียนตัวอย่าง’
Arnold is a Model Student หรือ อานนเป็นนักเรียนตัวอย่าง คือภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรกของสรยศ ประภาพันธ์ ผู้กำกับที่ผันตัวเองจากนักบันทึกเสียงที่เคยมีประสบการณ์ในหนังอิสระมาแล้วมากมาย โดยหลังจากที่เจ้าตัวปลุกปั้นผลงานขนาดสั้นอย่างอวสานซาวด์แมน และผิดปกติใหม่ มาคราวนี้ เขาตั้งใจนำเสนอความผิดปกติที่หลายคนคุ้นชินในสถานศึกษา พร้อมความหวังที่ว่าวันหนึ่งมันอาจจะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น แม้เพียงเล็กน้อยก็ยังดี
ภาพยนตร์ความยาว 1 ชั่วโมง 25 นาทีเรื่องนี้เลือกจับภาพไปยังอานน นักเรียนดีเด่นผู้ได้รับรางวัลจากการแข่งขันคณิตศาสตร์โอลิมปิกจนกลายเป็นความภาคภูมิใจของโรงเรียน แต่จะบอกว่าเป็นความภาคภูมิใจของ ‘ทั้งโรงเรียน’ ก็คงไม่ได้ เพราะสุดท้าย ผลงานของอานนก็สร้างผลประโยชน์เพียงในด้านภาพลักษณ์ที่ช่วยให้ผู้บริหารของโรงเรียนได้หน้า ทว่าไม่เกิดผลดีต่อเพื่อนนักเรียนคนอื่นแต่อย่างใด คำว่า ‘นักเรียนตัวอย่าง’ ในที่นี้ จึงอาจเป็นเพียงนักเรียนที่ดีแบบเติม ‘ย์’ ที่ครูอาจารย์อยากให้เด็กนักเรียนเอาเยี่ยงอย่างโดยไม่ได้สนใจอย่างจริงจังว่าเด็กแต่ละคนมีความต้องการแบบไหน ถนัดอะไร และจริงๆ แล้ว ตัวอานนเอง นอกจากเรียนเก่ง เขาเป็นคนแบบไหนกันแน่
ท่ามกลางการยกยอปอปั้นนักเรียนผู้เป็นหน้าเป็นตา สถานศึกษาในหนังซึ่งเปิดตัวที่เทศกาลภาพยนตร์ Locarno Film Festival ยังเต็มไปด้วยการประท้วงของกลุ่มนักเรียนซึ่งไม่เห็นด้วยกับกฎระเบียบที่พวกเขาเชื่อว่าล้าหลัง ทั้งการตรวจเครื่องแต่งกายอย่างเข้มงวด การลงโทษที่ใช้ความรุนแรง รวมไปถึงอีกสารพัดปัญหาที่ดูแล้วชวนให้รู้สึกว่า นี่คือโรงเรียนในโลกแห่งความจริงที่หลุดเข้าไปอยู่บนจอภาพยนตร์
และเราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า หนึ่งในตัวแปรสำคัญของการเรียกร้องระหว่างนักเรียนกับผู้บริหารก็คือนักเรียนตัวอย่าง ที่ในมุมหนึ่งก็น่าจะเข้าใจหัวอกของเพื่อนนักเรียนด้วยกัน อีกทั้งเสียงของเขาก็น่าจะมีน้ำหนักในการต่อรองคณะครูได้ไม่มากก็น้อย อย่างไรก็ดี อานนกลับไม่เคยใช้ข้อได้เปรียบนี้เพื่อประโยชน์ของเพื่อนร่วมรุ่น แม้ตัวจริงของเขานอกเหนือจากด้านวิชาการจะแอบสูบบุหรี่ไฟฟ้า ดื่มเหล้าในโรงเรียน หรือกระทั่งยอมโกงข้อสอบเพื่อแลกกับเงิน แต่จนแล้วจนรอด เขาก็ไม่เคยทำอะไรที่อยู่ไกลเกินกว่ากิจวัตรประจำวันของตัวเอง ลึกๆ แล้วเขาจึงไม่ได้เป็นทั้งนักเรียนตัวอย่างที่เพื่อนฝูงจะฝากความหวังไว้ได้ ทั้งยังเป็นเพียงนักเรียนตัวอย่างจอมปลอม ที่กลุ่มผู้บริหารต้องมีไว้เพื่อคงสภาพให้ที่แห่งนี้ยังมีสถานะเป็นโรงเรียนตัวอย่างก็เท่านั้น
สิ่งที่เรามองว่าน่าสนใจที่สุดในเรื่องคือ เพราะเหตุใด ทั้งที่มีอาวุธอยู่ในมือ แต่อานนกลับไม่พยายามใช้สิ่งที่ตัวเองถืออยู่ให้คุ้มค่า เมื่อนิ่งคิดอยู่ครู่หนึ่ง เราก็เข้าใจได้ไม่ยากว่า สภาวะที่อานนเผชิญอยู่คือความคิดที่ว่า ‘นี่ไม่ใช่เรื่องที่ตัวเองต้องทำ’ ตัวเขารู้ดีว่าสิ่งที่เพื่อนนักเรียนต้องเจอไม่ได้ถูกต้องชอบธรรมมากนัก แต่ในทางหนึ่ง พ่อของเขาก็เคยได้รับผลกระทบจากการออกมาเรียกร้องจนแม่ไม่อยากเสียเขาไปอีกคน หรือในอีกทาง เขาก็รู้ดีว่าตัวเองจะต้องทนอยู่กับปัญหานี้อีกไม่นาน เพราะเขา ‘เก่งพอ’ ที่จะไปเรียนต่อต่างประเทศ เขามีสิทธิพิเศษมากพอที่จะไม่ต้องต่อสู้ในสนามที่เขากำลังจะทิ้งไปอยู่แล้วเร็วๆ นี้ หรือในทางสุดท้าย ถึงอำนาจนิยมจะโหดร้ายและระบบยุติธรรมจะเป็นสิ่งสำคัญ ทว่ามันก็อาจต้องยอมแพ้ให้แก่ระบอบที่เรียกว่าทุนนิยมอยู่ดี
อานนเป็นนักเรียนตัวอย่างจึงเป็นหนังที่บอกกับคนดูกลายๆ ว่า สุดท้ายแล้วคงไม่มีผู้เล่นคนไหนในระบบการศึกษาของประเทศนี้ที่จะเป็นผู้ชนะ เราทำได้เพียงสู้ต่อไปเรื่อยๆ ไม่ก็ก้าวออกจากเกม
สิ่งหนึ่งที่น่าเสียดายของหนังคือการเล่าที่ดูขาดความต่อเนื่องในบางช่วงบางตอน และบางฉากก็ถูกนำเสนออย่างตรงไปตรงมามากไปหน่อย อย่างไรก็ตาม อานนเป็นนักเรียนตัวอย่างก็ได้ทำหน้าที่เป็นจดหมายเหตุซึ่งบันทึกการต่อสู้ครั้งสำคัญที่คนรุ่นหลังไม่ควรลืม และเราในวันนี้คงทำได้เพียงหวังอยู่ลึกๆ ว่า คนไทยในทศวรรษข้างหน้าจะมองมันในฐานะภาพเคลื่อนไหวที่กักเก็บเรื่องราวในอดีต ไม่ใช่หนังสารคดีที่คัดลอกเหตุการณ์ที่ยังเกิดขึ้นจริงในอีก 10 ปีถัดไป
เข้าใจแง่มุมต่างๆ ของ ‘คู่มือเอาตัวรอดในโรงเรียน’ ได้ทาง https://thematter.co/quick-bite/bad-student-manual/161297
ดูตัวอย่าง ‘อานนเป็นนักเรียนตัวอย่าง’ ได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=nw7ARRof66w
และชมภาพยนตร์ได้แล้ววันนี้ทุกโรงภาพยนตร์
อ้างอิงจาก
https://www.facebook.com/arnoldisamodelstudent/