เมื่อวันที่ 14 มิถุนายนที่ผ่านมา โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการออกแถลงการณ์ถึงกรณี ‘หยก’ เยาวชนวัย 15 ปีว่า “ไม่มีสถานะเป็นนักเรียน” โดยให้เหตุผลหลัก 2 ข้อคือ แม่ของหยกไม่ได้มารายงานตัวกับหยก และหยกปฏิบัติตามระเบียบของโรงเรียน เช่น ไม่แต่งกายชุดนักเรียน การทำสีผม
ในประเด็นแรก เห็นว่าทางกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และพรรคการเมืองต่างลงมาช่วยกันแก้ไขแล้ว แต่สำหรับประเด็นที่สอง เชื่อว่าหลายคนที่ติดตามประเด็นทางสังคมน่าจะต้องร้องอุทานว่า ‘อีกแล้วหรอ?’ เพราะถ้าหากนั่งนึกกันดีๆ เรื่องนี้เคยถูกพูดมาเป็น 10 ปีแล้ว ตั้งแต่สมัย เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล จนถึงปัจจุบันก็ดูเหมือนไม่มีอะไรขึ้น แถมยังถูกใช้เป็นข้ออ้างในกีดกันเด็กคนหนึ่งออกจากระบบการศึกษาอีกต่างหาก
ไม่ว่าเราจะมอง ‘วิธีการ’ เรียกร้องของหยกด้วยสายตาแบบใด แต่อย่างน้อยเราควรเห็นด้วยกับ ‘หลักการ’ ของเด็กหญิงผู้นี้ เพราะทรงผมและเครื่องแบบอยู่ภายใต้ร่มของสิทธิเหนือเนื้อตัวและร่างกาย ซึ่งเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่สุดของมนุษย์
The MATTER ชวนย้อนดู 10 ปีแห่งการต่อสู้เพื่อยกเลิกกฎระเบียบที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างการควบคุมทรงผมและเครื่องแบบในโรงเรียน นับตั้งแต่ เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล จนถึง หยก เยาวชนวัย 15 ปี
ปี 2013
“ผมเป็นอวัยวะส่วนตัวของคนๆ นั้น ไม่ควรต้องมีกฎระเบียบทรงผม ต้องยกเลิกไปเลย เราต้องกำหนดนิยามก่อนว่าระเบียบวินัยนั้น ละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือเปล่า? นักเรียนมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางหรือเปล่า? อะไรก็บอกวินัยทั้งนั้น แต่ถ้าวินัยนั้นเป็นเผด็จการ จะไม่ให้นักเรียนตั้งคำถาเลยหรือเปล่า?” เนติวิทย์กล่าวในรายการ ‘เจาะข่าวเด่นกับสรยุทธ’ สมัยเป็นนักเรียน ม.4
ย้อนกลับไป 10 ปีที่แล้ว เนติวิทย์ และองค์กรต่อต้านทรงผมนักเรียนได้ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องให้มีการยกเลิกกฎระเบียบควบคุมทรงผมและเครื่องแต่งกาย ทำให้ข้อถกเถียงในประเด็นดังกล่าวถูกพูดถึงตลอดทั้งปี ผ่านการขับเคลื่อนของกลุ่มนักกิจกรรมในโรงเรียน
หนึ่งมุดหมายที่ชัดเจนเกิดขึ้นในวันที่ 28 มิถุนายน เมื่อเนติวิทย์โพสต์บทความ ‘ความเป็นไทยตั้งแต่หัวจรดตีน – ผ่านระบบการศึกษาไทย’ วิพากษ์ความเป็นไทยและระบบอำนาจนิยมที่ฝั่งอยู่ในโรงเรียนอย่างแนบสนิท โดยเฉพาะการบังคับตัดผมและใส่เครื่องแบบนักเรียน
“ในสุดท้ายแม้เราจะไม่รู้หรอกว่าความเป็นไทยคืออะไร.. แต่เราก็ยังยินดีอุทิศตัวให้กับนามธรรมแบบนี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ชนชั้นปกครองเห็นว่าเป็นของดี เพราะถ้าคุณถาม อำนาจของพวกเขาก็สั่นคลอน ความเป็นไทยที่ครอบงำสมอง ทรงผม เครื่องแบบ จากหัวจรดตีน ก็จะพินาศไป ผมอยากให้เราไปพ้นความเป็นไทย ซึ่งความเป็นไทยแบบนี้คือความเป็นทาสที่ไม่ต้องล่ามโซ่พันธนาการก็ยินดีกับความเป็นทาส ฉีกกรอบไปหาความเป็นไท ที่อิสรเสรี แล้วคิดว่านักเรียนเวลานี้ก็ตื่นตัวกันมากแล้วที่จะเป็นไท” เนติวิทย์เขียนไว้ในโพสต์ดังกล่าวในเฟซบุ๊ก
อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลานั้นสังคมไม่ค่อยสนับสนุนแนวคิดของเนติวิทย์เท่าไหร่นัก เช่น บางส่วนที่ยังอ้างถึงความเป็นไทยว่าเด็กต้องเคารพผู้ใหญ่ เรื่องการเคารพกฎระเบียบ และมีบางคนที่มองว่าในเวลานั้นเนติวิทย์ถูกคนบางกลุ่มปั่นหัว
ปี 2015
อีก 2 ปีต่อมา เพนกวิน–พริษฐ์ ชิวารักษ์ และกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไทได้เข้ายื่น 11 ข้อเสนอปฏิรูปการศึกษาต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในเวลานั้น โดยในข้อ 10 ของข้อเสนอดังกล่าวระบุถึงเรื่อง ‘การส่งเสริมสิทธิมนุษยชนในโรงเรียน’ โดยในประเด็นเครื่อแบบและทรงผมมีเนื้อหา ดังนี้
“เครื่องแบบและทรงผมไม่สามารถปลูกฝังระเบียบวินัยได้อย่างแท้จริง แต่เป็นการปลูกฝังระบบความคิดอำนาจนิยมให้นักเรียน จึงควรยกเลิกหรือลดความเข้มข้นในการบังคับแต่งกายด้วยเครื่องแบบนักเรียนลง เป็นการเปิดกว้างทางความคิดและเคารพสิทธิส่วนบุคคลของนักเรียน”
อย่างไรก็ตาม ก็ยังไม่ได้รับการตอบรับหรือเปลี่ยนแปลงกฎจากกระทรวงศึกษาธิการแต่อย่างใด
ปี 2019
ตั้งแต่ต้นปี 2019 (เดือนมกราคม) โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนได้ออกแถลงการณ์อนุญาตให้นักเรียนสามารถสวมชุดอะไรมาก็ได้ในทุกวันอังคารของสัปดาห์ โดย ศุภกิจ จิตคล่องทรัพย์ ผอ.โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า นโยบายนี้มีขึ้นเพื่อโรงเรียนเป็นสถานที่แห่งความสุข ซึ่งจนปัจจุบัน กรุงเทพคริสเตียนก็ยังคงให้นักเรียนใส่ชุดไปรเวทมาเรียนได้ในบางวันอยู่เหมือนเดิม
ต่อมาในเดือนพฤษภาคม กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้อออก ‘ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการไว้ทรงผมของนักเรียน พ.ศ. 2563’ โดยมีเนื้อหา อาทิ
- ข้อ 4 ระบุว่า นักเรียนชายจะไว้ผมสั้นหรือผมยาวก็ได้ กรณีไว้ผมยาวด้านข้าง ด้านหลังต้องยาว ไม่เลยตีนผม ด้านหน้าและกลางศีรษะให้เป็นไปตามความเหมาะสมและมีความเรียบร้อย ขณะที่ นักเรียนหญิงจะไว้ผมสั้นหรือผมยาวก็ได้ กรณีไว้ผมยาวให้เป็นไปตามความเหมาะสมและรวบให้เรียบร้อย
- ข้อ 5 ระบุว่า ห้ามนักเรียนดัดผม, ย้อมสีผมให้ผิดไปจากเดิม, ไว้หนวดหรือเครา หรือการกระทำอื่นใดซึ่งไม่เหมาะสมกับสภาพการเป็นนักเรียน เช่น การตัดแต่งทรงผม เป็นรูปทรงสัญลักษณ์หรือเป็นลวดลาย
ถึงแม้จะมีการออกระเบียบดังกล่าวแล้ว แต่ตลอดปีดังกล่าว ยังมีรายงานการตัดผมนักเรียนออกเป็นระยะๆ
ปี 2020
การเคลื่อนไหวในเรื่องสิทธิมนุษยชนของนักเรียนยังคงต่อเนื่อง โดยในเดือนสิงหาคม กลุ่มนักเรียนเลวได้จัดกิจกรรม ‘เลิกเรียนไปกระทรวง’ โดยได้รวมตัวกันไปกระทรวงศึกษาธิการเพื่อเรียกร้องให้มีการปรับหลักสูตรการเรียนการสอนที่ล้าหลัง ยังมีเนื้อหา เช่นการเหยียดเพศ และให้กระทรวงออกมาปกป้องเสรีภาพในการแต่งกายและทรงผมของนักเรียน หลายคนอาจจำการเคลื่อนไหวดังกล่าวได้ในจากภาพที่ ณัฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในเวลานั้นถูกไล่ให้ไปต่อแถวที่ด้านหลัง หลังมีความพยายามออกมาพูดคุยกับกลุ่มนักเรียน
ต่อมาในเดือนพฤศจิกายน ได้เกิด #ผมยาวบังเพื่อน ขึ้นในโลกออนไลน์ ภายหลังรองปลัด ศธ.ไปออกรายการ ‘ถามตรงๆ กับจอมขวัญ’ ร่วมกับตัวแทนจากกลุ่มนักเรียนเลว และได้มีการพูดในรายการว่า
“สมมุติว่าถ้าน้องจะทำผมยาวสักศอกหนึ่ง คนที่เดือดร้อนคือพ่อแม่ ต้องซื้อยาสระผมมาสระให้นักเรียน เวลาเรามานั่งในห้องเรียนผมเราที่ยาวเป็นศอกก็บังเพื่อนอยู่ด้านหลัง นี่คือความรู้สึกของคนอื่น แต่ความรู้สึกของเรา กำหนดแค่สิทธิของเรา แต่ไม่รู้ว่าหน้าที่ที่เราต้องอยู่ในสังคม” นายวีระกล่าว
เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ชาวโซเชียลต่างออกมาแชร์ภาพที่ตัวเองไว้ผมยาว หรือตัวการ์ตูนที่ผมยาวไปทั่วโลกอินเตอร์เน็ต
ในเดือนธันวาคม กลุ่มนักเรียนเลวได้จัดกิจกรรม ‘1 ธันวาบอกลาเครื่องแบบ’ ชวนนักเรียนทั่วประเทศใส่ชุดไปรเวทไปโรงเรียน ซึ่งแต่ละโรงเรียนก็มีวิธีรับมือหลากหลาย บางโรงเรียนยอมให้นักเรียนเข้าเรียน ขณะที่บางโรงเรียนกักตัวนักเรียนไว้ไม่ยอมให้เข้าเรียน จนเพื่อนนักเรียนคนอื่นร่วมตะโกน “ปล่อยเพื่อนเรา”
ในช่วงเย็นของวันนั้น กลุ่มนักเรียนได้จัดกิจกรรม ‘เลิกเรียนไปกระทรวง’ ครั้งที่สอง โดยในครั้งนี้ได้มีการคืนชุดนักเรียนให้แก่ ศธ. และนำป้ายผ้าที่มีข้อความ ‘ยกเลิกเครื่องแบบนักเรียน’ มาแขวนไว้หน้ากระทรวง
ปี 2022
นับว่าเป็นก้าวใหญ่ของวงการโฆษณา เมื่อ Dove และ MISTINE ได้ออกแคมเปญ #Lethergrow และ #ฉายแสงทุกการเติบโต ซึ่งมีเนื้อหาส่งเสริมสิทธิในเนื้อตัวและร่างกายของเด็ก และให้โรงเรียนทบทวนกฎระเบียบที่ละเมิดสิทธิของเด็ก
ในเดือนพฤษภาคม กลุ่มนักเรียวเลวได้ต้อนรับการเปิดเทอทในวันที่ 17 พฤษภาคมโดยได้มีการติดป้ายผ้าที่มีข้อความ ‘เสรีทรงผม’ ในโรงเรียนดังทั่ว กทม. อาทิ โรงเรียนสตรีวิทยา, โรงเรียนวัดราชบพิธ, โรงเรียนเทพศิรินทร์ และโรงเรียราชินี เป็นต้น
ถึงแม้จะมีการรณรงค์มากมาย แต่ทางนักเรียนเลวได้รายงานว่า ระหว่างวันที่ 8 – 14 พฤษภาคม 2565 มีเรื่องร้องเรียนเข้ามาถึง 179 เรื่อง โดยทรงผม ยังเป็นเรื่องที่มีเด็กร้องเรียนเข้ามามากที่สุดถึง 133 เรื่อง คิดเป็น 74.30 % ของข้อร้องเรียนทั้งหมด
นอกจากนี้ในเดือนกันยายน ยังมีกรณีที่ข้าวกล้อง นักเรียนแลกเปลี่ยนออกมายืนบนลังกระดาษพร้อมป้ายที่มีข้อความว่า “โรงเรียนไม่ให้ต่อ ม.6 เพราะผมยาว” (อ่านเรื่องข้าวกล้องต่อได้ที่: https://thematter.co/social/education/thai-student-and-hairstyles-regulations/184830)
ปี 2023
เหมือนจะเป็นเรื่องดี… เมื่อเดือนมกราคม ศธ.ได้แก้ไขปรับปรุงระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการไว้ทรงผมของนักเรียน พ.ศ.2563 โดยเนื้อความคือ ศธ.จะไม่กำหนดการไว้ผมอีกต่อไป แต่โอนอำนาจให้โรงเรียน และตัวแทนจากภายในโรงเรียนเป็นผู้ที่ตัดสินใจแทน
อย่างไรก็ตาม พริษฐ์ วัชรสินธุ ว่าที่ ส.ส.พรรคก้าวไกลเคยแสดงความเห็นถึงกฎดังกล่าวไว้ในรายการ Why It MATTERs Now ว่า การออกมาแก้ไขกฎดังกล่าวไม่นำไปสู่เสรีทรงผมจริง เป็นเพียงการถ่ายโอนอำนาจจากกระทรวงสู่โรงเรียนเท่านั้น ที่สำคัญ ถ้าเรามองว่าทรงผมเป็นสิทธิมนุษยชน ไม่ควรมีกฎอะไรมาควบคุมทั้งนั้น
ต่อมาในเดือนกุมภาพันธ์ โรงเรียนวัดธาตุทองได้ออกประกาศอนุญาตให้นักเรียนสามารไว้ทรงผมตามเพศวิถีได้ กล่าวคือ นักเรียนชายจะไว้ผมยาวก็ได้ และนักเรียนหญิงจะไว้ผมสั้นก็ได้
ถึงแม้บรรยากาศดูเหมือนจะดีขึ้น แต่ในเดือนมิถุนายน กรณีของหยกก็ทำให้สังคมกลับมาถกเถียงกันเรื่องนี้อีกครั้ง โดยทางโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการได้ออกแถลงการว่าหยก “ไม่มีสถานะเป็นนักเรียน” เนื่องจาก แม่ของหยกไม่ได้มารายงานตัวกับหยก และหยกไม่ปฏิบัติตามระเบียบของโรงเรียน เช่น ไม่แต่งกายชุดนักเรียน การทำสีผม
10 ปีที่แล้วเด็กคนหนึ่งออกมาเรียกร้องให้โรงเรียนเลิกบังคับเรื่องทรงผมและเครื่องแต่งกาย และตอนนี้ เด็กคนหนึ่งกำลังหลุดจากระบบการศึกษาเพราะเรื่องทรงผมและเครื่องแต่งกาย.. คุณว่ามันแปลกไหม?
อ้างอิงจาก