จินตนาการว่าคุณสามารถลูบไล้ขนหนาๆ ของช้าง ‘แมมมอธขนดก’ (Wooly Mammoth) อีกครั้งด้วยปลายนิ้ว หรือได้มีโอกาสเห็น ‘เสือทัสมาเนีย’ (Tasmanian tiger) นอกเหนือจากในรูปถ่ายขาวดำ นกโดโด้ (Dodo) ที่สูญพันธุ์ด้วยน้ำมือมนุษย์ อาจเดินอวดร่างอ้วนๆ บนเกาะมอริเชียสอีกครั้ง
เป็นไปได้ไหมที่เราจะชุบชีวิตสัตว์ที่เคยสูญพันธุ์ไปแล้วให้กลับมาโลดแล่นในธรรมชาติอีกครั้ง?
เราสามารถย้อนกลไกการสูญพันธุ์ของธรรมชาติได้หรือไม่? โครงการ De-Extinction หรือการ ‘ทำให้ไม่สูญพันธุ์’ เป็นความตื่นเต้นของแวดวงวิทยาศาสตร์ยุคปัจจุบัน โดยอาศัยความก้าวหน้าของนวัตกรรมตัดต่อยีนที่ล้ำหน้า จนสร้างความหวังใหม่ให้กับนักนิยมธรรมชาติทั่วโลก อาจทำให้เรา ‘ใกล้เคียง’ ที่จะกู้ชีพสรรพสัตว์ที่เคยหายหน้าไปจากประวัติศาสตร์ให้กลับมาโลดแล่นอีกครั้งหนึ่ง
สัตว์เหล่านี้ได้รับการช่วยเหลือจากวิทยาศาสตร์ จนมีจำนวนประชากรเพียงพอที่จะมีชีวิตรอดในธรรมชาติ สามารถสืบพันธุ์ต่อได้ด้วยลูกหลานสุขภาพดี และอาจช่วยฟื้นฟูระบบนิเวศได้อีกครั้ง
มีคำถาม 6 ข้อที่อาจทำให้เราเข้าใกล้ความจริงขึ้น เพราะความพยายามของมนุษย์ดูไร้จุดสิ้นสุดเสียเหลือเกิน
1. มันเป็นไปได้อย่างไร?
โครงการ De-Extinction เป็นความทะเยอทะยานที่มาพร้อมกับความก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์ที่กระโดดด้วยจังหวะค้ำถ่อโอลิมปิก หมุดหมายแรกๆ ปรากฏในปี 2003 เมื่อนักวิทยาศาสตร์ชาวยุโรปสามารถกู้ชีพแพะป่า ‘พีเรเนียน ไอเบ็กซ์’ (Pyrenean ibex) ด้วยการโคลนนิ่ง จากที่เคยสูญพันธุ์ไปแล้วเมื่อหลายปีก่อน
อย่างไรก็ตามลูกที่เกิดมากลับอ่อนแอมากและตายในเวลาเพียงไม่กี่นาที (จนถือว่าแพะป่าพีเรเนียน ไอเบ็กซ์ ต้องเผชิญชะตากรรมสูญพันธุ์ถึง 2 ครั้ง) เนื่องจากวิทยาการในช่วงนั้นยังไม่ล้ำหน้านัก
นักวิจัยจากออสเตรเลียลองอีกครั้งด้วยเทคนิคโคลนนิ่งที่ซับซ้อนกว่าในชื่อ Lazarus Project โดยกู้ชีพกบท้องถิ่นสูญพันธุ์อย่าง Gastric-brooding frog ความพิเศษของกบสายพันธุ์นี้คือ เลี้ยงลูกๆ ในท้อง แล้วค่อยสำรอกลูกกบออกมาเป็นตัวๆ
โครงการนี้ ‘เกือบจะสำเร็จ’ โดยทีมวิจัยสามารถโคลนนิ่งกบในระยะตัวอ่อน (Embryo) แต่ไม่สามารถทำให้มันโตเป็นลูกกบได้
2. สัตว์ที่กู้ชีพมา จะเป็นสัตว์สายพันธุ์ดั้งเดิมหรือไม่?
แม้ De-Extinction จะดูฝันหวานอยู่มาก แต่ความเป็นจริงคือ ยังไม่ใกล้เคียงที่จะฟื้นชีพสัตว์สายพันธุ์ดั้งเดิมได้ มันยังแค่ ‘ดูเหมือน’ เท่านั้น
ยกตัวอย่างหากนักวิจัยอยากจะคืนชีพ ‘ม้าลายควากกา’ (Quagga) ที่สูญพันธุ์ไปเมื่อ 100 ปีที่แล้ว พวกเขาจะใช้วิธีผสมกลับ (Back-breeding) โดยการคัดเลือกม้าลายที่มีลักษณะทางกายภาพเหมือนม้าลายควากกามากที่สุด จากนั้นจะปรับปรุงสายพันธุ์รุ่นต่อๆ มา จนม้าลายรุ่นหลานเหลนมีหน้าตาคล้ายคลึงกับม้าลายควากกา
เช่นเดียวกับโครงการคืนชีพ ‘แมมมอธขนดก’ (Wooly Mammoth) โดยทีมวิจัยของ Harvard Medical School จะใช้สเต็มเซลล์ของแมมมอธขนดกที่สูญพันธุ์ไปแล้วมาดัดแปลงเข้ากับยีนของช้างปัจจุบัน เราจะได้ช้างปัจจุบันที่มีลักษณะทางกายภาพคล้ายแมมมอธ คือมีขนดกหนานุ่ม ชั้นไขมันหนา ใบหูเล็ก เลือดมีเฮโมโกลบินที่ลำเลียงออกซิเจนในสภาพหนาวเย็นได้ มันคือช้างปัจจุบันที่ใกล้เคียงความเป็นแมมมอธที่สุด คุณจะเรียกมันว่า Mammophant หรือ Elemoth ก็แล้วแต่สะดวก
3. กู้ชีวิตสัตว์จากความสูญพันธุ์อย่างไร
มีแรดขาวพันธุ์เหนือ (Northern White Rhino) อยู่เหลือบนโลกเพียง 3 ตัวเท่านั้น และพวกมันไม่สามารถขยายพันธุ์ได้ในธรรมชาติอีกต่อไปแล้ว ทีมนักวิจัยในเยอรมันจึงต้องใช้วิทยาการอันล้ำหน้าของสเต็มเซลล์และการปฏิสนธิภายนอกร่างกาย (IVF) เพื่อไม่ให้แรดขาวพันธุ์เหนือสูญพันธุ์ โดยต้องยืมความช่วยเหลือจากแรดขาวพันธุ์ใต้ (Southern white rhino) มาช่วยภารกิจนี้
แรดขาวพันธุ์ใต้เพศเมียเชื่อ Najin และ Fatu ถูกเก็บไข่และแช่แข็งไว้ ส่วนสเปิร์มได้จากแรดขาวพันธุ์เหนือเพศผู้ตัวสุดท้ายที่เหลืออยู่ในโลกนำมาแช่แข็ง หากแผนนี้ไม่ได้ผล แผนที่ 2 คือ การนำเซลล์ผิวของแรดขาวพันธุ์เหนือมาปรับปรุงยีน จนได้เซลล์ต้นกำเนิด (stem cells) ดัดแปลงให้เข้ากับไข่และสเปิร์ม จากนั้นนำทั้งคู่มาปฏิสนธิภายนอก (IVF) จนได้ ตัวอ่อน (Embryo) ในหลอดทดลอง และนำไปฝากในครรภ์ของแรดขาวพันธุ์ใต้ (Southern white rhino) ซึ่งเป็นญาติทางสายพันธุ์ที่ใกล้เคียงที่สุด
ในที่สุดลูกที่ออกมาคือ แรดขาวพันธุ์เหนือ (Northern White Rhino) สุขภาพดี รอดพ้นจากการสูญพันธุ์
4. กู้ชีวิตไดโนเสาร์ได้ไหม?
คำถามยอดฮิตที่ใครๆ ต่างสงสัย ถ้าวิทยาการก้าวหน้าไปขนาดนั้น จะเป็นไปได้ไหมที่เราจะเปิดฟาร์มไดโนเสาร์ซะเลย
น่าเสียดายที่นักวิทยาศาสตร์ยังไม่มีแหล่ง DNA ของไดโนเสาร์ที่มากพอ พวกเขาได้เซลล์ผิวหนังและกระดูกจากพิพิธภัณฑ์เท่านั้น DNA ที่ได้เสื่อมสภาพไปตามกาลเวลานับหลายร้อยล้านปี จนแทบไม่เหลือเพียงพอสำหรับภารกิจกู้ชีวิต
DNA ที่ดีควรมาจากสัตว์ที่ยังมีชีวิตหรือถูกแช่แข็งในอุณหภูมิที่เหมาะเจาะ จนข้อมูล DNA ยังไม่เสื่อมสภาพ ซึ่งนั่นทำให้ ช้างแมมมอธขนดก (Wooly Mammoth) กลายเป็นความหวังในการคืนชีพสัตว์ดึกดำบรรพ์มากที่สุด
5. ทำ De-Extinction ไปเพื่ออะไร
ยังมีเหตุผลดีๆ ของการ De-Extinction ที่นักวิทยาศาสตร์ตั้งความหวังไว้ สัตว์เหล่านี้ที่กำลังใกล้สูญพันธุ์ล้วนมีความสำคัญในระบบนิเวศอย่างยิ่งยวด พวกมันทำหน้าที่หนึ่งในห่วงโซ่อาหาร
แรดขาวพันธุ์เหนือที่ใกล้หุบเหวแห่งการสูญพันธุ์ ช่วยควบคุมให้พืชพรรณมีปริมาณสมดุล รอยเท้าที่เหยียบย่ำนวดดินให้นิ่มเหมาะสำหรับการเจริญเติบโตของพืช รอยเท้าของแรดเป็นบ้านให้กับอาณาจักรแมลงและจุลชีพน้อยใหญ่อีกนับพันๆ สปีชีส์ การหายไปเพียง 1 ชีวิตจึงสร้างผลกระทบให้อีกหลายพันสปีชีส์แบบเป็นลูกโซ่
ทุกๆ วันมีสิ่งมีชีวิต 30 ถึง 150 สายพันธุ์กำลังหายไปจากโลก มันยิ่งแย่กว่าเมื่ออัตราเร่งในปัจจุบันเพิ่มไปถึง 1,000 เท่า หากเราไม่ทำอะไรเลย
6. มันถูกต้องแล้วหรือที่เราจะเล่นบทพระเจ้า?
นักวิชาการจำนวนไม่น้อยต่อต้าน De-Extinction เพราะมัน ‘ไม่เป็นธรรมชาติ’ มนุษย์เข้าไปมีส่วนในการปรับเปลี่ยนโครงสร้างชีวิต โดยไปยุ่งกับพันธุกรรมอันเป็นพื้นที่สุดพิศวงราวกับเล่นบทบาทของพระเจ้า
ในระยะหลังวิทยาการพยายามทำให้ใกล้เคียงกับธรรมชาติมากขึ้น เช่นในปัจจุบันเรายอมรับการทำเด็กหลอดแก้วกันแล้ว (IVF) ยังไม่มีใครมองว่าเด็กเหล่านี้เป็นของแปลก และการทำ IVF จะได้รับการยอมรับเรื่อยๆ จากสังคม
อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจคือ งบประมาณจำนวนมากอาจตกไปอยู่ที่การทำ De-Extinction ในห้องทดลอง แทนที่จะใช้สนับสนุนป้องกันสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ หรือไปช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ต่างๆ ที่ทำงานภายใต้ความกดดันจากการล่าสัตว์ผิดกฎหมาย การค้าสัตว์ป่า และการรุกล้ำพื้นที่ป่า
แทนที่คนในโลกจะเห็นความจำเป็นของการอนุรักษ์อันเป็นการ ‘ป้องกัน’ อาจหันเหไปชื่นชมความก้าวหน้าทางการแพทย์และวิทยาการมากกว่า เพราะคิดว่าเราสามารถแก้ไขความผิดพลาดจากน้ำมือมนุษย์ได้
ยังมีข้อถกเถียงอีกมากว่าสัตว์พวกนี้ควรถูกปล่อยในธรรมชาติอย่างไร ควรมีกฎหมายพิเศษในการคุ้มครองหรือไม่ สัตว์ที่ออกมาจะสุขภาพแข็งแรงทุกครั้ง หรือซุกซ่อนความผิดพลาดบางประการในรหัสพันธุกรรมอันซับซ้อน
หลายคำถามยังตอบไม่ได้ อาจต้องรอเพียงเวลาที่เหมาะสมเท่านั้น
อ้างอิงข้อมูลจาก
Scientists Are Close to Cloning a Woolly Mammoth
The last male northern white rhino on Earth has joined Tinder
With 1 male left worldwide, northern white rhinos under guard 24 hours
Should we bring extinct species back from the dead?