“Landbridge โอกาสทองเพื่อความเชื่อมโยงด้าน Logistics”
นี่คือส่วนหนึ่งจากโพสต์ของ เศรษฐา ทวีสิน นายกฯ บน X (ทวิตเตอร์)
วันนี้ (18 ธันวาคม) เศรษฐาระบุ เขาไปโปรโมตโครงการแลนด์บริดจ์ (Landbridge) ที่ญี่ปุ่น พร้อมทั้งยังกล่าวด้วยว่า โครงการนี้ เป็นโอกาสทองในการลงทุนอีกเช่นกัน
แล้วโครงการแลนด์บริดจ์คืออะไร ทำไมนายกฯ ไทยถึงมองว่านี่เป็นโอกาสทองในการลงทุน? The MATTER สรุปไว้ให้แล้ว
โครงการแลนด์บริดจ์ หรือสะพานเศรษฐกิจ คือการสร้างเส้นทางเชื่อมระหว่างท่าเรือในชุมพรและระนอง (อ่าวไทย-อันดามัน) โดยโครงการนี้จะประกอบด้วยทางหลวงพิเศษขนาด 6 ช่องจราจร ระยะทาง 90 กม., ทางรถไฟเชื่อมทั้ง 2 จังหวัด, สร้างระบบการขนส่งทางท่อ (pipeline) และสร้างท่าเรือน้ำลึก 2 ฝั่ง ให้เป็นท่าเรือที่ทันสมัย
ส่วนเหตุผลที่จำเป็นต้องมีแลนด์บริดจ์นั้น เป็นเพราะจะช่วยทำให้เส้นทางการขนส่งสินค้าลดลงประมาณ 5 วัน ลดความแออัดในช่องแคบมะละกา ลดต้นทุนได้ราว 6% ซึ่งอาจทำให้ไทยกลายเป็นจุดศูนย์กลางขนส่งสินค้าและเส้นทางเดินเรือใหม่ของโลก
ปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ซึ่งเป็นหน่วยงานศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการกล่าวว่า โครงการนี้ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อแข่งกับสิงคโปร์หรือมาเลเซียที่มีท่าเรืออยู่ที่ช่องแคบมะละกา แต่ออกแบบมาเพื่อช่วยแก้ปัญหาสภาพแออัดในช่องแคบมะละกา ทำเพื่อเป็นประตูการค้าระหว่างประเทศ
ทั้งนี้ โครงการแลนด์บริดจ์ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น โดยที่ผ่านมาเคยมีการพูดคุยถึงเรื่องการร่นระยะทางในการขนส่ง เช่นเรื่องการขุดคอคอดกระ แต่ก็ถูกมองว่าใช้งบประมาณจำนวนมากและยังอาจเป็นการแบ่งแยกดินแดน
กระทั่งในยุคสมัยของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ได้มีการผลักดันโครงการดังกล่าวออกมาในรูปแบบของแลนด์บริดจ์ ต่อมา ในรัฐบาลเศรษฐา ก็ได้เสนอโครงการดังกล่าวเข้าที่ประชุม ครม. ซึ่งได้อนุมัติไปเมื่อวันที่ 16 ตุลาคมที่ผ่านมา และกำลังอยู่ในระหว่างศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมอยู่
ในขณะนี้นายกฯ กำลังอยู่ในช่วงโรดโชว์ นำเสนอโครงการให้กับนักลงทุนต่างชาติเพื่อให้เข้ามาร่วมลงทุน ซึ่งในเบื้องต้น คาดการณ์ว่าจะใช้งบประมาณสำหรับโครงการนี้ประมาณ 1 ล้านล้านบาทและจะเปิดให้บริการในปี 2573
อย่างไรก็ดี มีข้อกังวลถึงโครงการดังกล่าวว่าอาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องระบบการจัดการน้ำ ฝุ่นที่จะเกิดในช่วงการก่อสร้าง คราบน้ำมัน อุบัติเหตุน้ำมันรั่ว ที่อาจกระทบต่อแหล่งปะการังและแหล่งทำมาหากินของคนในพื้นที่
เช่นเดียวกับสมนึก จงมีวศิน ผู้นำกลุ่มศึกษาการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC Watch) ที่เคยกล่าวเมื่อวันที่ 29 สิงหาคมที่ผ่านมาว่า ผลกระทบของโครงการ อาจซ้ำรอยกับกรณีมาบตาพุดและกรณีท่าเรือแหลมฉบัง ทั้งยังตั้งคำถามอีกว่าคนที่จะได้ประโยชน์จากโครงการนี้คือใคร
สอดคล้องกับความเห็นของ พรพิมล พิมลรัตน์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ชุมพรที่มองว่า ชาวชุมพรอาจได้รับผลกระทบด้านน้ำทะเลเสีย สัตว์น้ำหายาก และอาจเกิดเหตุน้ำมันรั่ว จนทำให้อาหารทะเลจากภาคใต้ไม่ปลอดภัย
อย่างไรก็ตาม เศรษฐาโพสต์ผ่าน X (ทวิตเตอร์ส่วนตัว) ว่า “ผมถือว่าโครงการ Landbridge เป็นโอกาสทองในการลงทุนนะครับ เพราะเฉลี่ยแล้วการขนส่งตู้สินค้าในทุกเส้นทางหากนำมาผ่าน Landbridge จะช่วยลดระยะเวลา ลดต้นทุน และมีความปลอดภัย”
อ้างอิงจาก