“พรรคเพื่อไทยสนับสนุนให้กฎหมายสมรสเท่าเทียมเกิดขึ้นจริง เพื่อการรับรองสิทธิสมรสสำหรับคู่รักทุกเพศ”
คำพูดของ ลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงร่างกฎหมาย ‘สมรสเท่าเทียม’ ฉบับรัฐบาลเพื่อไทย จะถูกเสนอต่อสภา ในวันนี้ (21 ธันวาคม) แต่เราเชื่อว่ายังมีอีกหลายคนที่ยังไม่ทราบว่าร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ของฝั่งรัฐบาลนั้นมีรายละเอียดอย่างไรบ้าง
ดังนั้น The MATTER จึงจะมาสรุป ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ฉบับกระทรวงยุติธรรม ที่ถูกเสนอโดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้อ่านกัน
เล่าก่อนว่า การผลักดันกฎหมายสมรสเท่าเทียมนั้น มีจุดเริ่มต้นขึ้นจากการเสนอร่างกฎหมายต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรโดย ‘ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์’ สส.พรรคก้าวไกล เมื่อเดือนมิถุนายน 2563 โดยมีจุดประสงค์ให้คู่รักหลากหลายทางเพศสามารถหมั้นและจดทะเบียนสมรส เป็นคู่สมรสที่ชอบด้วยกฎหมาย ได้รับสิทธิ หน้าที่ ศักดิ์ศรีเท่าเทียมกับคู่สมรสชายหญิงทั่วไป แต่ถึงกระนั้นจวบจนวันนี้กฎหมายดังกล่าวก็ยังไม่ถูกบังคับใช้
ทว่าวันนี้ ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม จะเข้าสู่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรอีกครั้ง ทั้งสิ้น 3 ร่าง ดังนี้
- ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ฉบับกระทรวงยุติธรรม เสนอโดยคณะรัฐมนตรี (ครม.)
- ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ฉบับพรรคก้าวไกล
- ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ฉบับภาคประชาชน
แต่เราขอกล่าวถึงร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมของ ครม.ว่าเป็นอย่างไรบ้าง แม้ว่า รายละเอียดของทั้ง 3 ร่างกฎหมาย จะมีหลักการที่เแทบไม่ต่างกันเลยคือ ร่างทั้งหมดต้องการขยายสิทธิการสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 และมาตราที่เกี่ยวข้อง จากเดิมจำกัดเฉพาะชายกับหญิง ให้ขยายสิทธิครอบคลุมบุคคลทุกเพศ ทุกอัตลักษณ์ทางเพศ และทุกเพศวิถี
โดยร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ฉบับรัฐบาลเพื่อไทย มีรายละเอียดดังนี้
1. บุคคล 2 คน ไม่ว่าเพศใดสามารถหมั้นและสมรสกันได้ โดยจะได้รับสิทธิ หน้าที่ และสถานะทางครอบครัวเท่าเทียมกันทุกประการ และจะเปลี่ยนคำเรียกที่ใช้ตามกฎหมายจากคู่สมรส ชาย-หญิง เป็น บุคคล-บุคคล
2. กลุ่ม LGBTQIAN+ จะมีสิทธิและอำนาจในการสร้างสถาบันครอบครัวตามกฎหมาย โดยเฉพาะการรับสิทธิต่างๆ เช่น สิทธิในการจัดการทรัพย์สินร่วมกัน สิทธิในการตัดสินใจทางการแพทย์ และการรักษาพยาบาล
และยังเพิ่มเหตุเรียกค่าทดแทน และเหตุฟ้องหย่าให้ครอบคลุมทุกเพศ กรณีที่คู่สมรสฝ่ายหนึ่งไปมีความสัมพันธ์กับบุคคลอื่น ไม่ว่าจะเป็นเพศใดก็ตาม
3. จัดการทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับการสมรส เข้าถึงสิทธิและสวัสดิการ เมื่อทำให้สถานะของคู่สมรสชัดเจนแล้วจะช่วยให้คู่รัก LGBTQIAN+ จัดการทรัพย์สินได้อย่างราบรื่นยิ่งขึ้น
4. การแก้ไขเรื่องบำเหน็จบำนาญข้าราชการ เพื่อให้กลุ่มคู่รักผู้มีความหลากหลายทางเพศได้รับสิทธิเช่นกัน
5. ปรับปรุงบทบัญญัติเกี่ยวกับบิดา มารดา และบุตร เปลี่ยนจาก ‘สามีและภรรยา’ เป็น ’คู่สมรส’ เพื่อให้มีความหมายครอบคลุมคู่สมรสไม่ว่าจะมีเพศใด
6. กำหนดให้หน่วยงานรัฐทบทวนกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อรับรองสิทธิที่เท่าเทียมกัน
ทั้งนี้ รัฐบาลเพื่อไทยหวังว่า การผ่านร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมจะทำให้ไทยเป็นชาติอันดับที่ 3 ของเอเชียที่จะมีกฎหมายรับรองการแต่งงานของกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ต่อจากไต้หวัน และเนปาล ซึ่งเป็นการปักหมุดประเทศไทยลงในแผนที่ของชุมชนชาว LGBTQIAN+ ที่จะส่งผลต่อการเสนอตัวเพื่อเป็นเจ้าภาพงาน World Pride ในปี 2028
พร้อมระบุปิดท้ายว่า หากได้รับเลือกเป็นเจ้าภาพ จะเป็นการยืนยันกับนานาประเทศว่า ประเทศไทยเปิดกว้างและโอบรับความหลากหลาย และพร้อมที่ผลักดันให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางสำหรับการเดินทางมาท่องเที่ยวและทำธุรกิจที่เป็นมิตรกับคนทุกเพศ
อ้างอิงจาก