เป็นครั้งที่ 73 ที่ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ได้รับการต่ออายุในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ หรือ ‘ปาตานี’ หลังคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายใต้การนำของ เศรษฐา ทวีสิน มีมติให้ขยายเวลาต่อไปอีก 1 เดือน
นับเป็นเวลากว่า 18 ปี ที่ ‘สถานการณ์ฉุกเฉิน’ ได้แปรสภาพมาเป็น ‘ชีวิตประจำวัน’ ของคนในพื้นที่
และนอกจากตัวเลขผู้บาดเจ็บล้มตายจากเหตุการณ์ความขัดแย้ง (ฐานข้อมูลศูนย์เฝ้าระหว่างสถานการณ์ภาคใต้ หรือ Deep South Watch ระบุว่า ตั้งแต่ปี 2547-2565 มีผู้เสียชีวิต 7,344 ราย บาดเจ็บ 13,641 ราย) ก็ยังมีอีกจำนวนมากที่เป็นผู้ได้รับผลกระทบจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยเจ้าหน้าที่ ด้วย ‘กฎหมายพิเศษ’ อย่าง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
การละเมิดสิทธิหนีไม่พ้น การวิสามัญฆาตกรรม (extrajudicial killings) การควบคุมตัวโดยพลการด้วยกฎหมายพิเศษ (arbitrary detention) การซ้อมทรมาน (torture) และยังรวมไปถึงมาตรการอันน่ากังวล เช่น การบังคับเก็บ DNA
The MATTER ชวนย้อนดูกรณีเหล่านี้ ผ่านสถิติเท่าที่มีการบันทึกไว้
‘กฎหมายพิเศษ’ ในพื้นที่ปาตานี
โดยอ้างความมั่นคงแห่งชาติ พื้นที่ปาตานีต้องอยู่ภายใต้ ‘กฎหมายพิเศษ’ ที่บังคับใช้ต่อเนื่องยาวนานร่วม 18-19 ปี ดังนี้
- พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
- พ.ร.บ.กฎอัยการศึก พ.ศ. 2457
- พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551
นอกจากนี้ยังมีการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับความผิดฐานก่อการร้าย คือ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 135/1-135/4 ด้วย
กฎหมายเหล่านี้ให้อำนาจในการรักษาความมั่นคงแก่เจ้าหน้าที่รัฐอย่างมีนัยสำคัญ ยกตัวอย่าง เช่น พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มอบอำนาจให้เจ้าหน้าที่สามารถจับกุมและควบคุมตัวบุคคลที่สงสัย โดยขออนุญาตศาลควบคุมตัวครั้งแรกไม่เกิน 7 วัน และขอขยายเวลาได้ครั้งละไม่เกิน 7 วัน รวมแล้วไม่เกิน 30 วัน
หรืออย่างการ ‘ตั้งด่าน’ ภาพจำที่ชินตาในพื้นที่ชายแดนใต้ ก็มาจากกฎอัยการศึกที่เปิดช่องให้เจ้าหน้าที่ทหารระดับไหนก็ได้ ตั้งด่านในรูปแบบใดก็ได้ รวมถึงจะค้นบ้านใครก็ได้โดยไม่จำเป็นต้องมีหมาย และไม่ต้องแจ้งหน่วยงานภายนอก ที่สำคัญคือ กฎหมายดังกล่าวยังมอบอำนาจให้จับกุมใครก็ได้ใน 7 วัน โดยไม่ต้องแจ้งข้อหา
โดยส่วนใหญ่ เจ้าหน้าที่มักใช้กฎหมายหลายฉบับพร้อมๆ กัน ในการเอาผิดคนคนเดียวกัน เช่น จับกุมตัวภายใต้กฎอัยการศึกก่อน 7 วัน จากนั้นดำเนินการต่อด้วย พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
และเมื่อเป็นคดีความมั่นคง สิทธิตามกฎหมายบางอย่างก็มักจะหล่นหายไป พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผอ.มูลนิธิผสานวัฒนธรรม บอกกับ The MATTER ว่า เมื่อขออนุญาตควบคุมตัวตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ศาลก็มักจะปล่อยผ่านตามที่ศาลเสนอ “ศาลจะไม่ตรวจดูรายละเอียดว่าเขาเป็นผู้ต้องสงสัยหรือเปล่า เขาเป็นคนที่มีข้อหาหรือเปล่า เพราะศาลมองว่าเป็นกฎหมายพิเศษ ก็ไม่ตรวจ”
นอกจากนี้ ศาลก็มักจะไม่อนุญาตให้มีสิทธิในการประกันตัว และแม้ในคดีเช่นนี้ ญาติจะเข้าเยี่ยมได้เป็นเวลาสั้นๆ แต่ทนายความจะไม่สามารถเข้าถึงได้ ทั้งภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และกฎอัยการศึก แต่จะมีการนำ ‘คำให้การ’ ที่ปราศจากทนายความ เข้าสำนวนแทน และตั้งเป็นข้อหาก่อการร้าย ซึ่งพรเพ็ญมองว่า คำให้การเช่นนี้ถือว่าฟังไม่ได้ในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา
“แต่สิ่งนี้มันเกิดติดต่อกันมา 18 ปี อันนี้เป็นหลักที่จะทำให้เข้าใจว่ามันร้ายแรง รุนแรง มันไม่ใช่หนึ่งเดียว มันเป็นซีรีส์ของกระบวนการที่ใช้ความรุนแรง หรือที่เขาเรียกว่า นิติสงคราม” คือข้อสังเกตของพรเพ็ญ
สถิติ (บางส่วน) การละเมิดสิทธิมนุษยชนด้วยกฎหมายพิเศษ
ด้วยอำนาจตามกฎหมายพิเศษเหล่านี้ จึงนำมาสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยเจ้าหน้าที่รัฐที่กระทำต่อประชาชนในพื้นที่เป็นจำนวนมากตลอดเกือบ 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ที่น่าเศร้าใจและน่าตั้งคำถามต่อไปก็คือ ไม่มีกรณีใดเลยที่เจ้าหน้าที่รัฐได้รับบทลงโทษตามกฎหมาย
รายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนและกระบวนการสันติภาพ จังหวัดชายแดนใต้ ประจำปี 2565 โดยกลุ่มด้วยใจ ชี้ว่า หากเป็นกรณีของการวิสามัญฆาตกรรม ก็เป็นเพราะมาตรา 16 ของกฎอัยการศึก และมาตรา 17 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่เปิดช่องให้เจ้าหน้าที่ “ไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญา หรือทางวินัย เนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ในการระงับหรือป้องกันการกระทำผิดกฎหมาย”
รายงานฉบับดังกล่าว ระบุตัวเลขผู้เสียชีวิต จากการวิสามัญฆาตกรรมและการควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่ ในช่วงปี 2547-2565 ไว้ที่ 503 คน
สำหรับการควบคุมตัวจากการบังคับใช้กฎหมายพิเศษ ในช่วงปี 2562-2565 มีตัวเลขอยู่ที่ 602 คน ตามการบันทึกของกลุ่มด้วยใจ
ขณะที่การซ้อมทรมาน กลุ่มด้วยใจยืนยันกับ The MATTER ว่า ในช่วงปี 2553-2565 มีการร้องเรียนมาทางกลุ่ม 167 คน
เรื่องของการควบคุมตัว ซึ่งเชื่อมโยงไปถึงการซ้อมทรมาน และเสียชีวิตในเวลาต่อมา ถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง แต่ก็ยังเกิดขึ้นในพื้นที่ชายแดนใต้อยู่เรื่อยๆ กรณีหนึ่งที่กลายมาเป็นคำถามในสังคมไทย คือ การเสียชีวิตของ ‘อับดุลเลาะ อีซอมูซอ’ หลังหมดสติระหว่างถูกควบคุมตัวที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร จ.ปัตตานี จนมาเสียชีวิตที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2562
แต่ก็ยังเป็นคำถามที่ไม่ได้รับคำถาม เพราะแม้จะระบุสาเหตุการตายได้ว่าเป็นเพราะสมองบวม ขาดออกซิเจนระหว่างการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ แต่ศาลจังหวัดสงขลาก็มีคำวินิจฉัยเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2565 ระบุว่า “ถ้าจะสรุปว่าเป็นเพราะการกระทำของเจ้าหน้าที่ จะต้องมีหลักฐานชัดเจนกว่านี้”
อีกประเด็นหนึ่งที่น่ากังวล คือ การบังคับเก็บสารพันธุกรรม หรือ DNA ซึ่งมูลนิธิผสานวัฒนธรรมรายงานว่า หน่วยงานความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2555 และพบว่า ผู้ถูกเก็บเกือบทุกคนเป็นชาวมลายูมุสลิม และล้วนเป็นผู้บริสุทธิ์ โดยมักอ้างว่า เป็นการเก็บข้อมูลเพื่อใช้ในการค้นหาผู้ก่อเหตุความรุนแรงในพื้นที่
สถิติการบังคับเก็บ DNA จากการร้องเรียนกับมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม ระบุไว้ว่า ในช่วงปี 2561-2564 มีอย่างน้อย 129 กรณี
เรียกร้องรัฐบาลเศรษฐา ตั้งคณะกรรมการทบทวนการบังคับใช้กฎหมายพิเศษ
‘สถานการณ์ฉุกเฉิน’ ยังคงดำเนินต่อไป
แม้การต่ออายุเมื่อวันที่ 18 กันยายนที่ผ่านมา จะเป็นครั้งแรกที่ ครม.มีมติให้ขยายเวลาเพียง 1 เดือน จากเดิมที่มักจะขยายเวลาเป็นระยะ 3 เดือน ซึ่งพรเพ็ญตั้งข้อสังเกตว่า เป็นเพราะมีรัฐบาลใหม่ คือรัฐบาลของเศรษฐา ที่มีพรรคประชาชาติร่วมอยู่ด้วย “ก็เลยน่าจะต่อรองกันได้ว่า ประกาศขยาย 1 เดือน ซึ่งเป็นสิ่งใหม่มาก”
และแม้นายกรัฐมนตรีจะมีประกาศให้ยกเว้นสถานการณ์ฉุกเฉินในบางอำเภอ คือ
- อ.ศรีสาคร อ.สุไหงโก-ลก อ.แว้ง และ อ.สุคิริน ใน จ.นราธิวาส
- อ.ยะหริ่ง อ.มายอ อ.ไม้แก่น อ.กะพ้อ และ อ.แม่ลาน ใน จ.ปัตตานี
- อ.เบตง และ อ.กาบัง ใน จ.ยะลา
แต่พรเพ็ญก็ยังมองว่า “การลดจำนวน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ รายอำเภอ ไม่เป็นประโยชน์กับภาพรวม” แต่เป็นเพียงข้ออ้างที่ใช้ในการบอกว่าสถานการณ์ดีขึ้น เพราะเจ้าหน้าที่ใต้ร่มของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ก็ยังคงเข้าถึงได้ทุกอำเภออยู่ดี นอกจากนี้ การประกาศซ้ำในอำเภอที่ยกเลิกไปแล้ว ยังเป็นสิ่งที่ทำได้ไม่ยาก
สิ่งที่พรเพ็ญอยากเสนอไปยังรัฐบาลเศรษฐา ก็คือ การตั้ง ‘คณะทำงานทบทวน’ (review) ในการพิจารณาการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในช่วง 1 เดือนนี้เป็นการเฉพาะ รวมถึงให้ทบทวนในช่วง 18 ปีที่ผ่านมาด้วยเช่นกัน เพื่อให้เกิดการตรวจสอบถ่วงดุลจากภายนอกขึ้นมา และจะเป็นการให้ข้อมูลสำหรับพิจารณาการต่ออายุครั้งถัดไปในเดือนตุลาคมที่จะถึงนี้ด้วย (ซึ่งมีความสำคัญ เพราะจะมี ‘ผู้บัญชาการเหล่าทัพ’ ชุดใหม่เข้ามาทำงานในเดือนตุลาคมนี้)
เพราะตราบใดที่กฎหมายพิเศษยังบังคับใช้ ก็หมายความว่า ความยุติธรรมยังไม่มาถึงสำหรับเหยื่อที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน
“เจ้าหน้าที่รัฐ ที่เรามีข้อมูลบางส่วนว่าเขาเป็นผู้ก่อเหตุการใช้อาวุธและความรุนแรงต่อประชาชน ไม่เคยมีใครเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมแล้วได้รับบทลงโทษ เราเรียกมันว่า impunity (การลอยนวลพ้นผิด)” คือข้อสังเกตของพรเพ็ญ