“ฟอสซิลที่เก่าแก่ที่สุดที่มนุษย์เคยค้นพบ”
เมื่อวานนี้ (12 มกราคม) นักวิจัยออกมาเปิดเผยถึงการค้นพบซากผิวหนังดึกดําบรรพ์ที่เก่าแก่ที่สุดในโลก ที่ถ้ำหินปูนในโอคลาโฮมา สหรัฐอเมริกา โดยซากผิวหนังดังกล่าวมีอายุประมาณ 289 ล้านปี ซึ่งถูกคาดว่าเป็นสัตว์เลื้อยคลาน
นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยโตรอนโต มิสซิสซอกา ระบุว่า ชิ้นส่วนผิวหนังนี้มีพื้นผิวกรวด ซึ่งคล้ายกับผิวหนังจระเข้ และผิวหนังของสัตว์บก เช่น นก และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม “เป็นการปรับตัวเชิงวิวัฒนาการที่สําคัญในการเปลี่ยนผ่านสู่ชีวิตบนบก”
ทั้งนี้ โดยปกติแล้วผิวหนังถือเป็นส่วนที่สลายตัวเร็วที่สุด แต่บังเอิญว่าสถานที่ที่สัตว์ตัวนี้ตายเป็นถ้ำหินปูน “สภาพในถ้ำนั้นน่าทึ่งมาก” โรเบิร์ต ไรซ์ (Robert Reisz) ศาสตราจารย์ด้านชีววิทยา ที่มหาวิทยาลัยโตรอนโต กล่าว
พร้อมอธิบายเสริมว่า “สัตว์ที่เข้าไปในถ้ำจะอยู่ท่ามกลางตะกอนดินเหนียวละเอียด ซึ่งช่วยชะลอการสลายตัว จากนั้นไฮโดรคาร์บอนที่ไหลผ่านบริเวณนั้นก็ช่วยรักษาสภาพผิวหนังให้ดีขึ้นไปอีก”
“การค้นพบซากผิวหนังดึกดําบรรพ์ที่เก่าแก่เช่นนี้ ถือเป็นโอกาสพิเศษในการมองย้อนกลับไปในอดีต เพื่อศึกษาสัตว์ในยุคนั้น รวมถึงวิวัฒนาการของสัตว์ในยุคปัจจุบันอีกด้วย” นักวิจัยระบุปิดท้าย
อ้างอิงจาก