นี่น่าจะสะท้อนว่าเหล่าแมวใหญ่ อย่างเช่น เสือโคร่ง ชีตาห์ เสือดาว และเซอร์วัล ที่อยู่ในการดูแลของมนุษย์ สามารถแยกแยะได้ว่า ใครเป็นคนเลี้ยงดูพวกมัน ต่างจากภาพจำที่ดูเป็นสัตว์นิ่งเฉยเย็นชา และไม่เข้าสังคม
งานวิจัยของทีมจากมหาวิทยาลัยโอกแลนด์ (Oakland University) และสวนสัตว์ไมอามี (Zoo Miami) เพิ่งได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Zoological Science เมื่อวานนี้ (15 กุมภาพันธ์) หลังค้นพบว่า เหล่าเสือที่อยู่ในการดูแลของมนุษย์ สามารถแยกแยะเสียงคนที่รู้จักกับคนแปลกหน้าได้ – ไม่ต่างจากแมวบ้าน
งานวิจัยไปศึกษากับเสือ 24 ตัว จาก 10 สปีชีส์ ในจำนวนนี้ มี 16 ตัวที่มีมนุษย์เลี้ยงมากับมือ และ 8 ตัวที่ได้รับการเลี้ยงดูโดยแม่ของพวกมัน
ทีมนักวิจัยจะเปิดไฟล์เสียงจากมนุษย์ที่พวกมันไม่คุ้นเคย 3 คน พูดเหมือนกันว่า “Good morning, how are you doing today?” จากนั้นจะเปิดเสียงจากมนุษย์ที่คุ้นเคย เช่น ผู้ดูแล ส่วนไฟล์เสียงสุดท้าย จะกลับมาเปิดเสียงที่ไม่คุ้นเคย พูดประโยคเดียวกันอีก
จากนั้น กระบวนการจะซ้ำเดิมอีกครั้ง โดยเป็นเสียงจากคนกลุ่มเดียวกัน แต่มีการเรียกชื่อของพวกมันเพิ่มเข้ามาด้วย
ทีมวิจัยจะวิเคราะห์จากปฏิกิริยาและพฤติกรรมตอบโต้ของเหล่าแมวใหญ่ เช่น สายตาที่เปลี่ยนไป การขยับหัว หรือการขยับตัวเข้าใกล้หรือออกห่างจากต้นเสียง รวมถึงการส่งเสียงของพวกมันด้วย
ผลการศึกษาพบว่า พวกมันจะมีปฏิกิริยาที่เร็วขึ้น ยาวนานขึ้น และเข้มข้นมากขึ้น ถ้าเป็นเสียงมนุษย์ที่พวกมันคุ้นเคย แตกต่างอย่างเห็นได้ชัดจากเสียงคนแปลกหน้าอีก 4 เสียงที่เหลือ
“ฉันยังเซอร์ไพรส์ว่าผลลัพธ์มันชัดเจนขนาดนั้น” เจนนิเฟอร์ วองก์ (Jennifer Vonk) หนึ่งในนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยโอกแลนด์ กล่าว
ผลการศึกษาสะท้อนอะไรบ้าง? วองก์อธิบายว่า สะท้อนให้เห็นว่า อาจเป็นเพราะสัตว์เหล่านี้มีความจำเป็นที่จะต้องแยกแยะฝูงของตัวเองให้ได้ และรับรู้ว่าใครอยู่ในพื้นที่โดยรอบ และอาจเป็นทักษะที่ช่วยในการรับรู้เสียงเตือนภัยจากสัตว์สปีชีส์อื่นได้
นอกจากนี้ “สำหรับคนทั่วไป มันก็น่าสนใจถ้าเรามองว่า แม้แต่แมวที่ไม่ใช่แมวบ้าน ยังแยกแยะได้ว่าใครเป็นคนดูแลพวกมัน” วองก์กล่าว “มันชี้ให้เห็นว่า พวกมันอาจจะไม่ได้ห่างเหินหรือไม่แยแสมากเท่ากับภาพจำที่พวกมันมี”
อ้างอิงจาก