QUOTE: “มีงานเทศกาล Pride ที่แปลว่าภาคภูมิใจ ก็ไหนว่าเราภาคภูมิใจในความเป็น LGBTQ แล้วเราจะไปเปลี่ยนจากสภาพ LGBTQ ไปเป็น ‘นาย–นางสาว’ ก็เท่ากับว่า เราไม่ได้ภูมิใจกับเพศสภาพกับสถานะที่เราเป็นหรือเปล่า”
เมื่อวานนี้ (21 กุมภาพันธ์) สภาฯ มีมติไม่รับหลักการร่าง พ.ร.บ.คำนำหน้านามตามความสมัครใจฯ ที่เสนอโดยพรรคก้าวไกล โดยระหว่างอภิปรายมีหลายเหตุผล เช่น รอร่างของภาคประชาชนมาประกบให้ครบถ้วน, กังวลการให้เปลี่ยนคำนำหน้าอาจนำมาสู่ความ ‘อลหม่าน’ ต่อหน่วยงานราชการ เป็นต้น
อนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด สส.นครราชสีมา พรรคเพื่อไทย ลุกอภิปรายว่า คนเราสามารถภาคภูมิใจในความเป็นตัวเองได้ เป็นกะเทยก็ภูมิใจได้ และคำว่ากะเทยก็ไม่ใช่คำที่ใช้บูลลี่ หรือฟังแล้วรู้สึกโดนหมิ่นอีกต่อไป เพราะสังคมเปิดกว้างและโอบรับความหลากหลายทางเพศ
“เราจะเป็นชายจริงหญิงแท้ เราจะเป็น LGBTQ เราก็ควรจะภาคภูมิใจในสิ่งที่เราเป็น มีงานเทศกาลที่เขาเรียกว่า Pride ที่แปลว่าภาคภูมิใจ ก็ไหนว่าเราภาคภูมิใจในความเป็น LGBTQ และเราจะไปเปลี่ยนจากสภาพ LGBTQ ไปเป็น ‘นาย–นางสาว’ ก็เท่ากับว่า เราไม่ได้ Pride ไม่ได้ภูมิใจกับเพศสภาพ กับสถานะที่เราเป็นหรือเปล่า” อนุสรณ์ กล่าว
อนุสรณ์กล่าวด้วยว่า หากเปลี่ยนคำนำหน้านามจริง ก็จะต้องมีคนไปติดต่อหน่วยงานราชการเยอะมาก และต้องใช้งบประมาณในการเปลี่ยนข้อมูลและจัดทำเอกสารใหม่ ไม่ว่าจะทะเบียนบ้าน บัตรประชาชน หนังสือเดินทาง ใบขับขี่ หรืออื่นๆ ซึ่งเขาเกรงว่ามันอาจจะ ‘สับสนอลหม่าน’
“ดา เอ็นโดรฟิน ร้องเพลงว่า ไม่รู้จักฉัน ไม่รู้จักเธอ นั่นก็ลำบากแล้ว ถ้าเราเปลี่ยนคำนำหน้านาม มันจะไม่หยุดแค่ไม่รู้จักฉัน ไม่รู้จักเธอ แต่มันจะกลายเป็น ไม่รู้จักชาย ไม่รู้จักหญิง ไม่รู้จัก LGBTQ” อนุสรณ์ ระบุ
อย่างไรก็ดี อัครนันท์ กัณณิกิตตินันท์ สส.เพื่อไทย ร่วมอภิปรายด้วยว่า เพื่อไทยสนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ และทราบว่าจะมีร่างภาคประชาชนที่มีแนวคิดเสนอร่างกฎหมายที่หลักการคล้ายๆ กันอีก 2 ฉบับ จึงขอเสนอให้รอกฎหมายจากภาคประชาชน และภาคส่วนอื่น เพื่อให้มีโอกาสเข้าสู่การพิจารณาพร้อมกัน
“ผมคิดว่ามีความจำเป็นต้องมีการทำงานรับฟังความเห็น ข้อกังวลต่างๆ จากทั้งภาคส่วนที่อยู่ในกลุ่ม LGBTQ และกลุ่มที่ไม่ใช่ LGBTQ เพื่อให้เป็นกฎหมายของคนทุกกลุ่ม ไม่ให้กฎหมายเกิดข้อกังขาว่าอาจจะนำไปสู่การลดทอนสิทธิเสรีภาพของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งหรือไม่” อัครนันท์ ระบุ
ทั้งนี้ เนื้อหาร่างคำนำหน้านามของก้าวไกลกำหนดให้บุคคลขอรับรองเพศและสามารถใช้คำนำหน้าได้ตามเพศสภาพที่ตนขอรับรองไว้ โดยทำได้ตั้งแต่อายุ 18 ปีขึ้นไป แต่หากต่ำกว่า 18 ปีจะต้องได้รับความยินยอมจากพ่อแม่ และต้องได้เอกสารรับรองจาก ‘จิตแพทย์’ ด้วย
ซึ่งประเด็นนี้ทำให้ร่างของพรรคก้าวไกลถูกวิพากษ์วิจารณ์ด้วยว่า ทำไมถึงต้องใช้จิตแพทย์รองรับ นี่คือการสะท้อนทัศนคติว่าผู้มีความหลากหลายทางเพศ ‘ผิดปกติ’ หรือไม่ อย่างไร
อ้างอิงจาก
https://www.youtube.com/watch?v=hpb9Jax4Emc
https://www.ilaw.or.th/articles/6232