กลางเดือนมีนาคม 2024 University Of Zurich (UZH) มหาวิทยาลัยที่ใหญ่ที่สุดในสวิตเซอร์แลนด์ ประกาศถอนตัวจากการจัดอันมหาวิทยาลัยระดับโลก โดยบอกว่าจะไม่ให้ข้อมูลกับ Times Higher Education (THE Ranking) อีกต่อไป
เว็บไซต์ของ UZH ประกาศถึงสาเหตุที่ออกจากการจัดอันดับนี้ว่า เกณฑ์ที่นำไปใช้จัดอันดับ มักมาจากสิ่งที่วัดได้ชัดเจนหรือข้อมูลเชิงปริมาณ เช่น จำนวนงานวิจัยที่ได้ตีพิมพ์ แต่กลับไม่ได้นำเรื่องคุณภาพการสอนหรือข้อมูลเชิงคุณภาพไปวัดด้วย ทำให้มหาวิทยาลัยชั้นนำที่อยากติดอันดับอาจไปใส่ใจกับจำนวนมากกว่าคุณภาพ ซึ่งขัดแย้งกับแนวทางความตั้งใจในการพัฒนาการศึกษาของ UZH จึงตัดสินใจไม่ให้ข้อมูลเพื่อจัดอันดับอีกต่อไป
ย้อนกลับไปเมื่อปี 1995 Reed College ในสหรัฐอเมริกาก็เคยตัดสินใจเลิกให้ข้อมูลกับการจจัดอันดับ U.S. News and World Report และจนกระทั่งปี 2007 ด้วยความร่วมมือของ Education Conservancy และอธิการบดีของวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยรวม 12 แห่ง ได้ส่งจดหมายขอความร่วมมือถึงมหาวิทยาลัยต่างๆ ไม่ให้ส่งข้อมูลเพื่อจัดอันดับอีก เพราะการจัดอันดับนั้นล้วนเป็น ‘การตลาด’ ที่ดึงคนเข้ามาสมัครเรียนทั้งสิ้น
หรือแม้แต่มหาวิทยาลัยชื่อดังอย่างฮาร์วาร์ดและเยลก็เช่นกัน ในปี 2023 George Q. Daley คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ระบุว่า การจัดอันดับเป็นการสร้างแรงจูงใจแบบผิดๆ โดยสถาบันการศึกษาควรนำทุนไปสนับสนุนนักศึกษามากกว่ากระตุ้นยอดการจัดอันดับ และในปี 2022 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเยล ได้ประกาศถอนตัว ด้วยเหตุจากการจัดอันดับส่งผลต่อเกณฑ์พิจารณานักศึกษาโดยเน้นแต่คะแนนสอบเป็นหลัก
การจัดอันดับเหล่านี้ ในแต่ละที่อาจมีเกณฑ์ที่ต่างกันออกไปแต่ก็มีความคล้ายคลึงกัน โดยยกตัวอย่างของ THE Ranking จะดูจาก ด้านวิชาการ (การเรียนกาสอน, อัตราส่วนระหว่างผู้เรียนกับผู้สอน ฯลฯ), ด้านสภาพแวดล้อมของการวิจัย (ชื่อเสียง รายได้ ผลผลิต), ด้านคุณภาพการวิจัย (การถูกนำไปอ้างอิง อิทธิพล), ด้านอุตสาหกรรม (รายได้ การจดสิทธิบัตร) และด้านมุมมองระหว่างประเทศ (สัดส่วนนักเรียนและบุคลากรนานาชาติ และการทำงานร่วมกันระหว่งประเทศ) เก็บข้อมูลจากงานวิจัยที่ได้ตีพิมพ์ และการตอบแบบสำรวจจากนักวิชาการ
Jonathan Burdick รองอธิการบดีที่ Cornell University ชี้ให้เห็นข้อผิดพลาดของการจัดอันดับมหาวิทยาลัยว่า “วิธีการนี้ไม่แม่นยำพอที่จะชี้แนวทางให้ผู้สมัคร และไม่ช่วยในการตัดสินใจ” นอกจากนั้น การจัดอันดับแบบดูรวมทั้งมหาวิทยาลัยแทนที่จะเจาะดูที่แต่ละสาขา คณะ ยิ่งทำให้การจัดอันดับผิดเพี้ยนไปจากความเป็นจริงได้
นอกจากนั้น เรายังไม่สามารถแน่ใจได้อีกว่ามหาวิทยาลัยจะไม่บิดเบือนข้อมูลก่อนส่งไปจัดอันดับ เพื่อให้ตัวเองได้อันดับสูงๆ อย่างในปี 2022 Moshe Porat อดีตหัวหน้าภาควิชาธุรกิจแห่ง Temple University ในฟิลาเดลเฟีย ถูกตัดสินจำคุก 14 เดือน ฐานให้ข้อมูลเท็จแก่การจัดอันดับ U.S. News and World Report
อย่างไรก็ดี อัลเลน โกห์ (Allen Koh) ผู้บริหารระดับสูงของบริษัท Cardinal Education ในแคลิฟอร์เนีย มองว่าการจัดอันดับยังมีความสำคัญต่อการตัดสินใจของว่าที่นักศึกษา และแม้ว่าจะมีการประท้วงไม่เข้าร่วมการจัดอันดับ การจัดอันดับก็จะยังคงอยู่ต่อไป และจะยังมีคนให้ความสำคัญกับอันดับเหล่านี้อยู่ดี ทั้งจากมหาวิทยาลัยเองที่จะพยายามไปอยู่ในอันดับสูงๆ และคนภายนอกที่มองเข้ามา
สำหรับในไทย ในโซเชียลมีเดียก็มีข้อถกเถียงถึงการจัดอันดับมหาวิทยาลัยอยู่เรื่อยๆ เช่นกัน ทั้งจัดอันดับเองหรือนำมาจากระดับโลก ซึ่งก็พบปัญหาในลักษณะเดียวกันคือเกณฑ์การวัด และหากใช้เกณฑ์ต่างกันเล็กน้อย ก็ทำให้อันดับต่างกันไปเลย แต่เมื่อมีการเผยแพร่การจัดอันดับ ก็ยังมีคนให้ความสนใจอยู่เสมอ ทั้งมหาวิทยาลัยต่างๆ เองที่นำมาเผยแพร่ต่อ รวมถึงโดยศิษย์เก่า นิสิตนักศึกษาปัจจุบัน หรือจากนักเรียนมัธยมปลายที่กำลังมองหามหาวิทยาลัยต่างๆ
ดังนั้นเมื่อมีมหาวิทยาลัยต่างประเทศเริ่มออกมาถอนตัวจากการจัดอันดับมากขึ้นเรื่อยๆ จึงต้องติดตามต่อไปว่ามหาวิทยาลัยต่างๆ ทั้งในไทยและเทศจะขยับตามอย่างไรบ้าง และคุณค่าของมหาวิทยาลัยที่แท้จริงควรวัดจากผลงานวิจัย หรือคุณภาพการศึกษาและคุณภาพชีวิตของคนภายในที่ควรพัฒนาเพิ่ม
อ้างอิงจาก