ประสบการณ์เปลี่ยนชีวิต เซอร์ไพรส์เราด้วยความเล็กน้อยและเงียบเชียบของมันเสมอ
ย้อนกลับไปในวัยที่เรายังเด็กกว่านี้ วัยที่เราเชื่ออย่างผิดๆ ว่าโลกไม่เหลืออะไรจะสอนเราได้อีกต่อไป ความเจ็บปวดที่สุดที่เราเจอได้ คือเวลาเพื่อนไปนอนค้างบ้านกัน แต่เราต้องขอกลับไปนอนบ้านตัวเอง วัยที่ฤดูหนาวยังหนาว ฤดูร้อนเป็นเพียงวันแดดแรงอันยาวนาน และเราก็มีกำลังพอจะออกไปเที่ยวเล่นข้างนอก โดยไม่ต้องกลัวผิวจะคล้ำไหม้ หรือวิงเวียนจะเป็นลม ลองนึกภาพไปถึงวันแบบนั้น วันที่ลมอุ่นพากลิ่นแดดกระทบดินและใบหญ้ามาหาเรา
หลังจากการออกไปปั่นจักรยานในละแวกบ้านมาจนเหงื่อโทรมกาย เรากลับบ้านก่อนตะวันตกดิน เพราะนั่นเป็นสิ่งที่พ่อบอกก่อนจะอนุญาตให้เราออกไปเล่น แม่ออกไปทำธุระแล้วจะซื้อของมาทำข้าวเย็น เราเดินผ่านโถงไปห้องครัว เพื่อล้างหน้าล้างตาและหาน้ำดื่มเย็นๆ ผลุบมองห้องรับแขก บ้านที่เงียบกว่าวันปกติ ชั้นล่างของบ้านไฟปิดอยู่ทุกห้องราวกับไม่มีคนอยู่ และพ่อก็ไม่ประจำตัวอยู่หน้าโทรทัศน์ตามปกติ แต่จะมีอะไรในเมื่อนี่คือวันหยุด เราคิดก่อนจะเดินไปยังห้องของตัวเอง เพื่อเตรียมเสื้อผ้าก่อนไปอาบน้ำ นั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้นและเปลี่ยนบางอย่างในเรา
เคยอยู่บ้านแล้วได้ยินเสียงอะไรที่ไม่เคยได้ยินหรือเปล่า? บางครั้งเป็นเสียงกระทบพื้นของสิ่งของบางอย่างในความมืด ที่เราไม่กล้าไปดูว่าคืออะไร บางครั้งมันอาจเป็นแมวนอกบ้านที่โดดไปมาบนหลังคา ความกลัว คือเสียงที่ไม่มีชื่อในบ้านมอบให้เรา แต่ครั้งนี้ต่างไป เพราะว่าระหว่างทางเดินไร้ไฟไปยังห้องของเรา ประตูห้องนอนของพ่อและแม่กลับแง้มอยู่น้อยๆ ให้แสงไฟบอกเราว่ามีใครสักคนอยู่ในห้องนั้น และเสียงที่เราไม่เคยได้ยินก็ค่อยๆ พรั่งพรูออกมาจากแสงไฟในห้องนั้น
เสียงสะอื้นของพ่อนั่นเอง
เราร้องไห้มาหลายครั้งในชีวิต เราเห็นเพื่อนของเราร้องไห้บ่อยๆ ที่โรงเรียน เราเห็นเด็กคนอื่นร้องไห้ในห้าง ในร้านอาหาร แต่ครั้งนี้มันไม่เหมือนครั้งไหนๆ อย่างบอกไม่ถูก เรายืนฟังอยู่สักพักด้วยใจกล้าๆ กลัวๆ ที่จะเดินเข้าไปถามว่าพ่อเป็นอะไรหรือเปล่า ก่อนจะตัดสินใจเดินไปยังห้องตัวเองแล้วไปอาบน้ำตามที่ตั้งใจไว้ แต่มวลน้ำกลับมาพร้อมกับความครุ่นคิดเสมอ หลังจากอาบน้ำเสร็จ เราก็เดินออกมาจากห้องน้ำ ทว่าเสียงสะอื้นของพ่อไม่อยู่เสียแล้ว ไฟในบ้านเปิดขึ้น และพ่อปรากฏตัวอยู่หน้าโทรทัศน์ นัยน์ตาของพ่อเศร้าอย่างไม่อาจซ่อนไว้ตลอดมื้อเย็น ไม่ปริปากสักคำ พ่อร้องไห้เป็นด้วยเหรอ อยู่มาวันหนึ่งโลกหยิบยื่นอะไรมาสอนเรา
เราแต่ละคนคงมีประสบการณ์คล้ายๆ แบบนี้ การบังเอิญเห็นผู้ชายสักคนร้องไห้เป็นครั้งแรกในชีวิต มักเป็นเหมือนการไขกลอนประตูที่เราไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามีอยู่ ประตูที่เมื่อเปิดออกจะนำมาพร้อมกันซึ่งความสำนึกได้ว่า เราไม่เคยเห็นผู้ชายร้องไห้มาก่อนเลย หรือเราในฐานะผู้ชายก็ไม่เคยร้องไห้ให้ใครเห็นเช่นกัน บ่อยครั้งในความคิดของเราแทบจะไม่สามารถเชื่อมโยงผู้ชายและความเป็นชาย เข้ากับน้ำตาและความโศกเศร้าได้อย่างไม่รู้ตัว โดยที่เรารู้ดีว่าในระดับหนึ่ง เราทุกคนต่างรู้สึกอะไรสักอย่างอยู่ข้างในแน่ๆ
หรือว่าเราเกิดมาเพื่อจะไม่ร้องไห้?
แม้ว่าเราจะอยู่กับมันทุกๆ วัน เราเข้าใจการทำงานของร่างกายเราเพียงผิวเผิน เมื่อพูดถึงการร้องไห้ เราเข้าใจว่าเราอาจร้องไห้เพราะเศร้า ซึ้ง หรือตื้นตัน แต่การทำงานเบื้องลึกเบื้องหลังของมันนั้น เป็นสิ่งที่อยู่นอกสายตาของเรามากเหลือเกิน เพราะเมื่อใช้ชีวิต น้อยครั้งที่เราจะถามว่าน้ำตาของเราทำหน้าที่อะไร หรือการร้องไห้แต่ละแบบต่างกันหรือไม่ อย่างไรก็ตาม หนึ่งในคำตอบของคำถามว่า ทำไมผู้ชายร้องไห้ยาก อาจมาพร้อมกับการถามถึงชีววิทยาเบื้องหลังการร้องไห้
ในบทความวิชาการ The neurobiology of human crying โดยลอเรน บิลสมา (Lauren Bylsma) จากคณะจิตเวช มหาวิทยาลับพิตต์สเบิร์ก เป็นบทความที่รวมการศึกษาค้นคว้าก่อนหน้าเกี่ยวกับที่มาที่ไป และหน้าที่ของการร้องไห้จากอารมณ์ (Emotional Crying) ด้วยมุมมองประสาทชีววิทยา
กล่าวสรุปภาพรวมของบทความ การร้องไห้จากอารมณ์ถือเป็นมรดกที่เราได้รับมาจากการวิวัฒนาการ เริ่มแรกมันมาในรูปแบบของการส่งสัญญาณแจ้งเหตุร้าย ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่มีอยู่ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเกือบทุกชนิด อย่างไรก็ดี การร้องไห้ด้วยอารมณ์นั้นกลับพบเพียงในมนุษย์ และยังแตกต่างจากสัตว์อื่นๆ ทั้งในเชิงลักษณะและวัตถุประสงค์ของมัน นั่นคือในขณะที่สัตว์อื่นจะร้องไห้เพียงในวัยทารก แต่มนุษย์และสุนัขเป็นสัตว์ที่จะร้องไห้ไปจนวัยผู้ใหญ่ ซึ่งการร้องไห้ของมนุษย์เมื่อพวกเขาเติบโตขึ้น ก็จะให้ความสำคัญไปยังน้ำตามากกว่าเสียงร้อง
ในแง่วัตถุประสงค์ ผู้เขียนยกงานวิจัยอีกชิ้นชื่อ Why Only Humans Shed Emotional Tears: Evolutionary and Cultural Perspective โดยอัสเมียร์ กราซานิน (Asmir Gracanin) จากคณะแพทยศาสตร์และจิตวิทยาคลินิก มหาวิทยาลัยทิลเบิร์กขึ้นมา ซึ่งผู้เขียนยกบทสรุปของกราซานินออกมาว่า สาเหตุที่มนุษย์เติบโตมาและร้องไห้ผ่านน้ำตามากกว่าเสียง เป็นเพราะว่าการร้องไห้โดยไร้เสียงนั้น คือกลวิธีที่เรียกร้องความช่วยเหลือจากใครสักคนที่อาจต้องการช่วยเหลือเรามากที่สุด ดีกว่าการร้องไห้แบบออกมาทางเสียง ซึ่งอาจนำมาซึ่งความสนใจของคนแปลกหน้าหรือเหยื่อด้วย กราซานินจึงกล่าวโดยสรุปว่า การร้องไห้ด้วยอารมณ์ เป็นการกระทำที่สามารถเสริมสร้างสายใยทางสังคมได้
เมื่ออ่านมาถึงจุดนี้ สิ่งที่เราอาจคิดกับตัวเองคือ ถ้าการร้องไห้มีหน้าที่สำคัญขนาดนั้น ทำไมครึ่งหนึ่งของประชากรโลกถึงได้ร้องไห้ยากขนาดนั้น? เมื่อเลื่อนลงมาในหัวข้อ ‘Neurochemistry of Vocal Emotional Crying’ ผู้เขียนมองการร้องไห้ผ่านมุมของประสาทชีวเคมีเบื้องหลังการร้องไห้ ซึ่งอธิบายการสร้างสายใยทางสังคมเพิ่มเติมว่า การร้องไห้นำไปสู่การหลั่งออกซิโทซิน ฮอร์โมนแห่งรักที่เกี่ยวข้องกับการผูกมิตร แต่ส่วนที่น่าสนใจคือ การเล่าว่าฮอร์โมนเพศของมนุษย์นั้นมีผลกระทบต่อความถี่ที่มนุษย์คนหนึ่งจะร้องไห้
ในหัวข้อนี้ผู้เขียนได้วาดภาพภูมิทัศน์การวิจัยว่า ในตอนแรกงานวิจัยจำนวนมากสันนิษฐานว่า ความถี่ในการร้องไห้ที่ต่างกันระหว่างผู้ใหญ่เพศหญิงกับเพศชายนั้น มาจากความต่างของฮอร์โมนโพรแลกตินในเพศหญิง แต่หลังจากงานวิจัยวัดได้ว่า พฤติกรรมการร้องไห้ของผู้หญิงที่ไม่มีประจำเดือนแล้ว ไม่ได้แตกต่างไปจากผู้หญิงผู้ยังมีประจำเดือนอยู่ ข้อสันนิษฐานดังกล่าวจึงถูกตีตกไป แต่จากการเปรียบเทียบการร้องไห้ของสัตว์เพศชายที่ทำหมันแล้ว รวมกับการสังเกตการณ์การร้องไห้ของหญิงข้ามเพศผู้รับยาต้านฮอร์โมน พบว่าสมมติฐานเรื่องฮอร์โมนเพศชาย หรือเทสโทสเตอโรนมีส่วนช่วยยับยั้งการร้องไห้ได้นั้นเป็นจริง
อย่างไรก็ดี การร้องไห้มีมิติมากยิ่งไปกว่าประเด็นร่างกาย เพราะปัจจัยทางสังคมและวัฒนธรรมยังส่งผลกระทบต่อการร้องไห้ด้วย
เพศ สังคม การร้องไห้ และการเก็บงำความรู้สึก
หากเรารู้กันไปแล้วว่าการร้องไห้เป็นเรื่องของสายใยทางสังคม การพูดคุยเกี่ยวกับสังคมและวัฒนธรรมก็เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ตัวอย่างของการพูดคุยดังกล่าวมาในงานวิจัย Culture and Crying: Prevalences and Gender Differences โดยไดแอน ฟาน เฮร์เมิต (Dianne van Hermert) นักวิจัยจากศูนย์วิจัย Netherlands Organization for Applied Scientific Research เป็นงานวิจัยที่พาเราไปเรียนรู้เกี่ยวกับการร้องไห้ของคนจาก 37 ประเทศ เพื่อเปรียบเทียบความแตกต่างในพฤติกรรมการร้องไห้จากหลายๆ วัฒนธรรม
สรุปออกมาสั้นๆ ได้ว่า ยิ่งเป็นประเทศที่มีสภาพคล่องทางการเงินดี เป็นประชาธิปไตย เปิดรับความหลากหลาย และมีความเป็นปัจเจกมาก คนในประเทศมีโอกาสที่กล้าจะร้องไห้มากกว่า โดยผู้วิจัยชี้ให้เห็นว่าปัจจัยทั้งหมดข้างต้น เป็นตัวชี้วัดเสรีภาพในการแสดงออกของผู้คน นั่นหมายความว่าบรรทัดฐานทางสังคมนั้นส่งผลต่อการร้องไห้อย่างแน่นอน
- ทำไมผู้ชายถึงร้องไห้ยาก?
- เขาจะอยากร้องไห้ได้อย่างไร ในเมื่อเขาถูกสอนว่าเด็กดีต้องไม่ร้องไห้?
- จะร้องไห้ได้อย่างไร เมื่อในวัยเด็กเขาถูกสอนว่า เขาจำเป็นต้องเป็นคนที่แบกรับหน้าที่หัวหน้าครอบครัวและเลี้ยงดูผู้คนในบ้าน?
- จะร้องไห้ได้ยังไง เมื่อเราบอกว่าร้องไห้คือเป็นตุ๊ด ในห้วงเวลาที่เขาต้องการเรียนรู้เกี่ยวกับความเป็นชาย?
- จะร้องไห้ได้ยังไง เมื่อเขาถูกสอนว่าความแข็งแรง ความกล้าหาญ เกียรติยศ คือสิ่งดี แล้วให้พวกเขาทึกทักไปเองว่าการมีชีวิตแบบอื่นๆ สำหรับผู้ชายคือไม่ดี?
สิ่งที่เรายกตัวอย่างไปข้างต้น คือลักษณะของความเป็นชายตามขนบ หรือ Traditional Masculine Ideology (TMI) “ความเชื่อที่แข็งทื่อ เหยียดเพศ และโบราณ เกี่ยวกับวิธีการที่ผู้ชายต้องคิด รู้สึก และปฏิบัติตัว” นิยามโดยนิโคลัส บอร์โกน่า (Nicholas Borgogna) นักจิตวิทยา จากมหาวิทยาลัยเท็กซัส ผ่านงานวิจัยของเขาชื่อ Is Traditional Masculinity Ideology Stable Over Time in Men and Women?
“ครอบครอง ตรงเพศ เลี่ยงความเป็นหญิง พึ่งพาตัวเอง จำกัดความรู้สึก กำยำ และแสดงออกทางเพศอย่างเปิดเผย” นี่คือลักษณะความเป็นชายตามขนบออกที่บอร์โกน่าแจกแจงออกมาให้เราเห็น แม้ว่ามองโดยผิวเผิน ความเป็นชายรูปแบบนี้ช่างดูมีมิติเดียวและโบราณเหลือเกิน อาจไม่มีใครเป็นแบบนั้นหรอก แต่มองไปไม่ไกลนัก คือหนึ่งในกลุ่มแชตที่สอนเรื่องความเป็นชายแท้ เราจะเห็นว่าในการสอนความเป็นชายที่ควรเป็นของสังคมเรา ไม่เคยหลุดลอยออกไปไกลจากนี้นัก มีแต่จะหนักขึ้นเสียด้วยซ้ำ
มิหนำซ้ำ หากเรามองเรื่องนี้ในระดับสังคมชายเป็นใหญ่ที่โลกนี้เป็น การมองว่าความเป็นชายนั้นดีที่สุด ก็อาจเถียงได้ว่าสังคมนี้มองลักษณะของความเป็นชายแบบมีแต่ข้อดีไปโดยปริยาย ทั้งการพึ่งพาเพียงตัวเอง ความแข็งแกร่ง หรือความไม่รู้สึก เรื่องเหล่านั้นกลายเป็นดีในตัวเอง โดยที่เราไม่ได้มองไปยังผลกระทบในแง่ลบของมัน ที่พาให้คนจำนวนมากโดดเดี่ยว ซึมเศร้า และรุนแรง
ไม่มีใครเสียผลประโยชน์ในโลกที่เราทุกคนรู้สึก
การเก็บงำความรู้สึกเป็นปัญหาที่เราทุกคนอาจเคยพบเจอสักครั้งในชีวิต แต่หากสถิติการจบชีวิตตัวเอง ปัญหาความรุนแรงในสังคม โรคซึมเศร้า ฯลฯ อาจบอกอะไรเราได้ เพราะปัญหาดังกล่าวเชื่อมโยงเข้ากับความเป็นชายโดยตรง จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อเราบอกคนกลุ่มหนึ่งว่า หนึ่งในการกระทำเพื่อเสริมสร้างสายใยทางสังคมเป็นสิ่งที่เขาไม่ควรทำ บอกเขาว่าการจะถือครองตัวตนทางเพศของเขาได้ แลกมากับสังคมที่ไม่สนับสนุนให้เขาร้องไห้ และร้องเรียกความสนใจจากคนใกล้ตัว
แน่นอนว่าเรื่องชีววิทยามีผล แต่สังคมและการเลี้ยงดูก็ส่งผลกระทบมากเช่นกัน ทางออกของปัญหาจึงไม่ใช่การแค่บอกว่า “ก็แค่รู้สึกสิ” “ก็แค่เป็นตัวเอง” หรือ “ก็แค่หาจิตแพทย์” เนื่องจากนั่นเป็นเพียงการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าในระดับบุคคล แต่ในระยะยาว เราอาจต้องมองสังคมโดยรวม แล้วถามว่าอะไรกันนะที่ห้ามไม่ให้เรารู้สึกอะไรสักอย่าง
ใครจะรู้ วันหนึ่งผู้ชายเองก็อาจจะรู้ตัวได้ว่า เราเองก็ยังมีเรื่องที่ต้องขับเคลื่อนเหมือนเพศอื่นๆ
อ้างอิงจาก