ในช่วงที่ผ่านมา หลายคนคงเห็น #AllEyesonRafah แฮชแท็กที่ทั่วโลกพร้อมใจกันใช้ เพื่อแสดงจุดยืนว่าจะไม่ละสายตาจากเหตุการณ์ความรุนแรงในเมือง ‘ราฟาห์ (Rafah)’ หรือเมืองทางตอนใต้ของฉนวนกาซา (Gaza Strip) ปาเลสไตน์ ที่ถูกกองทัพอิสราเอล (Israel Defense Forces หรือ IDF) โจมตีทางอากาศเมื่อไม่นานมานี้
สาเหตุที่แฮชแท็กดังกล่าวกลายเป็นกระแสทั่วโลกออนไลน์ภายในชั่วข้ามคืน เพราะเมืองนี้เป็นเหมือนที่พักพิง ‘แห่งสุดท้าย’ ของผู้อพยพราว 1.4 ล้านคน ในฉนวนกาซา โดยการโจมตีดังกล่าวได้คร่าชีวิต คนชรา ผู้หญิง และเด็กจำนวนมาก และนั่นอาจหมายความว่า นับต่อจากนี้จะไม่มีพื้นที่หลบภัยในฉนวนกาซาอีกต่อไป
เกิดอะไรขึ้นในราฟาห์?
“เรากำลังพาเด็กๆ เข้านอน ตอนนั้นทุกอย่างดูปกติ ทันใดนั้นเราได้ยินเสียงดังมากๆ แล้วไฟก็ปะทุรอบตัวเรา […] เด็กๆ ทุกคนเริ่มกรีดร้อง เสียงนั้นช่างน่าสะพรึงกลัว เรารู้สึกเหมือนโครงเหล็กของบ้านกำลังจะถล่มใส่เรา และเศษกระสุนก็ตกลงมาในห้อง” อุมม์ โมฮาเหม็ด อัล-อัตตาร์ (Umm Mohamed Al-Attar) ผู้เป็นแม่ชาวปาเลสไตน์ บอกกับสำนักข่าวรอยเตอร์ (Reuters) ถึงเหตุการณ์ในค่ำคืนที่เมืองราฟาห์ถูกโจมตี
สถานการณ์ในราฟาห์เริ่มตึงเครียดขึ้นเมื่อ วันที่ 26 พฤษภาคมที่ผ่านมา เมื่อกองทัพอิสราเอลโจมตีทางอากาศบริเวณตอนเหนืองของเมือง ซึ่งเป็นพื้นที่ค่ายผู้ลี้ภัยจากฉนวนกาซา โดยไม่มีการแจ้งเตือนให้อพยพล่วงหน้า สื่อของกาซารายงานว่าอิสราเอลทิ้งระเบิดหนัก 900 กิโลกรัม จำนวน 7 ลูก รวมถึงขีปนาวุธ ทำให้ที่พักพิงหลายแห่งเกิดเพลิงไหม้ทันที ทั้งที่ยังมีคนผู้อาศัยข้างใน ภายหลังเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ของปาเลสไตน์เปิดเผยว่ามีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 45 คน และในจำนวนนั้นอย่างน้อย 23 คน เป็นคนชรา ผู้หญิง และเด็ก
เพียงสองวันหลังการโจมตีค่ายผู้ลี้ภัย (28 พฤษภาคม 2024) อิสราเอลโจมตีเมืองราฟาห์อีกครั้ง โดยบริเวณที่ได้รับความเสียหายส่วนมากเป็นเต็นท์ชั่วคราวที่เต็มไปด้วยคนชรา ผู้หญิง และเด็ก เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้มีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 21 คน และอย่างน้อย 12 คนเป็นผู้หญิง รวมถึงมีผู้บาดเจ็บถึง 64 คน
ทั้งสองเหตุการณ์สร้างความเสียหายอย่างรุนแรงให้กับผู้บริสุทธิ์ เนื่องจากราฟาห์นับเป็นค่ายผู้ลี้ภัยที่สำคัญ ซึ่งคนจำนวนมากย้ายจากบริเวณอื่นๆ เพื่อมาอยู่ในพื้นที่บริเวณดังกล่าวโดยคิดว่าปลอดภัย ดังนั้นราฟาห์จึงมีผู้อาศัยที่เป็นคนชรา ผู้หญิง และเด็ก โดย UN Women พบว่า 7 เดือนหลังจากสงครามระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์เริ่มขึ้น (7 ตุลาคม 2023) จำนวนประชาชนในราฟาห์เพิ่มขึ้นถึง 5 เท่า จาก 250,000 คน เป็น 1.4 ล้านคน และในนั้นมีผู้หญิงราว 700,000 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ลี้ภัยจากบริเวณอื่นๆ ในฉนวนกาซา
ผู้หญิงใช้ชีวิตในราฟาห์กันอย่างไร?
“ความเจ็บปวดและความกลัวครอบงำชีวิตของเรา นี่เป็นบทสนทนาที่ฉันไม่แม้แต่อยากจะพูดถึง แต่ตอนนี้ฉันกลับพบว่าตัวเองติดอยู่ในห้วงความคิดที่ไม่มีสิ้นสุด ฝันร้ายที่ไม่มีจุดจบ และชีวิตแห่งความทรมาน” อามานี่ อัล ดาร์บี (Amani Al Derbi) ให้สัมภาษณ์กับ UN Women
เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกาน 2023 UN Women ได้ถ่ายทอดเรื่องราวของอามานี่ นักจิตบำบัดวัย 34 ปี ที่ทำงานในกระทรวงสาธารณสุขกาซา โดยเธอได้อพยพไปอยู่ที่ราฟาห์ ซึ่งขณะนั้นยังเป็นพื้นที่ปลอดภัยที่ไม่มีการบุกรุกจากกองทัพอิสราเอล
เธอมุ่งมั่นทำงานเพื่อช่วยเยียวยาจิตใจผู้คนที่บอบช้ำจากความขัดแย้งที่ดำเนินมานานหลายปี พร้อมๆ กับทำหน้าที่ ‘แม่’ ที่คอยปกป้องลูกๆ ทั้งสี่คน ไปด้วย อามานี่ก็เหมือนคนอื่นๆ ที่มีความฝันในชีวิต โดยเป้าหมายของเธอคือได้รับทุนการศึกษาเพื่อเรียนต่อปริญญาเอก
ในฐานะของผู้เป็นแม่ เธอต้องทนเห็นลูกชายคนโตเริ่มทอดทิ้งความฝันที่จะเป็นทนาย เนื่องจากความหวังในอนาคตค่อยๆ เลือนหายไปจากการใช้ชีวิตท่ามกลางความขัดแย้งอันยาวนาน
“ภายใต้เงามืดมิดของสงคราม ความฝันและแรงบันดาลใจของลูกๆ ได้หลอมรวมเหลือเพียงคำวิงวอนอันแรงกล้าเพียงประการเดียว คือขอแค่มีชีวิตรอด” เธอแสดงความห่วงใยอนาคตของลูกๆ รวมถึงเด็กๆ นับล้านคนในปาเลสไตน์
ไม่นานหลังจากอพยพไปอาศัยในราฟาห์ เมื่อเช้าตรู่ของวันที่ 7 พฤษภาคม 2024 อิสราเอลได้โจมตีเมืองทางอากาศ และคร่าชีวิตของเธอและลูกๆ ทั้งสี่ ทำให้ครบครัวของเธอตอนนี้เหลือเพียงสามีที่บาดเจ็บสาหัส
UN Women รายงานผลสำรวจ เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2024 เกี่ยวกับผลกระทบทางร่างกายและจิตใจของผู้หญิงในพื้นที่ราฟาห์ โดยนับตั้งแต่สงครามเริ่มต้นขึ้น พบว่าผู้หญิงมากกว่า 10,000 คน ถูกสังหารในฉนวนกาซา และในจำนวนนี้มีผู้เป็นแม่กว่า 6,000 คนที่ต้องทิ้งลูกเป็นเด็กกำพร้าไว้ข้างหลังถึง 19,000 คน
ในด้านจิตใจ พบว่าผู้หญิงในราฟาห์ 93% มีความรู้สึกไม่ปลอดภัยในบ้านของตัวเอง อีกทั้งผู้หญิงมากกว่า 80% กล่าวว่ารู้สึกซึมเศร้า ในขณะนี้ 66% มีปัญหานอนไม่หลับ และมากกว่า 70% กำลังเผชิญกับความวิตกกังวล
ในด้านร่างกาย ผู้หญิง 51% มีอาการป่วยที่ต้องได้รับการดูแลทางการแพทย์อย่างเร่งด่วน โดย 62% ไม่สามารถจ่ายค่ารักษาพยาบาลที่จำเป็นได้ ทั้งนี้ผู้หญิงที่ถูกสัมภาษณ์มากกว่า 6 ใน 10 คน เป็นผู้หญิงที่กำลังตั้งครรภ์หรือตั้งครรภ์ตั้งแต่วันเริ่มต้นสงคราม
แล้วทำไมอิสราเอลถึงโจมตีเมืองพักพิงของผู้ลี้ภัย?
สำนักข่าวบีบีซี (BBC) รายงานว่า กองทัพอิสราเอลกล่าวว่าการโจมตีครั้งล่าสุด (28 พฤษภาคม 2024) มีเป้าหมายเพื่อฆ่าสมาชิกอาวุโสของกลุ่มฮามาส (Hamas) จำนวนสองคน และหลังจากนั้น เบนจามิน เนทันยาฮู (Benjamin Netanyahu) หรือนายกรัฐมนตรีของอิสราเอล ได้ยอมรับว่าการโจมตีดังกล่าวที่ทำให้พลเรือนจำนวนมากได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต เป็น ‘ความผิดพลาด’ อันน่าสลดใจ และเสริมอีกว่าทางกองทัพอิสราเอลได้พยายามอย่างเต็มที่ ที่จะไม่ทำร้ายผู้ที่ไม่เกี่ยวข้อง และทางการกำลังสืบสวนเหตุการณ์ดังกล่าว
‘ความผิดพลาด’ ที่คร่าชีวิตคนบริสุทธิ์
คำพูดของเนทันยาฮู อาจทำให้หลายๆ คนสับสน เมื่อเขาเรียกการโจมตีทางอากาศที่ได้ ‘วางแผน’ เพื่อทิ้งระเบิดหลายลูกในบริเวณค่ายผู้ลี้ภัย และคร่าชีวิตคนบริสุทธิ์ รวมถึงคนชรา ผู้หญิง และเด็กหลายสิบคน ว่า ‘ความผิดพลาด’ คำพูดดังกล่าวอาจเกิดเป็นคำถามค้างคาใจใครหลายๆ คน ว่าชีวิตมนุษย์หลายสิบคนในราฟาห์ มีค่าน้อยกว่าความผิดพลาดได้อย่างไร?
เมืองราฟาห์ ไม่ใช่แค่ค่ายผู้ลี้ภัยของชาวปาเลสไตน์ แต่เป็นเหมือนบ้านหลังใหม่ของคนกว่าล้านคน รวมถึงผู้หญิงจำนวนมาก ที่ต้องจากบ้านเกิด จากครอบครัว จากเพื่อนฝูง และจากความฝันตัวเอง มาอาศัยในเต็นท์แออัด ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นสถานที่ปลอดภัย การทำลายบ้านของพวกเขาในครั้งนี้ อาจไม่ต่างจากการทำลายชีวิตของคนบริสุทธิ์อีกครั้ง และคนกว่าล้านคนต้องหนีออกจากราฟาห์
แล้วเมื่อไหร่ชาวปาเลสไตน์จะพบบ้านที่ไม่ต้องย้ายอีกต่อไป?
อ้างอิงจาก