7 พฤศจิกายน วันครบรอบ 1 เดือนของสงครามอิสราเอล-ฮามาส The MATTER ชวนสำรวจความเสียหายจากสงคราม ที่ปรากฏเป็นสถิติในแง่มุมต่างๆ โดยเฉพาะตัวเลขผู้เสียชีวิต
ย้อนกลับไป 1 เดือน นายกรัฐมนตรีอิสราเอล เบนจามิน เนทันยาฮู (Benjamin Netanyahu) ประกาศภาวะสงครามเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม ภายหลังกองกำลังฮามาส (Hamas) เปิดฉากโจมตีบนแผ่นดินอิสราเอล
“ถึงประชาชนอิสราเอล เรากำลังอยู่ในสงคราม ไม่ใช่ปฏิบัติการ ไม่ใช่การปะทะ แต่คือสงคราม!” เนทันยาฮูประกาศ
สิ่งที่ตามมาหลังจากนั้น คือการตอบโต้อย่างหนักหน่วงโดยกองทัพอิสราเอล ที่เรียกว่า กองกำลังป้องกันอิสราเอล (Israel Defense Forces หรือ IDF) รวมถึงมีการออกมาตรการต่างๆ เช่น การปิดล้อมฉนวนกาซาแบบเบ็ดเสร็จ (complete siege) ตั้งแต่วันที่ 9 ตุลาคม จนถึงล่าสุด คือ ปฏิบัติการภาคพื้นดินบุกฉนวนกาซา ตั้งแต่วันที่ 27 ตุลาคมเป็นต้นมา
จำนวนผู้เสียชีวิตในฉนวนกาซา ทะลุ 10,000 คน
ก่อนครบรอบ 1 เดือน สงครามอิสราเอล-ฮามาส เพียง 1 วัน กระทรวงสาธารณสุขของฉนวนกาซา ก็เพิ่งประกาศตัวเลขผู้เสียชีวิตชาวปาเลสไตน์ในฉนวนกาซา ซึ่งมีจำนวนอยู่ที่อย่างน้อย 10,022 คน ในจำนวนนี้เป็นเด็กถึง 4,104 คน นับตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคม
ถ้านับโดยเฉลี่ย ก็เท่ากับมีเด็ก 1 คนถูกสังหาร ทุกๆ 10 นาที ในฉนวนกาซา
ขณะที่จำนวนผู้บาดเจ็บชาวปาเลสไตน์ จากข้อมูลทางการ มีอยู่ที่อย่างน้อย 25,408 คน ในจำนวนนี้เป็นเด็กอย่างน้อย 8,067 คน
ส่วนตัวเลขผู้เสียชีวิตชาวอิสราเอล จากการโจมตีโดยกองกำลังฮามาสในช่วงวันที่ 7 ตุลาคม มีจำนวนอย่างน้อย 1,405 คน และบาดเจ็บอีกอย่างน้อย 5,600 คน จากการรายงานอย่างเป็นทางการของอิสราเอล
สถิติอื่นๆ
- โรงพยาบาลในฉนวนกาซา 16 แห่ง ใช้งานไม่ได้ จากทั้งหมด 35 แห่ง คิดเป็น 46% (ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขปาเลสไตน์)
- เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ในฉนวนกาซา เสียชีวิต 150 คน (ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขปาเลสไตน์)
- คนจำนวน 1.52 ล้านคน กลายเป็นผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ (Internally Displaced People หรือ IDPs) จากประชากรฉนวนกาซาทั้งหมด 2.3 ล้านคน (ข้อมูลจาก UNRWA และกระทรวงพัฒนาสังคมในกาซา)
- นักข่าวและคนทำงานสื่อในฉนวนกาซา เสียชีวิต 37 คน – เป็นชาวปาเลสไตน์ 32 คน ชาวอิสราเอล 4 คน และชาวเลบานอน 1 คน (ข้อมูลจากคณะกรรมการความปลอดภัยสื่อ [Committee to Protect Journalists หรือ CPJ])
- มีคนถูกจับเป็นตัวประกันในฉนวนกาซา ทั้งชาวอิสราเอลและชาวต่างชาติ 240 คน (ข้อมูลจากทางการอิสราเอล)
นานาชาติว่าอย่างไรบ้าง?
เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม สมาชิกสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (UN General Assembly) จำนวน 120 เสียง (รวมถึงไทย) เพิ่งโหวตเห็นชอบร่างมติ เรียกร้องให้ทุกฝ่ายปฏิบัติตามกฎหมายระหว่างประเทศ พร้อมเรียกร้องให้มีการพักรบ (truce) ในทันที เพื่อส่งความช่วยเหลือทางมนุษยธรรม
ขณะที่เสียงเรียกร้องให้หยุดยิง (ceasefire) เริ่มมีมากขึ้นในช่วงวันที่ผ่านมา โดยเฉพาะชาติอาหรับอย่างจอร์แดนและอียิปต์ ที่มีรัฐมนตรีประกาศต่อหน้า แอนโทนี บลิงเคน (Antony Blinken) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายนที่ผ่านมา เรียกร้องให้ยุติความขัดแย้งและหยุดยิงทันที
ส่วนบลิงเคนไม่เห็นด้วยกับการหยุดยิง เพราะมองว่าจะทำให้ฮามาสจัดวางกองกำลังใหม่ และอาจโจมตีอิสราเอลแบบในวันที่ 7 ตุลาคมได้อีก สหรัฐฯ จึงเรียกร้องให้มีการ ‘หยุดเพื่อมนุษยธรรม’ (humanitarian pause) แทน
ล่าสุด วันที่ 5 พฤศจิกายน ผู้นำหน่วยงานในสหประชาชาติ (UN) และองค์กรด้านมนุษยธรรม รวม 18 หน่วยงาน ได้ลงนามในแถลงการณ์ร่วม แสดงความ ‘ตกใจ’ กับตัวเลขผู้เสียชีวิตทั้งหมด พร้อมเรียกร้องให้มีการหยุดยิงเพื่อมนุษยธรรมโดยทันที
เช่นเดียวกับ อันโตนิโอ กูแตร์เรส (António Guterres) เลขาธิการ UN ที่ออกมาย้ำอีกครั้งเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน เรียกร้องให้มีการหยุดยิงเพื่อมนุษยธรรมโดยทันที และบอกว่า “เราต้องลงมือทำ ณ ตอนนี้ เพื่อหาทางออกจากการทางตันของการทำลายล้างที่ป่าเถื่อน เลวร้าย อันน่าทรมานนี้”
เขาถึงกับบอกว่า ฉนวนกาซากำลังกลายเป็น ‘ป่าช้า’ (graveyard) สำหรับเด็กๆ “กาซากำลังกลายเป็นป่าช้าสำหรับเด็กๆ มีรายงานว่า เด็กหญิงเด็กชายต้องถูกฆ่าหรือได้รับบาดเจ็บนับร้อยรายในทุกๆ วัน”
สงครามครั้งนี้ยังมีท่าทีที่จะไม่จบลงง่ายๆ หลังจากนี้ คงต้องจับตากันถึงทางออก และสถานการณ์ต่อไปว่าจะคลี่คลายไปทางไหน ท่ามกลางยอดความเสียหายที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ