หญิงข้ามเพศ (Transgender Female) สามารถลงแข่งขันกีฬาในรายการของผู้หญิงได้หรือไม่? กลายเป็นข้อถกเถียงในสังคมอีกอีกครั้ง หลังเมื่อวานนี้ (12 มิถุนายน 2567) ศาลอนุญาโตตุลาการการกีฬา (Court of Arbitration for Sport หรือ CAS) ได้ตัดสิน ให้ลีอา โธมัส (Lia Thomas) นักกีฬาว่ายน้ำหญิงข้ามเพศ (Transgender Female) พ่ายแพ้คดีการฟ้องร้องกรณีที่สหพันธ์ว่ายน้ำนานาชาติ (World Aquatics หรือ FINA) สั่งแบนนักกีฬาว่ายน้ำหญิงข้ามเพศ ซึ่งการตัดสินครั้งนี้ส่งผลให้โธมัสพลาดโอกาสเข้าร่วมการแข่งขันโอลิมปิก 2024 ณ กรุงปารีส ที่กำลังจะถึงนี้
“ห้ามหญิงข้ามเพศแข่งขันในรายการสำหรับผู้หญิง หากผู้เข้าแข่งขันเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ของผู้ชายแล้ว” คือมติของ FINA ในปี 2022 ที่โธมัสไม่ยอมรับ จนนำไปสู่การฟ้องร้องดังกล่าว
โธมัสแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับนโยบายดังกล่าวว่า เป็นข้อกำหนดที่ “ไม่ถูกต้องและผิดกฎหมาย” เนื่องจากขัดต่อกฎบัตรโอลิมปิก (The Olympic Charter) และกฎสหพันธ์ว่ายน้ำนานาชาติ (The World Aquatics constitution)
อย่างไรก็ตาม ศาลอนุญาโตตุลาการการกีฬาระบุในคำตัดสินว่า โธมัส ในขณะนี้ “ไม่มีสิทธิ์เข้าร่วมการแข่งขันในรายการแข่งขันของ FINA” เนื่องจากขาดคุณสมบัติการเข้าคัดตัวนักกีฬาในรายการระดับนานาชาติของสหรัฐฯ ทั้งนี้เป็นเพราะเธออาจมีข้อได้เปรียบทางกายภาพในการแข่งขัน
อีกทั้งในรายงานทางวิทยาศาสตร์ที่ใช้ประกอบคำตัดสินระบุว่า นักว่ายน้ำอย่างโธมัส ยังคงมีความได้เปรียบทางกายภาพที่สำคัญ ทั้งเรื่องความอดทน พละกำลัง ความเร็ว ความแข็งแกร่ง และขนาดปอด เนื่องจากเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ของเพศชาย แม้ว่าจะลดระดับฮอร์โมนเทสโทสเทอโรน (Testosterone) ด้วยการใช้ยาแล้วก็ตาม
อย่างไรก็ตามที่ผ่านมา มีผู้ให้ความเห็นตรงกันข้ามว่าหลักฐานวิจัยที่ตีพิมพ์เกี่ยวกับนักกีฬาข้ามเพศในปัจจุบัน อาจยังไม่เพียงพอในการกำหนดนโยบายในประเด็นดังกล่าว โดย เอริค วิเลน (Eric Vilain) นักพันธุศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ระบุว่าข้อได้เปรียบของความสามารถทางการกีฬา มาจากหลายปัจจัย ไม่เพียงแค่ ข้อได้เปรียบทางพันธุกรรม ความแตกต่างทางเมตาบอลิซึม ลักษณะทางกายภาพ หรือความสูงเท่านั้น แต่การแข่งขันกีฬายังมีข้อได้เปรียบอื่นๆ อีกมากมาย เช่น การดูแลโภชนาการ การฝึกซ้อม หรืออุปกรณ์การฝึก ที่อาจทำให้ผู้แข่งขันได้เปรียบ ทั้งนี้การสร้างข้อกำหนดต่างๆ อาจยังไม่ครอบคลุมหลักฐานที่เพียงพอ และยังเป็นประเด็นที่ต้องศึกษากันต่อไป
นักพันธุศาสตร์ยังแสดงความกังวลต่อว่า การห้ามนักกีฬาข้ามเพศในวงการกีฬา อาจสร้างมาตราฐานที่ไม่เป็นธรรม เพราะอาจกีดกันผู้เข้าแข่งขัน โดยที่ไม่มีการกำหนดนโยบายอย่างครอบคลุมอีกด้วย
ในด้านของ FINA ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับคำตัดสินดังกล่าวว่า “นี่เป็นก้าวสำคัญในความพยายามของเราในการปกป้องกีฬาผู้หญิง”
นอกจากนี้ FINA ยังยืนยันว่า ทางสหพันธ์จะพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อจัดการแข่งขันที่ครอบคลุมความหลากหลายของผู้เข้าแข่งขัน ซึ่งเคยมีแผนสำหรับนักว่ายน้ำข้ามเพศ (Transgender) มาแล้ว ในรายการชิงแชมป์โลกที่เบอร์ลิน เมื่อปี 2023 แต่กีฬาดังกล่าวถูกยกเลิกไปเนื่องจากมีผู้เข้าร่วมไม่เพียงพอ
โดยที่ผ่านมา ในปี 2022 ข้อถกเถียงเกี่ยวกับการแข่งขันกีฬาของผู้หญิงข้ามเพศ ในรายการแข่งขันต่างๆ เริ่มเป็นที่พูดถึงมากขึ้น หลังจากที่โธมัสคว้าอับดับหนึ่งในรายการของสมาคมกีฬาระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ (NCAA) ซึ่งนับเป็นบุคคลข้ามเพศคนแรกที่ได้รางวัลในการแข่งขันระดับชาติ
แม้ว่าครั้งนี้ โธมัสจะหมดสิทธิการเข้าร่วมกีฬาโอลิมปิก แต่ประเด็นเกี่ยวกับการแข่งขันกีฬาของบุคคลข้ามเพศจะยังคงเป็นที่ถกเถียงกันต่อไป ส่วนการตัดสินครั้งนี้ยุติธรรมหรือไม่ก็ยังเป็นประเด็นที่ต้องพูดคุยกันต่อไป
อ้างอิงจาก