จู่ๆ มาพบว่า คนรู้จักญาติสนิทมิตรสหายที่คลุกคลีตีโมงด้วยกันมานาน หรือสามีเก่าของเรา บัดนี้กลายเป็นแม่สายบัวสวยกว่าเราหรือสวยกว่าเมียเราซะแล้ว ก็ไม่ใช่เรื่องที่ต้องช็อก ตกอกตกใจเล่นใหญ่เล่นโตอะไร ทำเป็นหัวข้อข่าวดื่นๆ ตื้นๆ พวกนั้น โอเคมันก็น่าตกใจเล็กน้อยแต่พองาม เหมือนกับเห็นเพื่อนไปทำจมูก ทุบกราม ลดความอ้วน make over มาจนสวยผิดหูผิดตาก็เท่านั้น
คนดังหลายคนที่อยู่ดีๆ ก็แปลงเพศแปลงโฉมตัวเองมีให้เห็นพอเป็นกระษัยเช่น ‘ซันนี่ ยูโฟร์’ สมาชิกบอยแบนด์วง ‘U4’ ออกอัลบั้มในช่วง 2535-3539 ภายใต้ค่ายคีตา เอนเตอร์เทนเมนท์ ซันนี่จากที่บอยๆ เมื่อยุบวง ปิดค่าย หมดสัญญากับทางต้นสังกัด เธอก็ทำศัลยกรรมกลับมาปรากฏตัวในวงการบันเทิงอีกครั้งด้วยเพศสภาพใหม่ในปี 2543, ‘จีน ฟูตอง’ เอง จากอดีตนักร้องนำวง ‘Futon’ ตั้งแต่ปี 2545 ไม่เพียงจะกลายมาเป็นศิลปินเดี่ยวแห่งค่ายสมอลล์ รูม ในปี 2551 ในนาม ‘จีน กษิดิศ’ เธอยังเปลี่ยนลุคแต่งหญิง และเปิดเผยเพศสภาพเพศวิถีอย่างสง่าผ่าเผย, เช่นเดียวกับ ‘พินิจ งามพริ้ง’ ผู้ชื่นชอบกีฬาฟุตบอลอย่างมากกระทั่ง ผู้ตั้งชมรม Cheerthai Power และเว็บไซต์ cheerthai.com ตั้งแต่ 2544 และในปี 2556 เคยสมัครตำแหน่งนายกสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย พอเมื่อไปใช้ชีวิตที่ซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา เธอก็แปลงโฉมตนเองให้เป็นผู้หญิงเปลี่ยนชื่อเป็น ‘พอลลีน งามพริ้ง’ ในปี 2560
แน่นอนการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ต้องเผชิญอะไรหลายๆ อย่าง หลายคนรอบกายที่มิใช่เจ้าข้าวเจ้าของจู๋นมไข่ของพวกเขาหรือเธอต่างผวาตกใจ ไม่ยอมรับ ขณะที่การเปลี่ยนแนวเพลงเท่ากับการเติบโตวิวัฒนาการวงดนตรี ทว่าการแปลี่ยนเพศสภาพเพศวิถีของศิลปินกลับกลายเป็นโลกาวินาศของ FC มากไปกว่านั้นพวกเขาหรือเธอถูกโจมตีว่าโกหกหลอกลวง ไม่พูดความจริง
ด้วยสำนึกที่แบ่ง ‘เพศ’ ตามอัตลักษณ์ ให้ ‘ความเป็นเพศ’ มีเพียง 2 อย่างแบบคู่ตรงข้าม ‘ความเป็นชาย’ และ ‘ความเป็นหญิง’ บุคคลที่มีอัตลักษณ์ออกนอกกรอบ ‘ความเป็นเพศ’ หรือเลือกที่จะมีเพศสภาพไม่ตรงกับเพสสรีระ จึงถูกเรียกว่า ‘กะเทย’ ทั้งหญิงที่มีอัตลักษณ์ ‘ความเป็นชาย’ และชายที่มีอัตลักษณ์ ‘ความเป็นหญิง’ เพราะคำว่า ‘กะเทย’ เป็นคำที่ถูกใช้ดั้งเดิมในภูมิภาค ในกลุ่มชาวไทอาหมใช้คำว่า ‘เทย’ และภาษาแขมร์ใช้คำว่า ‘เขทิย’ [อ่านว่า กะเตย] ใช้เรียกสิ่งที่ไม่ปรากฏเพศ เป็นกลางๆ ไม่เป็นเพศใดเป็นเพศหนึ่ง แม้ว่าโดยคำของมันจะหมายถึงความกำกวมของเพศสรีระ แต่ทั่วๆ ไป ก็ใช้กับความกำกวมของเพศสภาพ[1] เช่น ใน ‘จันดารา’ อุษณา เพลิงธรรม (2508) “…ตามความรู้สึกร้ายของผม (จัน) เธอ (คุณแก้ว) ไม่ใช่ผู้หญิงอย่างเดียวเสียแล้ว เธอเป็นกะเทย กะเทยซึ่งเป็นคนสองเพศได้อย่างละเท่าๆ กัน และยิ่งปีก็จะยิ่งเป็นข้างผู้ชายแก่กล้าขึ้นทุกที…”[2]
ทว่า ‘กะเทย’ ก็มักถูกใช้กับผู้ที่มีจู๋มีอัตลักษณ์ ‘ความเป็นหญิง’ มากกว่าผู้ที่มีจิ๋มมีอัตลักษณ์ ‘ความเป็นชาย’ เช่นเดียวกับเกย์ที่ในภาษาไทยถูกใช้เรียกเพศสภาพของชายรักชายมากกว่าหญิงรักหญิงในโลกที่เพศที่มีจู๋มักได้ก่อนถูกคำนึงถึงก่อนเสมอ และเข้าถึงทรัพยากรได้มากกว่า
มีความพยายามศึกษากะเทยในมิติทางประวัติศาสตร์ เพื่อให้เห็นว่ากะเทยไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ไกลตัว ลากยาวไปถึง ‘ปฐมมูลมูลี’ ตำนานสร้างโลกและจักรวาลวิทยาตามท้องถิ่นล้านนา ที่กล่าวถึง ‘นปุสกะ’ เพศที่ไม่ใช่ทั้งชายและหญิง และพระไตรปิฎก (ในกรณีที่เชื่อว่าเป็นข้อเท็จจริงและชุดความรู้ดั้งเดิมเมื่อประมาณ 3,000 ปีที่แล้ว) ก็กล่าวถึง ‘บันเฑาะก์’ ที่หมายถึงบุรุษที่มีความพึงพอใจมีเพศสัมพันธ์กับบุรุษด้วยกัน และมีจิตใจเป็นสตรี ในมหาภิวังค์ว่าด้วยศีลภิกษุ 227 ข้อ ก็กล่าวถึงเพศต่างๆ ของมนุษย์ ซึ่ง ‘อุภโตพยัญชนก’ หมายถึงผู้มีอวัยวะเพศและจิตใจสามารถผกผันไปมาระหว่างชายกับหญิง หรือชายรักชายที่สามารถสลับอวัยวะเพศของตัวเองเป็นหญิงได้ อย่างไรก็ตามทั้ง ‘นปุสกะ’ ‘บันเฑาะก์’ ‘อุภโตพยัญชนก’ เมื่อถูกหยิบมาใช้ในบริบทปัจจุบันจึงมีความหมายคลุมเคลือจนสามารถเอาไปใช้อธิบายกับคำว่า ‘กะเทย’[3]
แต่การอ้างสิทธิและการดำรงอยู่ทางประวัติศาสตร์ก็ใช่ว่าจะสามารถสร้างความยอมรับทางสังคมได้ ซ้ำร้ายจะถูกกีดกันออกจากสังคมมากกว่าเดิม จากการศึกษาของเทอดศักดิ์ ร่มจำปา (2545) ยิ่งเผยให้เห็นว่ากะเทยไม่เป็นที่ยอมรับโดยสถาบันหลักของสังคมเช่น ศาสนาและศาล ตามพระวินัยปิฎกเวอร์ชั่นกรมพระยาวชิรญาณวโรรส ปี 2459 กะเทยเท่ากับบัณเฑาะก์ ในความหมายผู้ชายมีร่างกายชายแต่ลักษณะนิสัยคล้ายผู้หญิง หรือบุคคลที่เกิดมามี 2 เพศ ที่ต้องขับไล่ไม่ให้เข้ามาในพื้นที่ของศาสนา เพื่อป้องกันไม่ให้ภิกษุเกิดกิเลสตัณหา และในกฎหมายตราสามดวง กะเทยและบัณเฑาะก์ก็ไม่ได้รับการยอมรับว่าเป็นบุคคลที่น่าเชื่อถือมีศีลธรรมเพียงพอที่จะสามารถเป็นพยานได้ตามกฎหมาย เช่นเดียวกับคนจรจัด ขอทาน คนหูหนวก ตาบอด โสเภณี หญิงแพศยา คนวิกลจริต นักเลง โจร หรือแม้แต่พ่อมดแม่มด[4]
เนื่องจากอคติของสังคม ‘กะเทย’ จึงถูกใช้เป็นคำหยาบคาย ด่าทอ ล้อเลียน จากการศึกษาของนฤพนธ์ ด้วงวิเศษ (2558) กะเทยโดยเฉพาะกลุ่มผู้ที่ผ่าตัดแปลงเพศแล้ว จึงปฏิเสธนิยามตนเองด้วยคำว่า ‘กะเทย’ แล้วหันมาประดิษฐ์คำขึ้นใหม่เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกตีตรา เช่นคำว่า ‘สาวประเภทสอง’ แทน เพื่อดึงตัวเองออกห่าง ‘ความเป็นชาย’ ในเวลาเดียวกัน ต่อมาในปี 2549 เกิดกลุ่มกะเทยที่นิยามตนเองว่า ‘ผู้หญิงข้ามเพศ’ เพื่อเคลื่อนไหวเรียกร้องให้รัฐออกกฎหมายยกเลิกคำนำหน้าว่า ‘นาย’ ในบัตรประชาชนสำหรับผู้ที่ผ่าตัดแปลงเพศแล้ว นำไปสู่การก่อตั้ง ‘สมาคมสตรีข้ามเพศแห่งประเทศไทย’ (Trans Female Association of Thailand) ขึ้นในปี 2552 ซึ่งมองว่าการเป็นกะเทยคือความเจ็บป่วยชนิดหนึ่ง ป่วยด้วย ‘โรคเพศสลับ’ การนิยามเช่นนี้จึงถูกต่อต้านทั้งคนที่เป็นกะเทยและไม่ใช่[5]
ก่อนหน้านั้นเคยมีพยายามเสนอคำว่า ‘สาวกำลังสอง’ แทนคำว่า ‘กะเทย’ โดยนิตยสาร ‘แปลก’ นับตั้งแต่ปีที่เริ่มต้นวางแผงใน พ.ศ. 2518 ซึ่ง ‘แปลก’ ก็เป็นนิตยสารที่สมกับชื่อเพราะบรรจุสารคดีพิสดารพันลึกจากทุกมุมโลก และได้บอกเล่าชีวิตตัวตนกะเทยในนาม ‘สาวกำลังสอง’ บนพื้นที่สาธารณะในฐานะ ‘ของแปลก’ ซ้ำยังให้ภาพว่าเป็นเพศที่ขาดรัก ว้าเหว่ ผิดหวัง ต้องมาระบายความทุกข์ระทมในใจลงในคอลัมน์และให้คอลัมนิสต์ช่วยประกาศหาผู้ให้หน่อย
กว่าคำว่า ‘กะเทย’ จะเริ่มถูกใช้ในความหมาย transgender และมีมิติเชิงบวกมากขึ้นอย่างเป็นทางการ ก็นับตั้งแต่ 2553 เมื่อมีขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีของกะเทยชื่อ ‘เครือข่ายเพื่อนกะเทยไทย’ (Thai Transgender Alliance)
อันที่จริงใครจะนิยามตนเองอย่างไรหรือจะไม่นิยามเอาตัวเองเข้าไปอยู่ในกรอบใดกรอบหนึ่ง ก็เป็นเรื่องของเขาและเธอ และเพศสภาพเพศวิถีก็สามารถลื่นไหลเปลี่ยนแปลงได้เสมอ วัยหนึ่งอาจจะรักต่างเพศ เมื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์ชีวิตมากขึ้นอาจจะรักเพศเดียวกันหรือไม่จำกัดเพศใดเลย เพราะรักก็คือรัก หรือครั้งหนึ่งเราเคยเชื่อและปฏิบัติตามเพศสภาพที่สังคมบอกให้เป็นเช่นนั้นเช่นนี้ แต่เมื่อโตขึ้นก็อาจจะตระหนักได้ว่าบทบาทและการแสดงออกทางเพศเป็นเพียงสิ่งประกอบสร้างทางสังคมไม่ใช่ธรรมชาติ แล้วอยากจะเลือกบทบาทอัตลักษณ์ที่ตนเองพึงใจมากกว่า
และอันที่จริงกว่า การที่ผู้ชายสักคนชื่นชอบแต่งตัวเป็นหญิง แสดงอากัปกิริยาแบบผู้หญิงก็เป็นอีกชุดอัตลักษณ์หนึ่งที่ไม่จำเป็นต้องเป็นเกย์ หรือรักเพศเดียวกันเสมอไป
การประกาศกร้าวของใครสักคนว่า ฉันอยากจะแต่งหญิง อยากจะรักเพศเดียวกัน ไม่อยากเป็นผู้ชายที่เป็นมาแล้วแต่กำเนิด ก็เป็นบทพิสูจน์คนรู้จัก คนใกล้ชิด สิ่งแวดล้อม ว่าสามารถก้าวข้ามกรอบเพศสภาพที่มีแค่ 2 เพศสภาพแค่ 1 เดียวได้แค่ไหน โดยไม่ต้องบอกให้เขาลุกขึ้นมาแต่งตัวข้ามเพศ หรือไปลองเอากับเพศเดียวกัน เพียงแต่ยอมรับทำความเข้าใจความหลากหลายในสังคม เคารพการตัดสินใจของคนคนหนึ่งในฐานะปัจเจกชน
ขณะเดียวกันก็เป็นความท้าทายชุมชนความหลากหลายทางเพศเช่นกัน คือถ้าเพื่อนทอมที่เคยเล่นหัวหยอกเอินเจอกันอีกทีกลายเป็นสาวสะพรั่ง หรือเพื่อนสาว กะเทย เกย์ที่จิกกัดขโมยวิกกัน วันดีคืนร้ายกลายเป็นผู้ชายบอยๆ ควงแฟนชะนี LGBT จะมีปฏิกิริยาทัศนคติเช่นไร จะกล้าชวนไปเมาท์มอยหอยกาบ ไปร่อนร่ายที่ซอย 2 อีกหรือไม่
แต่การที่จะก้าวข้ามกรอบคิดสังคมที่หล่อหลอมมาทั้งชีวิตตั้งแต่เด็ก ว่าโลกนี้มีเพียง 2 เพศสภาพกับ 1 เพศวิถี ใครที่เกิดมามีจู๋แล้วก็ต้องเป็นผู้ชาย แมนๆ เข้มแข็ง สุภาพบุรุษลุกให้ผู้หญิงนั่งบนรถเมล์ เป็นผู้นำ เป็นรั้วของชาติ ใครที่เกิดมามีจิ๋มก็ต้องเป็นผู้หญิง ต้องตั้งครรภ์เป็นแม่คน รักเด็ก อ่อนโยน บอบบาง เป็นผู้ตามที่ดี และธรรมชาติชายหญิงเกิดมาก็ต้องคู่กันมีเพศสัมพันธ์กัน ไม่ใช่เรื่องง่ายและต้องใช้เวลา กว่าจะก้าวพ้นในแต่ละก้าวต้องถามใจตนเอง สื่อสารกับตนเอง คิดทบทวนสรตะหลายตลบ ซึ่งกระบวนการเหล่านี้แต่ละบุคคลก็ไม่เหมือนกัน
หลังจากปลดแอกในใจแล้ว ยังมีหนทางอันยาวไกลที่เต็มไปด้วยด่านปราการและทางวิบากมากมายให้ต้องเผชิญ พวกเขาและเธอมีพ่อแม่พี่น้องวงศาคณาญาติ เพื่อนสนิทมิตรสหาย เพื่อนบ้าน เพื่อนร่วมงาน เจ้านายลูกน้อง และบางคนมีลูกเมีย ที่ต้องอธิบายความเป็นตัวของตัวเองไปพร้อมกับรักษาน้ำจิตน้ำใจ ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขและความซับซ้อนของชีวิต ความเคร่งในศาสนา สถานะทางสังคม และฐานะทางเศรษฐกิจ เพราะความสวยและความเหมือนผู้หญิงไม่ได้มาจากจากมนตร์วิเศษของนางฟ้าแม่ทูนหัว แต่มาจากเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่มีค่าใช้จ่ายราคาแพง
มันจึงเป็นเรื่องที่ต้องใช้ความกล้าหาญและระยะเวลาที่จะพร้อมเปิดเผย ยิ่งบุคคลที่เป็นที่สนใจรู้จักกันครึ่งค่อนประเทศ (แต่การจะพิจารณาหรืออภิเษกใครเป็น ‘บุคคลสาธารณะ’ ก็อีกเรื่องหนึ่ง เพราะแค่มี FC แล้วเท่ากับเป็นบุคคลสาธารณะแล้ว มันก็เป็นกันง่ายเกินไป) ก็ยิ่งมีเงื่อนไขปัจจัยให้ต้องพิจารณา
ดังนั้น ไม่ว่าผู้ชายคนใดก็ตามที่ makeup สวมวิก ติดขนตาปลอม ใส่รองเท้าส้นสูงเดินออกจากบ้าน ในสภาพสังคมและยิ่งในภูมิอากาศเช่นนี้ ก็คือฮีโร่แล้ว
อ้างอิงข้อมูลจาก
[1] เทอดศักดิ์ ร่มจำปา. (2545). วาทกรรมเกี่ยวกับ “เกย์” ในสังคมไทย พ.ศ. 2508-2542. วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, น. 10-11.
[2] อุษณา เพลิงธรรม (นามปากกา) จัน ดารา. พระนคร: ประพันธ์สาส์น. 2508, น. 395.
[3] เรื่องเดียวกัน, น. 16-17.
[4] เรื่องเดียวกัน, น. 12.
[5] นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ. (24 มิ.ย. 2558). วิพากษ์ “ความเป็นหญิง” ของหญิงในร่างชาย. ฐานข้อมูลศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) www.sac.or.th