“การเปิดเผยตัวเองมันต้องแลกบางอย่างในชีวิตเขา ถ้าเขาเปิดเผยตัวเองว่าเป็น LGBT ต้องพบกับแรงต้าน คนไม่สนับสนุน หรือคนที่ไม่ชอบอัตลักษณ์ทางเพศแบบนี้ มันมีผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน ทำงานกับเพื่อนร่วมงานที่ไม่ชอบเพราะเป็นกระเทยหรือเป็นเกย์ ก็มีผลต่อสภาพ บางที่ก็มีผลต่อการประเมิน ขั้นเงินเดือน ประเมินตำแหน่งหน้าที่การงาน”
แม้ทุกวันนี้ ภาพของประเทศไทยจะดูมีเสรี เปิดกว้างให้กับเพศที่ 3 หรือเพศทางเลือก พบ LGBT ได้ทั่วไป ไม่ต้องหลบซ่อน แต่ในความเป็นจริงแล้ว สังคมไทยกลับยังมีพื้นที่ที่ปิดกั้น และไม่ได้เปิดออก ยอมรับคนเหล่านี้อย่างเต็มที่ หรือแม้จะมีการยอมรับ ก็เป็นการยอมรับอย่างมี ‘เงื่อนไข’
The MATTER คุยกับครูเคท คทาวุธ ครั้งพิบูลย์ นักเคลื่อนไหวด้าน LGBT ถึงปัญหาที่ LGBT ต้องเผชิญในสังคม การทำงาน การถูกปิดกั้น และการเคลื่อนไหวเพื่อผลักดันกฎหมายคุ้มครอง LGBT ในประเทศไทยว่าปัญหา และกำแพงที่ความหลากหลายทางเพศต้องเจอคืออะไร
สังคม LGBT ในแวดวงการศึกษาในปัจจุบันได้รับการยอมรับมากน้อยแค่ไหน
พอมันเป็นแวดวงวิชาชีพ คนก็จะยึดติดอยู่กับการแบ่งแยกเพศแบบชัดเจน เพราะมันทำให้คนเข้าไปอยู่ในระบบระเบียบ อยู่ในความตกลงขององค์กรได้ง่าย เช่นองค์กรมีชุดยูนิฟอร์มแบบผู้ชาย ผู้หญิง คนที่มีหลากหลายทางเพศก็อาจจะรู้สึกว่าอาจจะไม่ได้อยากใส่ฟอร์มตามเพศ ปัญหาแบบนี้มันจะเกิดขึ้น คนก็จะมองว่า LGBT ไม่ได้อยู่ในกล่องของเพศที่กำหนดไว้ สิ่งที่เกิดขึ้นคือ องค์กรก็ไม่พอใจ คนที่ไปทำงานในองค์กรก็จะไม่พอใจที่ต้องไปทำ ยิ่งเฉพาะคนข้ามเพศ ปัญหาเรื่องการแต่งกายและความคาดหวังจะเกิดขึ้น เวลาทำบัตรพนักงาน มีนายรึเปล่า? รูปละต้องเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย? มันกลายเป็นความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในองค์กร องค์กรก็ต้องทำตามระเบียบ
ยิ่งเราพูดถึงวงการศึกษา ยิ่งมีความต้องการที่สูงมาก ความต้องการแรกของหน่วยงานคือให้คนอยู่ในระเบียบสามารถควบคุมได้ และไม่ได้อนุญาตให้คนเป็นอะไรก็ได้ที่อยากเป็น เพราะวิชาชีพมันต้องมีความน่าเชื่อถือ ดังนั้นการเป็น LGBT ในงานวิชาชีพมักจะถูกพูด และเข้าใจเสมอว่าคนพวกนี้ไม่มีความน่าเชื่อถือหรอก เพราะมีบุคลิกภาพที่ไม่โอเค อาจจะไม่มีสภาวะทางจิตใจที่ดี เพราะมีอารมณ์สวิง
และจนกว่าคนๆ หนึ่งจะอธิบายความเป็นเพศกับองค์กรก็ต้องใช้ความคุ้นชิน ต้องใช้ประสบการณ์ของเรา บวกกับของเขาพิสูจน์ตัวเองว่าเป็นคนเรียบร้อย พูดจาดี สอนหนังสือรู้เรื่อง เราเคยเห็นคนที่ตอนเข้ารับราชการครูแต่งตัวเป็นผู้ชาย อยู่ไปทำให้คนชินเรื่อยๆ จนไว้ผมยาว ใส่ชุดราชการผู้หญิง ขยับมาใส่กระโปรง นี่ไม่ได้แปลว่าคนยอมรับนะ แต่ว่าคนเห็นว่าเธอไม่ได้เป็นคนกระด้างกระเดื่อง ทำตามระเบียบ เรียบร้อยต่างหาก
ในการทำงานด้านการศึกษาของ LGBT มีปัญหา หรือได้รับการยอมรับจากนักเรียนมากน้อยแค่ไหน
มันมีปัญหาเรื่องความกลัว มันไม่มีใครเคยถามความกลัวนักเรียนว่า เรียนกับครู LGBT แล้วเป็นอย่างไร มีแต่สังคมที่บอกว่า ถ้าเด็กเรียนกับพวกนี้ก็จะเกิดการเลียนแบบ เพราะสังคมบ้านเรามันขาดการอธิบาย การให้ความรู้ เรื่องความเป็นเพศที่หลากหลาย เด็กหลายคนยังไม่เข้าใจ สิ่งที่เกิดขึ้นคือความกลัวว่าครูที่เป็น LGBT จะทำให้เด็กอึดอัด และมีพฤติกรรมเลียนแบบ แต่จริงๆ เด็กอย่างเรา เด็กที่เป็น LGBT ก็ไม่ได้เลือกเลียนแบบว่าจะเป็นผู้หญิง ผู้ชายตามพ่อแม่ ดังนั้นพฤติกรรมเลียนแบบจึงเป็นไปไม่ได้เลย ที่ถ้าครูแป็นกะเทย นักเรียนก็จะเป็นกะเทยด้วย
การอยู่ในระบบราชการของ LGBT ทำให้ต้องมีการปกปิดเพศสภาพอยู่ไหม ทำไมถึงยังต้องปกปิดอยู่
มีนะ เพราะการเปิดเผยตัวเองมันต้องแลกบางอย่างในชีวิตเขา ถ้าเขาเปิดเผยตัวเองว่าเป็น LGBT ต้องพบกับแรงต้าน คนไม่สนับสนุน หรือคนที่ไม่ชอบอัตลักษณ์ทางเพศแบบนี้ มันมีผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน ทำงานกับเพื่อนร่วมงานที่ไม่ชอบเพราะเป็นกระเทยหรือเป็นเกย์ ก็มีผลต่อสภาพ บางที่ก็มีผลต่อการประเมิน ขั้นเงินเดือน ประเมินตำแหน่งหน้าที่การงาน ความสามารถมีหมด แต่ยังไม่พิจารณาดีกว่า เพราะไม่เหมาะสม เช่นตุ๊งติ๊งเกินไป
ยิ่งกับคนที่เป็นทรานเจนเดอร์ คนข้ามเพศ มันยากที่จะปกปิด เนื่องจากการข้ามมันเห็นได้ชัดเจน เราเชื่อว่าอัตลักษณ์ที่แตกต่างคนก็ปฏิบัติที่แตกต่างด้วย
สังคมไทยมีค่านิยมว่า ครูต้องเป็นต้นแบบของนักเรียน แล้วขอบเขตการแสดงออกตัวตนของครู LGBT มีได้มากแค่ไหน
เราว่าครู LGBT ก็ระวัง เพราะยิ่งเป็นจุดจ้องมอง จะพูดยังไง พูดเสียงดังไหม แสดงกิริยาอย่างไร มันทำให้เราบอกตัวเองว่าเราต้องแสดงออกให้ดี เป็นตัวของตัวเองไม่ได้มาก จริงๆ อย่างที่ปกติทั่วไปทำ เราก็ทำ แต่ครู LGBT ต้องกังวล หรือระวังมากยิ่งขึ้น และให้ความสำคัญมากกับการปฏิบัติตัว ที่ต้องกังวลมากกว่าคนอื่นเพราะวิถีชีวิตของ LGBT เป็นวิถีชีวิตแบบยอมรับตัวเอง คือการสร้างบางอย่างเพื่อที่จะเปลี่ยนสถานะทางสังคมของตัวเอง หรือได้รับการยอมรับ เช่น เวลาเรียนเป็นกะเทยก็ต้องเรียนเก่ง ถึงจะไม่ว่าใครว่า หรือต้องทำอะไรดีเด่นหน่อย ส่วนหนึ่งสังคมมันก็คาดหวังแบบนี้ด้วย ว่าคนเป็น LGBT ต้องทำอะไรดีซักอย่าง เช่น บุคลิกภาพดี วางตัวดี แต่คนไม่ได้นึกว่าแต่ละคนมีบุกคลิกภาพแตกต่างกัน
เป็นเช่นนี้ พอใช้ชีวิตประจำวัน คนบางคนที่ถูกจับจ้องมอง หรือถูกตำหนิทางสังคม คนเหล่านี้ก็จะคิดว่ากลายเป็นชินไปแล้ว โดยไม่ได้คิดว่านี่คือการเลือกปฎิบัติ และก็ปล่อยผ่านเลยไป
ในสังคมไทยควรให้การศึกษาเรื่องของเพศ ความหลากหลายทางเพศไหม และถ้ามีเราพูดได้แค่ไหน
ตอนนี้มันไม่มีการสอนเลย เรายังเผชิญปัญหากับการพูดเรื่องเพศศึกษาทั่วไปที่เด็กก็ยังไม่เข้าใจ หรือยังไปนำปฏิบัติไม่ได้ เรื่องที่มันเชื่อมโยงกันอย่างเรื่องเพศหลากหลาย หรือแม้แต่สิทธิการเคารพกันก็ยังไม่เข้าใจ ดังนั้นในชั้นเรียนมันยังไม่ได้ถูกออกแบบมาให้คนเคารพกัน ดังนั้นการกลั่นแกล้งกันในโรงเรียน ด้วยเหตุแห่งความแตกต่าง
ไม่ว่าจะเด็กที่ผิวคล้ำ อ้วน หรือเป็นกระเทย มันยังถูกละเมิด และกระทำความรุนแรงในชั้นเรียน และครูก็ปล่อยและละเลย เด็กๆ จึงไม่ได้เชื่อว่าโรงเรียนจะสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้แก่เขา ดังนั้นตรงนี้จึงเป็นปัญหา
ถามว่าการศึกษาช่วยได้ไหม เราก็เคยคิดว่ามันจะช่วยได้ แต่พอเราทำงานกับการศึกษา เราก็สงสารโรงเรียน เพราะว่าในทุกการเปลี่ยนแปลงทุกคนก็อยากให้ไปเริ่มที่โรงเรียน เริ่มเรื่องสิทธิ อนุรักษ์ สิ่งแวดล้อม แต่จากประสบการณ์เราที่เราไปฝึกงานกับองค์กรที่ทำเรื่องแนวคิดแบบครอบคลุม (Inclusive) คือคนที่แตกต่างหลากหลายอยู่ร่วมกัน และเคารพกัน ในเด็กประถม ครูจะเป็นคนพูด และนำเสนอประเด็น เอาข่าวหรือประเด็นต่างๆ มาถามว่าเด็กมีความเห็นอย่างไรบ้าง ซึ่งเรามองว่าเรื่องพวกนี้น่าจะถูกถกเถียง ถูกพูดถึง แต่สังคมไทยสอนลูกแบบ exclude ให้ออกไปจากคนอื่น เห็นคนอื่นเป็นคนที่ต่าง มองเห็นคนอื่นแบบเหยียด ไม่ว่าจะชนชั้นไหน การสอนให้ exclude คนอื่น มันเกิดขึ้นอยู่ตลอด นั่นเป็นเพราะระบบ ที่ไม่ถูกวางแผนมาให้มองเห็นคนอื่นๆ ด้วย
นอกจากในอาชีพครูแล้ว การเป็น LGBT ยังกระทบต่อสังคมในการทำงานของอาชีพอื่นๆ ไหม
มีผลกระทบ พอมันเป็นวิชาชีพแล้วก็มีผลกระทบหมด เพราะมันเกี่ยวกับเรื่องความน่าเชื่อถือในวิชาชีพ เรื่องความหลากหลายทางเพศมันไปขัดกันกับสิ่งที่สังคมคาดหวังให้แสดงออก มันมีหลายครั้งที่งานสำคัญๆ ถ้าองค์กรมี LGBT ก็จะถูกเก็บ ไม่ให้อยู่หน้างาน ซึ่งก็มีจริงๆ โดยเฉพาะในภาครัฐ นั่นหมายความว่าการทำงานของคนในวิชาชีพอื่นๆ การดูความสามารถและศักยภาพของคนจะไม่ถูกมองเลย ถ้าคนนั้นเป็น LGBT ถูกทำให้เรื่องความเป็นอัตลักษณ์ทางเพศลดการดูเรื่องความสามารถไปหมดเลย และถูกทำให้เบลอ
และคนคิดว่ามันโอเคแล้ว ที่จะทำเรื่องนี้กับคนเหล่านี้แบบนี้ อาจจะดีด้วยซ้ำไปกับคนที่มีแนวคิดอนุรักษ์นิยม ที่มองเห็นความเป็นเพศว่ามีแค่ 2 เพศ และปัจจุบันคนเหล่านั้นก็อยู่ในองค์กร และในระดับผู้บริหาร ซึ่งเกิดมาในสมัยที่ไม่มีการเรื่องถกเถียงทางเพศ เรื่องเพศไม่ได้รับการเปิดเผย มันก็เป็นจุดขัดกันระหว่างคนปัจจุบัน ที่เริ่มเข้าใจ LGBT หรือยอมรับไม่ได้เมื่อคนกลุ่มนี้ถูกเลือกปฏิบัติ
การเป็น LGBT ทำให้พบอุปสรรคในการก้าวหน้าในหน้าที่การงานไหม
มีอุปสรรค เรื่องการจ้างงานมันสำคัญมาก กับทุกชีวิต การมีงานทำ การสร้างรายได้ และการเข้าถึงทรัพยากรเป็นเรื่องจำเป็นที่จะหาเลี้ยงตัวเองได้ แต่ถ้าคนๆ นั้นจะถูกตัดสินให้ไม่มีงานทำ ด้วยความเป็นเพศ มันเป็นความทุกข์ที่ยากจะอธิบายกับคนอื่นได้ เช่น ทำไมงานนี้ตรงตามวุฒิแต่ไม่ได้ ในรูปเป็นผู้หญิง แต่ในใบสมัครเป็นนาย หรือโทรมาถามเห็นเป็นเสียงกระเทย ก็บอกว่าไม่ต้องมาสัมภาษณ์แล้ว
บางที่ในยุคใหม่การเลือกปฏิบัติมันจะมีความแนบเนียนมากขึ้น เช่นพอเห็นเป็นนาย ก็ตัดออกแต่แรกเลย ถ้าเอาเข้ามามีปัญหามาก ในหลายองค์กรก็มี มากสุดก็เขียนลงในใบสมัครเลยว่าไม่รับเพราะเป็นสาวประเภทสอง ไม่รับเพราะบุคลิกภาพไม่เรียบร้อย ฉะนั้นความเป็นเพศจึงส่งผลมากต่อการตัดสินใจในการรับไม่รับเข้าทำงานในสังคมไทย
ในประเทศไทย คนชอบมองภาพจำของ LGBT ว่าเป็นตัวแทนของความตลก เป็นคนสร้างสีสัน ทำไมถึงออกมาเป็นภาพนั้น
งานเลี้ยงในบริษัท คนที่โชว์กลุ่มแรก หรือคิดการแสดงเต้นก็ต้องเป็นพวกเกย์ เป็นกระเทยเท่านั้น มันเป็นหน้าที่ของเธอ ถ้าทำไม่ได้ก็จะถูกมองว่าเสียชาติเกิด คือเราจะบอกว่า เราเห็นเรื่องนี้ว่าเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริง เราไม่ปฏิเสธว่าตัว LGBT เองก็ผลิตซ้ำตัวเอง เรื่องของความตลก
แต่สิ่งที่เราเชื่อมาตลอดคือ ไม่ว่าเค้าจะทำตัวแบบไหน แสดงออกแบบไหน ถ้าการแสดงออกนั้นตลก และคนยอมรับได้ ดีกว่าเค้านิ่งๆ แล้วคนไม่ยอมรับ เค้าเลือกตลกดีกว่า เราเชื่อว่ามันเป็นจุดเดียวที่ทำให้เป็นจุดเชื่อม ที่ทำให้คนยอมรับอัตลักษณ์ความเป็นเพศผ่านความตลก สิ่งนี้จึงถูกผลิตซ้ำจากคนในสังคม และเป็นภาพจำด้วย และส่วนนึงทำให้คน LGBT จำว่าถ้าคุณอยากมีจุดกึ่งกลางให้ได้รับการยอมรับในสังคม ก็ต้องตลก
มันถือเป็นจุดกึ่งกลางที่ประนีประนอม ฉะนั้นสิ่งที่ทำคือเพื่อแสดงออกถึงการยอมรับ บางที LGBT ก็ไม่ได้อยากเป็นอย่างนั้นหรอก แต่ต้องเป็นอย่างนั้น เพราะพยายามหาพื้นที่ที่จะได้รับการยอมรับหรือการมีอยู่ และแสดงการเป็นตัวเองอย่างปลอดภัย มันอาจจะทำให้เขาปลอดภัยมากขึ้น
ภาพต่างชาติก็มองว่าประเทศไทยมี LGBT เยอะ มีสถานที่ท่องเที่ยวเกี่ยวกับ LGBT เยอะ แต่ในความเป็นจริงทำไมเรื่องของเพศทางเลือกถึงยังไม่ได้รับการยอมรับ อย่างเช่น เรื่องสิทธิขั้นพื้นฐานในสังคมไทย
วิธีคิดเรื่องการทำความเข้าใจคนมันไม่เหมือนกัน อย่างต่างประเทศมันมีระบบกฎหมาย ระบบนโยบายที่สนับสนุนคน ให้พื้นที่คน และมีแนวคิดสิทธิมนุษยชนเป็นที่ตั้ง ถ้าประเทศเหล่านั้นเคยมีการเลือกปฏิบัติมายาวนาน และพยายามแก้ไข รวมถึงมีต่อสู้ของคนในประเทศนั้นด้วย แต่บ้านเราไม่ได้เป็นอย่างนั้นเลย มันปล่อยสะเปะสะปะ ซึ่งคนก็อาจจะมองว่าข้อดีของมัน คือถ้าอยากใส่ชุดเป็นผู้หญิง ก็เดินตามถนนได้ กะเทยก็เยอะแยะ นั้นหมายความว่าประเทศนี้ก็เป็นประเทศเสรีสำหรับ LGBT แล้ว
ยิ่งมีภาพจำของคนต่างประเทศ ว่าประเทศเราดูมีความเป็นเสรี เพื่อนต่างชาติยังเคยถามว่าประเทศนี้ดูเป็นเสรีมาก เพราะเธอก็เดินตามท้องถนนได้ แต่ในความเป็นจริงแล้วมันไม่ใช่ และขัดแย้งมาก
เพราะ LGBT ที่ใช้ชีวิตอยู่พวกนี้ ไม่ได้มีกฎหมาย หรือนโยบายมารับรองในความเป็นเพศ หรือคุ้มครองเขา แต่ในต่างประเทศมันมีหลักคิดคุ้มครองคนด้วย มันเลยยังเป็นภาพต่าง
เราว่ามันไปบังเอิญกับภาพของวงการอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ที่ดันให้กะเทยเป็นจุดขาย เช่นในพัทยา ถ้ามาแล้วต้องมาดูเต้นคาบาเร่ต์ มันกลายเป็นว่าธุรกิจโน้มน้าวความคิด ทำให้ไม่ได้เกิดความรู้และเข้าใจว่าจริงๆ ว่ากฎหมายในประเทศไทยเป็นอย่างไง เคยมีคนถามว่าดูเสรีขนาดนี้ทุกคนเป็นนางสาวหมดแล้วใช่ไหม เราก็ตอบว่าไม่ใช่ เขาก็ตกใจว่าแล้วอยู่กันยังไง ไปโรงพยาบาลยังไง ต้องเข้าวอร์ดชายหรอ อย่างที่บอกที่นี่มันมีความแตกต่างกันสูง เราจะเห็นข้อดีข้อนึง คือสังคมไทยมันสร้างการยอมรับกับคน LGBT ได้ แต่เป็นการยอมรับที่มีเงื่อนไข ไม่ว่าเรื่องใดเรื่องนึงที่จะได้นับการยอมรับคุณต้องเป็นแบบนี้ก่อน
จริงๆ เราก็คิดว่าทุกอย่างมันเสิร์ฟทุนนิยม หนุนเรื่องพวกนี้ แต่มันก็ยังดีที่คนไทยยังให้พื้นที่แสดงออกตัวตนความเป็นเพศอยู่บ้าง หรือเมื่อดูจำนวนความรุนแรงทางเพศเมื่อเทียบกับบางประเทศเราก็ยังดีกว่า อยู่ในที่สาธารณะยังสามารถแสดงออกอัตลักษณ์ทางเพศ เราก็ไม่ได้ถูกคนเข้ามาทำร้าย จนทำให้คนคิดว่านี่เป็นดินแดนเสรีของ LGBT
แต่คนไทย อาจจะไม่มีการมาว่ากล่าวกันต่อหน้า แต่อาจมีการกระซิบกัน หรือทำอย่างใดอย่างหนึ่งที่ไม่สนับสนุน LGBT เราเชื่อว่าถ้ามีการเคลื่อนไหวของ LGBT ต่อสู่เรื่องนึง เช่นการแต่งงานของคนเพศเดียวกัน วันนั้นจะมีคนที่ขึ้นมาต่อต้าน และไม่เอาด้วย คนจะคิดว่าเป็นแบบนี้ก็ดีแล้ว ไม่ต้องไปเรียกร้องอะไร แค่นี้คนก็ให้พื้นที่แล้ว
พบเคสของคนที่มีปัญหาจากการเป็น LGBT บ้างไหม เคสไหนที่จบเจอปัญหาหนักสุด
อย่างเราที่ทำองค์กรเกี่ยวกับทรานเจนเดอร์ และเป็นคนก่อตั้งกลุ่มเพื่อนกะเทยไทย เราก็จะเจอปัญหาของคนที่เป็นกะเทย ในการทำงานและสมัครงานมากที่สุด เราก็บอกกันว่าทุกคนต้องการงานทำ ทุกคนต้องการมีชีวิต และกว่าคนเหล่านั้นจะเข้าถึงการศึกษา พ่อแม่ส่งลูกที่เป็นกะเทยเรียน มันยังมีกรณีที่พ่อแม่ไล่ออกจากบ้าน เพราะผิดหวังจากเรื่องเพศของลูก คนพวกนั้นก็กลายเป็นคนที่ไม่มีการศึกษา ไม่มีคุณวุฒิติดตัว งานที่เขาทำก็จะไม่ได้มีตลาดกว้าง ยิ่งแคบ หรือหลายคนที่มีวุฒิ เรียนจบ ไปสมัครงานก็สมัครไม่ได้ เพราะคนตัดสินจากความเป็นเพศ ฉะนั้นปัญหาจากการจ้างงานมีมาก
คำนำหน้านามก็เป็นอุปสรรคกับการใช้ชีวิต โดยเฉพาะคนข้ามเพศ บางทีบัตรประชาชนเป็นนายก็ไม่รู้จะทำไง ไปติดต่อราชการก็ถูกถาม เป็นตัวจริงหรือเปล่า บอกพ่อแม่หรือยังแต่งตัวแบบนี้ หรือที่เราเจอก็มีไม่ให้เปลี่ยนชื่อ ให้พ่อแม่มายืนยันได้ไหม ว่าเป็นตัวจริง และถูกตั้งแง่เรื่องความเป็นเพศ หรืออย่างไปโรงพยาบาล หมอให้ไปนอนวอร์ดผู้ชาย ทั้งๆ ที่ตัวจริงเป็นผู้หญิงหมดแล้ว และเราก็เถียงไม่ได้เพราะบัตรเขียนว่านาย หรือการเดินทางไปต่างประเทศ ในบางประเทศก็มีปัญหา เพราะหนังสือเดินทางเราเป็นคำนำหน้าเดิม ทำให้ยากเพราะเพศสภาพไม่ตรงกับที่ระบุไว้ในเอกสาร
แต่ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องอคติมากกว่า จริงๆ คนก็ไม่มีความมั่นใจนะ ไปรับยาถูกเรียกว่า ‘นาย’ คนมองหลายสิบคน เราก็ไม่มั่นใจ บางทีเราก็ให้แม่ไปรับแทน มันคือวิถีชีวิตจริงๆ
ปัญหาของ LGBT ที่พยายามเคลื่อนไหว ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคมไทยตอนนี้ มีเรื่องอะไรบ้าง
เราจะเห็น 2 เรื่องในการเคลื่อนไหวของ LGBT คือ 1) การแต่งงานของคนเพศเดียวกัน คือพระราชบัญญัติชีวิตคู่ 2) การเปลี่ยนคำนำหน้านามของคนข้ามเพศ สองเรื่องนี้น่าจะเป็นเรื่องหลักแล้ว ปัญหาย่อยๆ ต่างๆ ก็มักจะเกิดจากเรื่องนี้ เราก็ไม่รู้ว่ามันจะแก้ปัญหาไหม แต่มันควรได้รับการแก้ไข ถูกสร้างเป็นกฎหมายเพื่อคุ้มครอง
ถ้าถามเราว่าเรื่องไหนจะเกิดขึ้นก่อน เราว่ากฎหมายเปลี่ยนคำนำหน้านามน่าจะเปลี่ยนได้ก่อน แต่เราว่านาน น่าจะเกิน 20 ปีต่อจากนี้ เราเชื่อมากเรื่องความเปลี่ยนแปลงทางกฎหมายหรือความคิด เพราะมันต้องผ่านผู้แทนพระองค์ซึ่งตอนนี้เรายังไม่มีด้วย จึงเป็นไปไม่ได้เลย หรืออีกทางคือให้รัฐบาลชุดนี้ผ่านกฎหมายเลยในสภา ก็เป็นไปไม่ได้อีก
แต่คิดว่ามันนาน เพราะว่าการออกกฎหมายบางอย่างที่เกี่ยวกับสิทธิผู้คนในบ้านเรามันนานมาก เหมือนกฎหมายประกันสังคมที่ใช้เวลาถึง 46 ปี จริงๆ พวกที่เป็นนักนโยบายหรือเปลี่ยนแปลงนโยบายต้องคิดว่ามันกระทบคนไหม คนจะแย้งเยอะไหม จะกังวลว่าสังคมว่าอย่างไร ลองโยนเรื่องนี้ถามสังคมยัง ระยะหลังพอเราทำงานเกี่ยวกับคนที่มีส่วนเปลี่ยนแปลงนโยบายในภาครัฐ มีความต้องการบางอย่างที่ต้องดูข้อมูล เช่นประชาชนว่ายังไง มีงานวิจัยอะไร ฉะนั้นงานที่เราทำก็ต้องกระตุ้นให้คนคิดเรื่องนี้ ว่าปัญหาที่เกิดขึ้น ปัญหาจากความหลากหลายทางเพศมีอะไรบ้าง ดังนั้นคนที่เคลื่อนไหวเรื่องคนแต่งงานเพศเดียวกัน ก็ต้องมีเสวนา ต้องทำแบบนี้เพื่อให้เกิดการเคลื่อนไหวตลอด ให้คนสนใจมากยิ่งขึ้น
เราว่าการเปลี่ยนแปลงคำนำหน้าเกิดก่อน เพราะมันกระทบคนน้อยที่สุด มีผลกับแค่คนข้ามเพศ แต่กฎหมายการแต่งงาน มันกระทบกับความสัมพันธ์ กฎหมายครอบครัว กฎหมายทรัพย์สิน
ทำไมถึงประเมินว่าอีกอย่างน้อย 20 ปี เป็นเพราะเรื่องของ generation รึเปล่า
เราไม่รู้ว่าเป็นเรื่องของ generation รึเปล่า แต่เราว่าระยะเวลาของความเปลี่ยนแปลง ประมาณ 10 ปี มันกำลังพอดีในหลายๆ เรื่อง เช่นถ้าให้ความรู้คนใน 10 ปี มันจะทำให้คนเข้าใจเรื่องนั้นไปได้ และหลังจากนั้นมันคือการขับเคลื่อน เราจึงมองว่าจะเป็นแบบนั้น อย่างงานที่เราทำกับเพื่อนกะเทยไทย ก็ทำมาเกือบ 10 ปีแล้ว แต่ช่วงแรกๆ เราทำแค่การให้ข้อมูลทางบวกเกี่ยวกับชีวิตของคนที่เป็นกะเทยในสังคมไทย และเห็นว่าหลายๆ เรื่องมันถูกพูดมากขึ้นในสังคมไทย
เราจึงมองว่า 10 ปี คือระยะเวลาที่พอจะเห็นการเปลี่ยนแปลงบ้าง สังคมอาจจะมีทิศทางที่ดีขึ้น คนจะเริ่มอดทนไม่ได้หรอกที่จะเห็นคนถูกเลือกปฏิบัติต่อหน้า ฉะนั้นสิ่งนึงที่ต้องรอคือตัว LGBT ต้องมองเห็นว่าสิ่งที่ตัวเองเผชิญเป็นปัญหา สามารถลุกขึ้นมาเรียกร้อง ใช้กลไกสิทธิมนุษยชนในการคุ้มครองปกป้องตัวเองได้ ไกลกว่านั้นคือคนในสังคมที่ไม่ใช่ LGBT มองเห็นปัญหา และสามารถบอกสังคมว่านี่เป็นการเลือกปฏิบัติ และไม่ถูกต้อง
เคลื่อนไหวอย่างไรให้คนที่ไม่ได้เป็น LGBT เห็นด้วย และคล้อยตาม ทำยังไงให้คนอินไปกับเรื่องนี้
พลังมันไม่พอ เพราะคนเป็น LGBT ก็ไม่ใช่คนที่สามารถไปนั่งและขับเคลื่อนอะไรได้ อย่างแรกในความสำเร็จของการเปลี่ยนแปลงของหลายประเทศคือ มันมีคนเหล่านี้เข้าไปนั่งในสภา มีคนพวกนี้เข้าไปอยู่ในคนเปลี่ยนแปลงนโยบาย แต่บ้านเราไม่มีเลย เช่น ถ้าเราดูประเทศเล็กๆ เช่นเนปาล ที่เปลี่ยนแปลงกฎหมายเพิ่มตัวเลือกเพศ others หรืออื่นๆ มากกว่า 2 เพศ จะเห็นว่าก็ไม่ใช่เรื่องของรัฐมนตรี 4-5 คนที่จบมาจากเมืองนอก แต่เพราะว่าคนพวกนี้เรียกนักกฎหมาย LGBT หรือนักเคลื่อนไหวมาอยู่ในทีม แต่บ้านเราไม่มีข้าราชการหรือผู้เปลี่ยนแปลงนโยบายพวกนี้ เพราะต้องระวังตัว ไม่งั้นถ้าผลักดันเรื่องนี้คนก็จะมองว่าแบบเป็นเกย์รึเปล่า คนจึงกลัว และถอย
ฉะนั้นอันแรกเลย LGBT ต้องเชื่อว่าสิ่งที่ตัวเองถูกเลือกปฏิบัติทางเพศ และเจออคติทางเพศสามารถได้รับการแก้ไข และใช้กลไกสิทธิมนุษยชนได้ ไม่ใช่ปล่อย นิ่งเฉย และอย่างที่สอง ต้องทำให้คนในสังคมเห็นว่าเรื่องนี่ไม่ใช่เรื่องของแค่คนกลุ่มเรา แต่เป็นเรื่องที่ต้องเห็นใจและให้แรงสนับสนุน คือสิ่งที่มันเป็นวาระได้ มันต้องกระทบคนจำนวนมาก และเราคิดว่าแรงสนับสนุนของคนที่ไม่ใช่ LGBT สำคัญมาก
มันอาจจะเริ่มต้นจากพ่อแม่ที่มีลูกเป็น LGBT เราว่าคนกลุ่มนี้จะเป็นพลังแรกๆ ที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิด กลุ่มที่ 2 คือคนรุ่นใหม่ ที่มีเพื่อนเป็น LGBT ในชั้นเรียน ถ้าคนกลุ่มนี้มากพอจนกระทั่งพูดเป็นเสียงเดียวกันได้ว่า ถึงเวลาแล้วที่ประเทศต้องมีอะไรมาคุ้มครอง LGBT เราว่าวันนั้นคนที่เป็นคนกำหนดนโยบายจะรับฟังมากยิ่งขึ้น เรื่องแบบนี้ไทม์ไลน์มันอีกยาว เราเลยคิดว่าอีกยาวและไม่ใช่คนรุ่นเราแน่ๆ ที่เป็นคนเปลี่ยน