เวลาที่ซักผ้า เราได้คำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหรือเปล่า?
ถ้าไม่ทันคิด ก็ไม่ต้องตกใจไป เพราะมีผลการวิจัยออกมาแล้วว่า หากเป็นเรื่อง ‘ความสกปรก’ แล้ว คนส่วนใหญ่ก็ไม่ได้คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมเหมือนกัน!
รู้สึกไหมว่าทุกวันนี้เราซักผ้ากันมากขึ้นกว่าเดิม สวมใส่เพียงครั้งเดียวก็โยนเข้าเครื่องซักผ้าเสียแล้ว? จากการสำรวจของ Unilever พบว่า เสื้อผ้าประมาณ 70% ถูกนำไปซักแม้ไม่มีคราบที่มองเห็นได้
เมื่อซักผ้าบ่อย การปล่อยมลพิษจากการซักผ้าก็สูงขึ้นเช่นกัน จากรายงานของหน่วยงานวิจัยรัฐสภายุโรป ระบุว่า ในการซักเพียงครั้งเดียว เสื้อผ้าโพลีเอสเตอร์สามารถระบายเส้นใยไมโครพลาสติกออกมาได้ถึง 700,000 เส้น นอกจากนี้ ผงซักฟอกยังมีส่วนทำให้เกิดยูโทรฟิเคชั่น (Eutrophication) หรือปรากฏการณ์น้ำเปลี่ยนสี และการใช้พลังงานและน้ำในการซักก็มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเช่นกัน
งานวิจัยนี้จึงศึกษาเรื่อง พฤติกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมถูกทำลายด้วยความอ่อนไหวต่อความรังเกียจ: กรณีของการซักผ้ามากเกินไป โดยได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร PLOS ONE ซึ่งงานวิจัยพบว่า ความรู้สึกรังเกียจและอับอายนั้นกระตุ้นให้มีการซักเสื้อผ้าที่มากเกินไป แม้แต่คนที่ใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อมก็ตาม
นักวิจัยชาวสวีเดนได้สำรวจกลุ่มตัวอย่างจำนวน 2,000 คน โดยมุ่งเน้นที่แรงผลักดัน 2 อย่างที่ส่งผลต่อพฤติกรรมการซัก คือ ตัวตนทางสิ่งแวดล้อม มองว่าตนเองให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมมากขนาดไหน และอีกปัจจัยคือ เรามีแนวโน้มที่จะมีความรู้สึกรังเกียจมากเพียงใด
ผลการสำรวจพบว่า เมื่อขอให้กลุ่มตัวอย่างเอาเสื้อผ้าสกปรกของพวกเขามาตากเลยโดยไม่ต้องซัก ความกลัวที่จะถูกคนอื่นมองว่า ‘ไม่สะอาด’ ก็เข้ามาครอบงำโดยไม่นึกถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมเลย
“ความรังเกียจมักจะชนะเสมอ” อีริก คลินต์ (Erik Klint) นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยี Chalmers ในเมืองโกเธนเบิร์ก ประเทศสวีเดน ผู้เขียนรายงานวิจัยนี้กล่าว สอดคล้องกับข้อมูลจากงานวิจัยครั้งที่ผ่านๆ มา ว่าหลายๆ คนไม่เห็นความเชื่อมโยงระหว่างเรื่องการซักผ้ากับเรื่องสิ่งแวดล้อม แม้ว่าเครื่องซักผ้าจะใช้ทั้งพลังงานและน้ำก็ตาม
เมื่อพบว่างานวิจัยที่มีเป้าหมายปรับเปลี่ยนนิสัยคนให้ซักผ้าน้อยลงนั้นไม่ประสบความสำเร็จ นักวิจัยจึงหันมาสำรวจมิติทางสังคมที่ส่งผลให้ผู้คนซักผ้ามากเกินไปแทน
นักวิจัยพบว่าผู้คนมีความเซนซิทีฟมากกับความรู้สึกรังเกียจ อับอาย หรือการละเมิดบรรทัดฐานด้านความสะอาด ทำให้ใช้เครื่องซักผ้าบ่อยๆ แต่กลับไม่พบว่าสังคมมีส่วนหล่อหลอมให้เกิดความรู้สึกพวกนี้กับเรื่องสิ่งแวดล้อมเลย
จึงได้ข้อสรุปว่า ภาวะที่เกิดขึ้นคือ คนกลัวความเสี่ยงที่จะโดนสังคมกดดันเรื่องความสะอาด มากกว่าที่จะให้ความสำคัญกับความตั้งใจเชิงนามธรรมอย่างการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งคลินต์อธิบายเสริมว่า ความรังเกียจถือเป็นวิวัฒนาการของมนุษย์ ที่พัฒนาขึ้นมาเพื่อป้องกันเชื้อโรคหรือสารอันตราย
อย่างไรก็ดี ก็พอจะมีวิธีการที่จะทำให้คนยอมซักผ้าให้น้อยลงอยู่บ้าง จากงานวิจัยชิ้นหนึ่งพบวิธีที่จะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้คนได้ โดยใช้ ‘กลยุทธ์ข้อแก้ตัว’
จากเดิมที่คนกลัวว่าสังคมจะกีดกันเพราะรู้ว่าตัวเองสกปรก กลยุทธ์นี้จะทำให้พวกเขาตระหนักได้ว่า ‘ก็ไม่มีใครรู้นี่นาว่าเราไม่ได้ซักเสื้อผ้าที่ใส่อยู่’ โดยคลินต์กล่าวว่า “มีความเห็นเป็นเอกฉันท์ว่า ผู้คน อย่างน้อยก็คนตะวันตก มักจะซักเฉพาะเสื้อผ้าที่คนอื่นจะรู้ได้ว่ามันสะอาดหรือเปล่า”
เอียน วอล์คเกอร์ (Ian Walker) หัวหน้าสาขาจิตวิทยาที่มหาวิทยาลัยสวอนซี ซึ่งไม่ได้มีส่วนร่วมในงานวิจัยนี้ ให้ความเห็นว่า การศึกษานี้อาจช่วยให้ผู้คนพบวิธีที่ดีกว่าเดิมในการประนีประนอมระหว่างเรื่องความสะอาดกับความต้องการรักษาสิ่งแวดล้อม โดยการทำให้คนเข้าใจมากขึ้นว่าการสวมใส่เสื้อผ้าซ้ำเป็นเรื่องปกติ และมีสิ่งสกปรกหรือเชื้อโรคเพียงน้อยนิดเท่านั้นที่เข้าไปสะสมในเสื้อผ้าได้
แล้วถ้าเป็นคุณล่ะ ทั้งกลยุทธ์ข้อแก้ตัวหรือการตระหนักถึงเรื่องสิ่งแวดล้อม จะทำให้คุณตัดสินใจซักผ้าน้อยลงหรือเปล่า?
อ้างอิงจาก