“คุณแต่งงานแล้วหรือยัง?” เป็นหนึ่งในคำถามที่ผู้หญิงถูกถามหน้าประตู เมื่อไปสมัครงานที่โรงงานซัพพลายเออร์รายใหญ่ของ Apple ในประเทศอินเดีย
ปาราวตี (Parvathi) และจานัก (Janak) คู่พี่น้องชาวอินเดียอายุประมาณ 20 ปี เล่ากับผู้สื่อข่าวว่า “เราทั้งคู่ไม่ได้งานทำ เพียงเพราะเราแต่งงานแล้ว” ซึ่งเธอได้รับคำเตือนตั้งแต่เดินทางไปยังโรงงาน Foxconn โดยคนขับรถบอกกับพวกเธอว่า ที่นี่ไม่รับผู้หญิงที่แต่งงานแล้ว
สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า จากการสอบสวนพบว่า Foxconn มีกระบวนการในการคัดผู้หญิงออกไปจากรายชื่อแคนดิเดตอย่างเป็นระบบ โดยให้เหตุผลว่า เพราะพวกเธอจะมีภาระที่ต้องดูแลครอบครัวมากกว่าผู้สมัครที่ยังไม่แต่งงาน
เอส. พอล (S. Paul) อดีตผู้บริหารฝ่ายบุคคลของ Foxconn ระบุว่า “จะมีปัจจัยเสี่ยงสูงขึ้น ถ้าหากคุณจ้างผู้หญิงที่แต่งงานแล้ว) โดยแหล่งข่าวไม่เปิดเผยชื่อจากฝ่ายบุคคลของ Foxconn ระบุสาเหตุเพิ่มเติมถึงการตั้งครรภ์ และการขาดงานที่มากกว่า นอกจากนั้น ผู้หญิงฮินดูที่แต่งงานแล้วยังมีการสวมใส่เครื่องประดับโลหะตามวัฒนธรรม ซึ่งอาจสร้างความเสียหายกับกระบวนการผลิตได้
จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น Apple และ Foxconn ได้รับทราบถึงปัญหาที่เกิดขึ้นแล้ว จากกรณีการจ้างงานในปี 2022 และระบุว่าพวกเขาจะแก้ไขไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นอีก และยืนยันว่าไม่มีการเลือกปฏิบัติ แต่ในปี 2023-2024 ก็ยังพบกรณีการไม่จ้างงานผู้หญิงที่แต่งงานแล้วอยู่ดี
สำหรับผู้หญิงอินเดียบางคน การจะได้โอกาสทำงานที่นี่ มีความหมายมากกว่าแค่การประกอบไอโฟนไปวันๆ นอกจากค่าจ้างที่สูงถึงประมาณเดือนละ 200 ดอลลาร์ และสวัสดิการที่จะได้รับ ทั้งอาหาร และที่พัก เป็นเสมือนตั๋วเที่ยวด่วนที่พาพวกเธอออกไปจากความยากจนได้ เพราะแม้เศรษฐกิจจะเฟื่องฟูขึ้น แต่ผู้หญิงอินเดียจำนวนมากยังต้องเผชิญกับการถูกจำกัดให้ทำงานบ้านและดูแลเด็กเท่านั้น
แม้จะเป็นการเลือกปฏิบัติ และฟังดูไม่มีความเท่าเทียมเป็นอย่างมาก แต่การกระทำนี้ไม่ถือว่ามีความผิด เพราะกฎหมายอินเดียไม่มีระบุถึงข้อห้ามการเลือกปฏิบัติในการจ้างงานจากสถานภาพของสมรส อย่างไรก็ดี พบว่า Apple กับ Foxconn มีนโยบายห้ามการเลือกปฏิบัติอยู่
Foxconn ถือเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ของ Apple ซึ่งหนึ่งในโรงงานที่ดูแล คือโรงงานประกอบไอโฟนในอินเดีย โดย Apple มีอินเดียเป็นฐานการผลิตทางเลือกนอกเหนือจากจีน เพราะยังมีความตึงเครียดเกิดขึ้นระหว่างปักกิ่งกับวอชิงตันอยู่ ซึ่ง นเรนทรา โมดี (Narendra Modi) นายกรัฐมนตรีอินเดีย เล็งเห็นว่าห่วงโซ่อุปทานที่กว้างขึ้นจากความร่วมมือของ Foxconn กับ Apple จะช่วยขยับคุณค่าทางเศรษฐกิจของอินเดียได้
อย่างไรก็ดี โมดียังมีนโยบายที่ต้องการขจัดอุปสรรคทางสังคมที่ขัดขวางไม่ให้ผู้หญิงมีงานทำ ดังนั้นการไม่รับผู้หญิงแต่งงานแล้วเข้าทำงาน จึงอาจเป็นสิ่งที่ตรงข้ามกับเป้าหมายของโมดี โดยฝ่ายบริหารของโมดีกำลังพยายามยกเครื่องกฎหมายแรงงาน ให้มีมาตรการป้องกันการเลือกปฏิบัติทางเพศ
“เมื่อผู้หญิงเจริญรุ่งเรือง ประเทศก็จะรุ่งโรจน์” โมดีกล่าวในการปราศรัยต่อการประชุมรัฐมนตรีในประเด็นเกี่ยวกับสิทธิสตรีเมื่อเดือนสิงหาคม 2566 พร้อมระบุว่าจะมุ่งมั่นทำงานเพื่อขจัดกำแพงที่มาขวางกั้นการได้เข้าถึงตลาดแรงงานของผู้หญิง
ซึ่ง Apple และ Foxconn ถือเป็นศูนย์กลางสำคัญสำหรับเป้าหมายนี้ โดย ทิม คุก (Tim Cook) CEO ของ Apple เคยไปเยี่ยมเยียนอินเดีย และได้หารือกับอาชวินี ไวษณะ (Ashwini Vaishnaw) รัฐมนตรีกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศของอินเดีย ถึงประเด็นการสร้างตำแหน่งงานสำหรับผู้หญิง
อ้างอิงจาก