รู้จักอินเดียให้มากขึ้นกับ ‘ปาราวตี’ ผู้ไปเยือนอินเดียมาแล้วเป็นต้องเล่าประสบการณ์สนุกๆ ลงบนเฟซบุ๊กอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นการนั่งรถไฟ 30 ชั่วโมง การได้พบคนอินเดียที่หลากหลาย ทั้งชาวประมง หรือรองอันดับที่หนึ่งของเวทีประกวดมิสเตอร์เกย์เวิล์ดอินเดีย
The MATTER ได้มีโอกาสคุยกับ ปาราวตี ในโอกาสที่หนังสือ DEAR INDIA มาหาภารตะ กำลังจะวางขาย ซึ่งปาราวตีได้ให้คำจำกัดความของหนังสือเล่มนี้เอาไว้ว่า อาจเป็นหนังสือที่ไม่สามารถเที่ยวตามได้ แต่รับรองว่าจะได้รู้จัก สนิท และหลงรักประเทศอินเดียมากขึ้นในทุกบทที่อ่านจบ
อินเดียในวันนั้นกับวันนี้ ความรู้สึกของการไปเที่ยวอินเดียครั้งแรก กับครั้งล่าสุด มีอะไรที่เปลี่ยนไป
“จริงๆ แล้วอินเดียไม่ได้แตกต่างไปจากเดิมสำหรับมุมมองของเรา แต่เรารู้สึกว่าครั้งแรกกับครั้งล่าสุด สิ่งที่ต่างไปคือตัวเรามากกว่า เพราะอย่างครั้งแรก ตอนนั้นเรายังเรียนอยู่ เราไม่ได้มีเงินเยอะในการที่จะไปท่องเที่ยว จริงๆ แล้วอินเดียก็ไม่ได้ใช้เงินเยอะมากด้วยในการไปเที่ยว ก็เลยโอเค มันก็เหมือนกับเป็นสัดส่วนที่พอดีกัน เราก็เลยได้ไป”
“แต่ทีนี้พอได้กลับไปครั้งล่าสุด เรารู้สึกว่าเราเปลี่ยนไป อาจจะด้วยแบบ พอเราทำงาน มีการงานที่มั่นคงขึ้นแล้ว การที่ไปอินเดียมันก็แตกต่างไปจากเดิม จากเมื่อก่อนที่เราจะนอนไหนก็ได้ เลือกนั่งรถไฟแบบที่มันคลาสต่ำสุดเลย หรือเลือกนั่งรถเมล์ท้องถิ่นที่มันไม่มีแอร์เพราะมันถูก ครั้งล่าสุดที่เราไป วิถีการท่องเที่ยวของเรามันเปลี่ยนไปด้วย เราชอบที่จะนั่งรถไฟแอร์มากกว่าเดิม ชอบที่จะนอนห้อง จองโรงแรมดีๆ นอน ไม่ได้ไปนอนราคาถูกๆ อีกแล้ว”
“ก็เลยรู้สึกว่า ครั้งแรกกับครั้งล่าสุด อินเดียไม่ได้มีความเปลี่ยนแปลงไปมากมายนัก ในแง่ของตัวของมันเอง แต่เป็นตัวเรามากกว่าที่เปลี่ยนไป แต่ว่าทัศนคติของเรากับอินเดียก็ยังเหมือนเดิม ยังชอบอยู่เหมือนเดิม แม้ว่าอาจจะเที่ยวสบายขึ้นกว่าเดิมนิดนึง แต่ก็ยังรักอยู่เหมือนเดิม วัฒนธรรม ผู้คน สีสันในการเดินทางมันยังเหมือนเดิม”
การเที่ยวอินเดียที่ท้าทายที่สุด 4 เดือนกับอินเดีย ที่ไม่ต้องเสียค่าที่พัก แต่ได้รู้จักอินเดียมากขึ้น
“สำหรับเราเป็นการเดินทางตอนที่เราเลือกที่จะลาออกแล้วไปเที่ยวอินเดีย 4 เดือนเต็ม เพราะว่าตอนนั้นเราลาออก มันก็ไม่ได้มีเงินเยอะมากก็เลยเลือกที่จะใช้พวกแอปฯ ต่างๆ”
“มันจะมีแอปที่เรียกว่า couchsurfing เป็นแอปฯ ที่ช่วยหาบ้านคนท้องถิ่นพักฟรีได้ ซึ่งมันจะแบ่งผู้ใช้เป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรกคือกลุ่มที่เป็นเจ้าของบ้าน คนท้องถิ่น และกลุ่มที่สองเป็นนักท่องเที่ยว สมมติว่าเราเป็นนักท่องเที่ยว เราก็สามารถเขียนลงไปในแอปฯ ว่านี่ฉันกำลังจะไปเที่ยวที่มุมไบช่วงวันนี้ถึงวันนี้ ฉันต้องการที่จะไปดูว่าประเทศอินเดียเป็นยังไง ถ้าคนท้องถิ่นที่อยู่ที่มุมไบเขาเปิดมาเจอแล้วเห็นว่าเรากำลังจะไปมุมไบแล้วสนใจ เขาก็อาจจะทักมาแล้วบอกว่าให้เราไปค้างบ้านเขาได้ฟรี”
“อีกแอปฯ หนึ่งที่ใช้คือ workaway ที่จะมีโฮสต์ที่เป็นองค์กรต่างๆ เขาจะรับสมัครให้เราไปช่วยงาน ซึ่งงานที่รับสมัครใน workaway ก็มีเยอะมาก มีตั้งแต่แบบงานทำไร่ งานบริษัททัวร์ งานเป็นผู้ช่วย งานที่เคยเห็นแปลกๆ ก็มีเป็นผู้ช่วยอาจารย์มหาวิทยาลัยอะไรอย่างงี้ก็มี มันก็จะมีหลากหลาย ตอนนั้นเราก็เลยรู้สึกว่าช่วงนั้นที่มันท้าทายเพราะว่าเราต้องพยายามหาเจ้าของบ้านใน couchsurfing แล้วก็หาโฮสต์ใน workaway เพื่อที่จะประหยัดเงินให้ได้มากที่สุด”
“ตอนนั้นก็รู้สึกว่าทำได้ดีพอสมควรเลยนะ เพราะว่าถ้าจำไม่ผิด ใน 4 เดือนนั้น เราแทบไม่ได้เสียเงินจ่ายค่าที่พักเลยสักบาท เงินที่จ่ายไปคือเป็นค่ากินกับค่าเดินทางมากกว่า ไม่ได้จ่ายค่าที่พักเลย ก็ถือว่าแบบเหนื่อยแล้วก็ลุ้นแต่ว่าก็คุ้มค่าดีเหมือนกันที่ได้เข้าไปใกล้ชิดกับคนอินเดียแล้วก็ได้พักฟรีด้วย”
ชีวิต LGBTQ+ ในอินเดียที่เจ็บปวด แม้ในวันที่แก้กฎหมายแล้ว
“ครั้งแรกที่เราไป ตอนนั้นประเทศอินเดียยังมีกฎหมายมาตรา 377 ที่ว่าการเป็นเพศทางเลือกยังเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายอยู่ คือถ้าเขาจับได้ว่ามีผู้ชายอยู่ด้วยกันสองคนแล้วมีอะไรกัน ก็จะสามารถถูกจับเข้าคุกได้เลย ณ ตอนนั้น”
“หลังจากนั้นก็ค่อยๆ เปลี่ยนมาเรื่อยๆ จากตอนแรกที่มันผิดกฎหมาย พอเราไปครั้งล่าสุด มันมีการปรับกฎหมายใหม่ให้เป็นมิตรกับเพศทางเลือกมากขึ้น ปรับแก้ให้เป็นธรรมมากขึ้น เลยเป็นจุดเริ่มต้นให้คนเริ่มคิดกันว่าอินเดียเปลี่ยนแปลงไป จากประเทศที่อนุรักษ์นิยมสุดขั้ว เน้นทางศาสนา ก็เริ่มเปิดกว้าง ยกเลิกกฎหมายบางตอนที่มันไม่เป็นธรรมกับเพศทางเลือกออกไป ตอนนี้ก็ถือว่าสถานการณ์โอเคขึ้น”
“จากประสบการณ์ที่เราเคยไปอินเดียมา มันจะมีแอปฯ หาคู่ พวกทินเดอร์ สิ่งหนึ่งที่เรารู้สึกว่ามันแปลกใหม่ เวลาที่เราเล่นทินเดอร์ หรือแอปฯ ต่างๆ ที่เกี่ยวกับเดตของพวกเกย์พวกเพศทางเลือก ถ้าเป็นประเทศเรา เราก็จะเห็นว่าคนใช้รูปตัวเองเป็นหลัก ใช้รูปตัวเองในการเป็นรูปโปรไฟล์ พอไปอยู่ที่อินเดีย หาน้อยมากเลยที่จะมีคนใช้รูปตัวเองเป็นรูปโปรไฟล์ เพราะว่าเขากลัวเรื่องกฎหมาย เขากลัวเรื่องมีคนที่รู้จักฉันมาใช้เหมือนกันแล้วเอาไปแฉ มันมีสิ่งเหล่านี้เข้ามา มันเลยทำให้วัฒนธรรมการเล่นโซเชียลมีเดียที่เกี่ยวกับการออกเดตในอินเดียมันแตกต่างไปจากที่อื่น”
“ถึงตอนนี้กฎหมายไม่ผิดเลยสักนิด แต่สิ่งที่ยังหลงเหลืออยู่คือทัศนคติของคน คนอินเดียส่วนใหญ่ ต่อให้กฎหมายระบุออกมาแล้ว แต่คนอินเดียมากกว่า 50% เราคิดว่าเป็นคนที่อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ เพราะฉะนั้นต่อให้กฎหมายพูดอะไรมา บางทีคนกลุ่มนี้อาจจะไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามันมีสิ่งเหล่านี้อยู่ มันก็เลยมีคนกว่าค่อนประเทศที่ยังเชื่อในสิ่งเดิมๆ เชื่อในความคิดเดิมๆ อยู่ว่าสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ผิด”
“ถ้าจะมีเปิดเผย ต้องบอกก่อนว่าอินเดียมันใหญ่มาก ใหญ่กว่าประเทศไทยหลายเท่า เพราะฉะนั้นมันก็จะมีส่วนที่เป็นเมืองใหญ่ๆ อารมณ์เหมือนกรุงเทพเรา อารมณ์แบบพวกมุมไบ นิวเดลี อะไรพวกนี้ที่เป็นเมืองหลวงประจำรัฐต่างๆ ถ้าเป็นในเมืองหลวงพวกนี้ค่อนข้างที่จะเจริญแล้ว คนก็ค่อนข้างที่จะหัวเปิดกว้าง จะมีบ้างที่มีผู้ชายแต่งตัวเป็นผู้หญิง หรือผู้ชายที่เอาชุดผู้หญิงมาใส่ หรือมีผู้หญิงที่ซอยผมสั้นๆ อยู่ในเมืองพวกนี้ให้เราได้เห็นอยู่บ้าง”
“แต่ว่าถ้าเราออกไปเมืองอื่นๆ ที่ไม่ใช่เมืองหลัก ถึงแม้ว่ามันจะเป็นเมืองที่อยู่ข้างกันอารมณ์แบบเมืองที่อยู่ติดกันก็ตาม เมืองนั้นก็อาจจะเป็นอีกแบบนึงไปเลย แบบคนอาจจะไม่ได้กล้าขนาดนั้น คนที่ทำแบบนี้ก็อาจจะโดนเพ่งเล็ง โดนมอง หรืออะไรแบบนี้ ส่วนใหญ่แล้วคนที่เปิดตัวจริงๆ เลยก็จะอยู่ในเมืองเป็นหลัก”
“คนปกติทั่วไปจะพูดกันว่าเป็นผู้หญิงอย่าไปเที่ยวอินเดียคนเดียวมันอันตราย เราในฐานะที่แบบก็เป็นแบบนี้เนอะ เราก็ค่อนข้างที่จะตุ้งติ้งหน่อยๆ เอาจริงๆ เราก็รู้สึกว่ามันมีอันตรายสำหรับเราเหมือนกัน โดยที่ก่อนหน้านี้เราเองก็ไม่เคยคิดเหมือนกันว่ารูปร่างฉันที่เป็นผู้ชายงี้มันจะมีอันตรายในเรื่องของการคุกคามทางเพศได้ด้วยเหรอ ตอนที่เราไปอินเดียกลายเป็นว่าสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นกับเราบ่อยมาก”
“เพราะว่าประเทศอินเดียมันแบ่งแยกเพศกันอย่างชัดเจน ผู้ชายจะสุงสิงอยู่กับแค่ผู้ชายเท่านั้น ผู้หญิงก็จะสุงสิงอยู่กับแค่ผู้หญิงเท่านั้น จะไม่มาข้ามสายกัน จะไม่เห็นว่ามีคนอินเดียที่เดินกันเป็นกลุ่มก้อนทั้งผู้ชายผู้หญิง ส่วนใหญ่มันจะแบ่งแยกไปเลยเป็นกลุ่มไปเลย ถ้าจะมีผู้ชายผู้หญิงไปด้วยกันก็จะต้องเป็นพี่น้อง หรือเป็นแฟน คนที่แต่งงานกันแล้ว ขนาดพี่น้องที่เป็นผู้ชายผู้หญิง พอโตถึงระดับหนึ่งเขาก็จะไม่สุงสิงกันแล้ว เขาก็จะแยกกันไปเลย แต่ว่าถ้ายังเด็กอยู่ก็ยังสุงสิงกันได้อยู่”
“แล้วมันก็เลยกลายเป็นว่ามันมีโอกาสน้อยที่ผู้ชายจะได้คลุกคลีกับผู้หญิง พอเราในฐานะที่เป็นผู้ชายเหมือนกัน แต่เรามีความอ้อนแอ้นมันก็เลยกลายเป็นเป้าให้เขามาคุกคามทางเพศได้เยอะเหมือนกัน”
“คนอินเดียยังมีการรับรู้เกี่ยวกับเพศทางเลือกน้อย เขาอาจจะคิดว่าถ้าคุณไม่ได้เป็นผู้ชายคุณก็จะต้องเป็นกะเทยแต่งหญิงไปเลย อย่างที่อินเดียก็จะมีกะเทยที่เขาแบ่งแยกไปเป็นอีกกลุ่มเรียกกันว่าฮิจร่า พวกนี้เป็นกลุ่มที่ถูกผลักออกไปจากสังคมแล้วก็ไม่ได้รับการยอมรับ ไม่มีงานให้ทำ สมัยก่อนเลือกตั้งไม่ได้ด้วย แต่ตอนนี้เลือกตั้งได้แล้ว ก็จะถูกกีดกันออกไปแบบนั้น”
“มันก็เลยเหมือนกับว่า คนไม่เข้าใจว่ามันมีผู้ชายที่มีความเหมือนผู้หญิงแต่ยังแต่งตัวเป็นผู้ชายอยู่จริงๆ หรือเปล่า เขาไม่เข้าใจคอนเซ็ปต์ของความเป็นเกย์ แต่เรื่องแบบนี้จะเกิดในที่ลับมากกว่า เวลาอยู่กับเพื่อนสองต่อสองหรืออยู่กับคนที่แบบ มันไม่ได้เกิดขึ้นทุกครั้ง แต่มันก็มีโอกาสที่จะเกิดขึ้น อย่างถ้าในหนังสือก็จะมีตอนหนึ่งที่เล่าว่าเราถูกกลุ่มผู้ชายหว่านล้อมให้ช่วยทำอะไรอย่างว่าให้ มีตอนหนึ่งที่พูดถึงเรื่องการคุกคามทางเพศเหมือนกัน”
“แต่สำหรับเรามองว่า คนอินเดียทุกคนไม่ได้เท่ากับว่าต้องชอบข่มขืนหรือลวนลาม มันก็เป็นแค่กลุ่มคนเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่ว่าประเทศอินเดียมันมีจำนวนเยอะมากๆ เปอร์เซ็นต์คนพวกนี้มันก็อาจจะเพิ่มขึ้นตามไปด้วยเท่านั้นเอง”
อินเดียเที่ยวคนเดียวได้หรือเปล่า และสิ่งที่เขาพูดถึงอินเดียกันคิดว่าเป็นเรื่องจริงไหม
“ตั้งแต่ครั้งแรกที่เราไป เรารู้สึกว่าอินเดียไม่ได้ชาเลนจ์มากขนาดนั้นอย่างที่เราคิด แต่จะเป็นเพราะว่าเราเป็นคนที่ไปไหนมาไหนคนเดียวมาตั้งแต่แรกอยู่แล้ว เราเลยรู้สึกว่าเป็นสิ่งที่ไม่ได้แปลกใหม่มากขนาดนั้น แต่สำหรับคนที่ไม่เคยเดินทางคนเดียว และเลือกที่จะไปอินเดีย ชาเลนจ์ที่ต้องเตรียมจะเป็นเรื่องของมายด์เซ็ต”
“ประเทศอินเดีย เรื่องหนึ่งที่เราต้องเจอคือเรื่องการต่อราคา พวกรถโดยสารต่าง ๆ อย่างที่เรารู้กัน ชื่อเสียงก็ไม่ค่อยดีเท่าไหร่ มันก็อาจมีชาเลนจ์ตรงนี้ที่จะถูกโก่งราคาได้ เหมือนพอเราไปคนเดียว เราก็ไม่รู้ว่าราคามาตรฐานของพวกรถแท็กซี่ รถตุ๊กตุ๊ก มันจะอยู่ที่เท่าไหร่ เราก็อาจจะโดนหลอกได้ อาจจะทำให้การเดินทางมันไม่สนุก”
“เราคิดว่าอินเดียไม่ได้มีชาเลนจ์เยอะขนาดนั้น ถ้าเป็นนักท่องเที่ยวที่เคยเดินทางไปที่ไหนคนเดียวมาบ้างแล้วก็คิดว่าน่าจะเอาตัวรอดที่อินเดียได้ ถ้าเป็นคนที่สามารถเดินทางด้วยตัวเองได้อยู่แล้ว”
“หลายอย่างที่เขาพูดถึงอินเดีย เราก็ไม่สามารถรู้ได้หรอกว่ามันไม่ใช่ เพราะมันก็มีสิ่งแบบนั้นจริงๆ แต่ว่าจริงๆ แล้วสิ่งเหล่านั้นมันก็เกิดขึ้นทุกที่ไม่ใช่เหรอ อย่างเรื่องการข่มขืนมันก็มีทุกประเทศ ประเทศเราเองก็มีเคสข่มขืนเหมือนกัน หรือว่าเรื่องความสกปรก ประเทศเรามันก็มีบางมุมที่สกปรก หรือประเทศอื่นๆ ก็มีบางมุมที่สกปรก เพราะฉะนั้นเราก็เลยรู้สึกเหมือนกับว่าบางทีเราแค่มองในจุดจุดหนึ่ง แล้วเราก็เหมารวมไปถึงคนทั้งประเทศว่ามันสกปรกนะ มันต้องเป็นอย่างงี้ทั้งหมดแน่เลย เพราะว่าจริงๆ แล้วในบางเมืองหรือบางพื้นที่ของอินเดียเองก็สะอาดและปลอดภัยมาก ไม่ได้เป็นเหมือนอย่างที่ใครพูดเอาไว้”
สตรีทฟู้ดอินเดียเป็นเหมือนที่เราเห็นกันจริงไหม และนอกจากสตรีทฟู้ด มีอะไรที่น่าลองอีก
“จริงๆ สตรีทฟู้ดในอินเดียก็เป็นแบบนั้นแหละ สตรีทฟู้ดในอินเดียมันก็มีหลายเกรดหลายระดับเหมือนกันนะ แต่ภาพที่เราได้รับในสื่อต่างๆ มันเป็นแบบข้างทางจริงๆ บางทีคนอินเดียทุกคนก็ไม่ได้กินแบบนั้น”
“ร้านสตรีทฟู้ดในอินเดียมันมีหลายระดับ มันก็มีแบบที่ราคาแพงขึ้นมาหน่อย อยู่ในร้านที่เป็นร้านสะอาดๆ หรือมันก็มีร้านข้างทางจริงๆ ที่มีฝุ่นมีควันผสมปนเปกันมั่วไปหมด ถ้าไปร้านดีๆ ที่อยู่ในเมืองหน่อยๆ ก็มีร้านที่สะอาดและโอเคเหมือนกัน แต่เรารู้สึกว่าในฐานะนักท่องเที่ยว คนที่ไปก็จะตื่นตาตื่นใจกับสิ่งแบบนั้นมากกว่าเพราะมันดึงดูดให้เราเข้าหาอยากไปลอง เลยเป็นภาพที่ถูกฉายอยู่ในสื่อมากกว่า”
“ถ้าพูดถึงอินเดีย อะไรที่น่าตื่นเต้นก็จะเป็นรถไฟอินเดีย ที่หลายคนอาจอยากลอง ด้วยความที่คนอินเดียมีช่องว่างเรื่องชนชั้นวรรณะและฐานะเยอะมาก มีทั้งคนรวยและคนจนอยู่ในประเทศเดียวกันในปริมาณที่มาก รถไฟอินเดียเป็นจุดที่เราสามารถเห็นเรื่องชนชั้นวรรณะได้ชัดเจน มันมีตั้งแต่คลาสที่มันถูกมากๆ แบบหลักสิบบาท ไม่ถึงร้อย ไปจนถึงหลักที่ราคาแพงกว่าเครื่องบิน”
“ซึ่งตู้เหล่านี้มันอยู่ในขบวนเดียวกัน ถ้าเราได้ขึ้นรถไฟอินเดียเราจะได้เห็น มีโอกาสได้เดินชมผ่านตู้ต่าง ๆ จะเห็นได้ว่ามันแตกต่างกันมากจริง ๆ จากตู้ที่เป็นตู้แอร์ จากตู้นอนที่ไม่มีแอร์ พอเดินผ่านไปอีกนิดนึงเป็นตู้นอนที่มีแอร์ มันคนละความรู้สึกกันเลย เราจะเห็นคนคนละกลุ่ม ประเภทผู้โดยสารคนละกลุ่ม ก็เลยคิดว่าถ้าเกิดใครที่อยากลองไปอินเดีย แล้วอยากลองไปเห็นสภาพแวดล้อมแล้วก็ไปลองอะไรตื่นเต้นสนุกๆ รถไฟอินเดียก็เป็นสิ่งหนึ่งที่น่าตื่นเต้น”
‘DEAR INDIA มาหาภารตะ’ หนังสือที่จะทำให้เราอยากเดินทางออกมาหา ‘ภารตะ’
“มาหาภารตะ มันก็สื่อถึงการที่ใครสักคนเดินทางออกมาหา ภารตะ หรือประเทศอินเดีย คนอินเดีย เป็นความหมายที่เราตั้งใจเล่นคำนี้เพื่อที่จะให้คนอ่านได้รู้สึกเหมือนกับเราในตอนที่ออกเดินทาง ว่าเนี่ยฉันกำลังจะเดินทางออกไปหาอินเดียนะ”
“ซึ่งแก่นของเรื่องของเราคือตั้งแต่ครั้งแรกที่เรารู้จักอินเดีย จนเราค่อยๆ มีเพื่อน จากตอนแรกที่ไป เราไม่รู้จักใคร แต่พอไปบ่อยๆ ขึ้นมันก็เหมือนกับได้รู้จัก ได้ผูกสัมพันธ์กับคนนู้นคนนี้ จนหลายๆ คนก็ยังเป็นเพื่อน เป็นครอบครัวที่เรายังไปมาหาสู่กันเรื่อยๆ มันจะค่อยๆ เพิ่มดีกรีขึ้นไปในเล่ม ถ้าลองอ่านดูจะเริ่มจากจุดแรกๆ ที่เป็นเรื่องทั่วไปมากๆ ที่จะได้เจอในอินเดียอย่างการที่คนอินเดียชอบให้ถ่ายรูป หรือคนอินเดียชอบเข้าหานักท่องเที่ยว แต่ว่ามันก็จะเริ่มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หลังจากที่เราได้เจอคนอินเดีย ได้เริ่มเข้าไปผูกพันกับคนอินเดีย คนอ่านน่าจะได้เรียนรู้อะไรเพิ่มขึ้น รู้สึกสนิทกับอินเดียมากขึ้นผ่านตัวหนังสือ ผ่านเรื่องราวของเราไปโดยที่ไม่รู้ตัว”
“เป้าหมายของหนังสือเล่มนี้ ตอนนั้นที่เราเขียนเราก็สงสัยอยู่เหมือนกันว่าหนังสือของเรามันคงจะเป็นหนังสือที่ถ้าคนอ่านแล้วไปเที่ยวตามไม่ได้แน่ๆ เลย เพราะเราไม่ได้บอกเรื่องราวเป๊ะๆ ว่าต้องเดินทางไปยังไง ต้องกินอะไร ต้องนอนที่ไหน แต่เรารู้สึกว่าหนังสือของเรา เป้าหมายของเราที่ต้องการให้คนอ่านได้รู้สึกก็คือหลังจากที่เขาได้อ่านแล้วเขาอาจจะเข้าใจความเป็นอินเดียมากขึ้นว่า อินเดียจริงๆ แล้วนอกจากภาพจำที่เราเคยเห็น มันก็ยังมีเรื่องราวอื่นๆ แง่มุมอื่นๆ ให้เราได้เห็น อย่างมันมีบทหนึ่งที่เราพูดถึงเพศทางเลือกที่นั่น บทที่เราพูดถึงวรรณะต่างๆ ที่นั่น แล้วก็บทที่เราพูดถึงเทศกาลต่างๆ คนก็จะได้รู้จักอินเดียในหลายๆ แง่มุมมากขึ้น”