คนไทยคิดว่าระบบบริการสุขภาพในบ้านเราดีหรือไม่? เมื่อไม่นานมานี้ สำนักข่าวดิอีโคโนมิสต์ (The Economist) รายงานว่าระบบสาธารณสุขไทยอาจเป็นหนึ่งในระบบการบริการสุขภาพที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในโลก แม้ว่าการเมืองไทยในอดีตหลายช่วงเวลา จะค่อนข้างขาดเสถียรภาพก็ตาม
ดูอย่างไรว่าระบบสาธารณสุขไทยมีประสิทธิภาพ?
- อายุขัยเฉลี่ยสูง
The Economist กล่าวว่าหนึ่งในหลักฐานที่ยืนยันประเด็นดังกล่าวคือ ‘อายุขัยของคนไทย’ ซึ่งสหประชาชาติ (The United Nations) รายงานว่าอายุขัยของคนไทยอาจสูงถึง ‘80 ปี’ ในขณะที่อายุขัยเฉลี่ยของคนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อยู่ที่ 73 ปี อีกทั้งสูงกว่าอายุขัยเฉลี่ยของชาวสหรัฐฯ และยุโรป ซึ่งมีอายุเฉลี่ย 79 ปี
- คนไทยอาจเสียเงินน้อยกว่า เมื่อไปโรงพยาบาล
อีกทั้ง The Economist ยังระบุว่า ร้อยละ 99.5 ของประชากรไทย ที่สำรวจเมื่อปีที่แล้ว (2566) ได้รับการคุ้มครองด้วย ‘ประกันสุขภาพ’ พร้อมกับพบว่า ในปี 2564 ที่แม้จะมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่คนไทยกลับมีค่าใช้จ่ายทางการแพทย์เพียง 6% ของ GDP ในขณะที่คนในสหรัฐฯ และยุโรป มีค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ 17% และ 11% ของ GDP ตามลำดับ
นอกจากนี้ The Economist เสริมว่าอีกหนึ่งโครงการริเริ่มที่ทำให้คนไทยเข้าถึงประกันสุขภาพมากขึ้นคือ ‘30 บาทรักษาทุกโรค’ ในช่วงปี 2545 ที่มีรายงานว่าในระหว่างปี 2543 กับ 2545 อัตราการตายของทารกในไทย ได้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยในปัจจุบันโครงการดังกล่าวครอบคลุมการรักษาโรคหลากหลาย ตั้งแต่เอชไอวีไปจนถึงโรคไต ซึ่งหัวใจสำคัญของโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค คือคนรายได้น้อยจำนวนมากสามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้
“เรายืนยันว่าการพัฒนาระบบบริการสาธารณสุขมูลฐาน ที่มีอยู่ในประเทศไทย มีศักยภาพอย่างมาก ในการสร้างระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า ที่เน้นการพึ่งพาตนเอง มีประสิทธิภาพ เสมอภาค และมีประสิทธิผลมากขึ้น” คณะนักวิจัยระบุในรายงานเกี่ยวกับประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทย ที่เผยแพร่ในวารสารขององค์การอนามัยโลก (Bulletin of the World Health Organization) เมื่อปี 2562
- การพัฒนาการแพทย์ในชนบท
The Economist กล่าวว่าการรักษาพยาบาลในไทยกระจายตัวครอบคลุมหลายพื้นที่ในชนบท หากย้อนกลับไปช่วงสงครามเย็น หนึ่งในแนวทางที่รัฐบาลใช้เพื่อยับยั้งการแพร่กระจายของแนวคิดคอมมิวนิสต์ คือนโยบายการ ‘พัฒนาชนบท’ โดยในปี 2533 ไทยมีโรงพยาบาลอำเภอถึง 928 แห่ง อีกทั้งเมื่อปี 2515 รัฐบาลมีโครงการ ‘แพทย์เพื่อชาวชนบท’ ที่กระจายแพทย์จบใหม่ในหลายภูมิภาค ทำให้คนในชนบทก็สามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้เช่นกัน
- การเป็นต้นแบบให้หลายประเทศ
อีกหนึ่งประเด็นที่น่าสนใจคือ ระบบสาธารณสุขไทยอาจเป็นต้นแบบให้ประเทศต่างๆ ทั้งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และส่วนอื่นๆ ของโลกได้ ช่วงต้นปีนี้ (2567) รัฐบาลไทยได้ลงนามในข้อตกลงความร่วมมือด้านสาธารณสุข กับประเทศซาอุดีอาระเบีย
จากที่เหตุผลที่กล่าวมาข้างต้น เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ The Economist มองว่าระบบสาธารณสุขไทยสามารถเป็นระบบการบริการสุขภาพที่มีประสิทธิภาพที่สุดในโลก อย่างไรก็ตาม หากเรามองในมุมคนไทย ที่เป็นผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับระบบสาธารณสุขไทย ไม่ว่าจะเป็นผู้เข้ารับการรักษาพยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ หรือแม้แต่ผู้กำหนดนโยบายสาธารณสุขไทย เราจะมองว่าการบริการสุขภาพของไทยเป็นอย่างไรบ้าง?
อ้างอิงจาก