ผู้ป่วยในออสเตรเลีย ได้รับการปลูกถ่ายหัวใจเทียม และใช้ชีวิตอยู่กับมันได้เกิน 100 วันแล้ว พร้อมเป็นผู้ป่วยรายแรกของโลก ที่ได้รับอนุญาตให้ออกจากโรงพยาบาล พร้อมกับหัวใจเทียม
ย้อนกลับไปเมื่อ 22 พฤศจิกายน 2024 ชายชาวออสเตรเลียในวัย 40 ปี จากนิวเซาท์เวลส์ ผู้ป่วยด้วยอาการหัวใจล้มเหลวรุนแรง ได้รับการผ่าตัดปลูกถ่ายหัวใจเทียม (total artificial heart) เป็นเวลา 6 ชั่วโมง ที่โรงพยาบาลเซนต์วินเซนต์ในซิดนีย์ โดยมีพอล จานซ์ (Paul Jansz) ศัลยแพทย์หัวใจและทรวงอก และผู้เชี่ยวชาญการปลูกถ่ายอวัยวะ เป็นผู้นำการผ่าตัด
ทั้งนี้ชายคนดังกล่าวเป็นผู้ป่วยรายแรกในออสเตรเลียและรายที่ 6 ของโลก ที่อาสารับหัวใจเทียม จาก BiVACOR บริษัทเทคโนโลยีทางการแพทย์ ผู้พยายามพัฒนาอุปกรณ์ปั๊มเลือด ให้สามารถใช้แทนที่หัวใจของมนุษย์ได้อย่างสมบูรณ์ โดยใช้เทคโนโลยีแรงยกตัวพลังแม่เหล็ก (magnetic levitation technology) เพื่อจำลองการไหลเวียนเลือดของหัวใจที่แข็งแรง
สำหรับการปลูกถ่ายอวัยวะเทียมของผู้อาสารายอื่นๆ ใน 5 ครั้งแรกนั้น เกิดขึ้นเมื่อปีที่แล้วในสหรัฐอเมริกา และผู้ป่วยทั้งหมดได้รับหัวใจจากผู้บริจาคอวัยวะ ก่อนจะออกจากโรงพยาบาล ซึ่งระยะเวลานานที่สุดที่ใช้หัวใจเทียมคือ 27 วัน
อย่างไรก็ตามชายออสเตรเลียคนนี้ ได้ใช้ชีวิตอยู่กับอุปกรณ์ดังกล่าว นานกว่า 100 วัน! และยังเป็นผู้ป่วยรายแรกของโลก ที่ได้รับอนุญาตให้ออกจากโรงพยาบาลพร้อมกับหัวใจเทียม เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ ก่อนที่จะได้รับการปลูกถ่ายหัวใจ จากผู้บริจาคอวัยวะในช่วงต้นเดือนมีนาคม
เหล่านักวิจัยและแพทย์ชาวออสเตรเลียผู้อยู่เบื้องหลังการผ่าตัดครั้งนี้ บอกถึงการปลูกถ่ายหัวใจเทียมครั้งนี้ว่า ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก พร้อมระบุว่า ทางทีมแพทย์หวังว่าในที่สุดแล้วหัวใจเทียมนี้ จะช่วยลดความจำเป็นในการบริจาคหัวใจของมนุษย์ได้ในอนาคต
แม้ว่าชายคนดังกล่าวจะได้รับการผ่าตัดใส่หัวใจเทียมชั่วคราว จนกว่าจะได้รับหัวใจจากผู้บริจาคอวัยวะ แต่บริษัท BiVACOR ก็พยายามพัฒนาให้เทคโนโลยีหัวใจเทียมนี้ สามารถใช้ทดแทนหัวใจที่ล้มเหลวได้อย่างถาวรในอนาคต
อ้างอิงจาก