ไมโครพลาสติก รุกเข้าไปในร่างกายของมนุษย์และสัตว์ต่างๆ มากมาย เช่นเดียวกับโลมา ที่นักวิทยาศาสตร์พบ ‘ไมโครพลาสติก’ ในลมหายใจของพวกมันเป็นครั้งแรก เป็นอีกหนึ่งหลักฐานของผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จากพลาสติกที่มนุษย์สร้างขึ้น
ก่อนหน้านี้ เคยมีข้อมูลว่า ในระบบย่อยอาหารของสัตว์ทะเล อาจมีการปนเปื้อนของพลาสติกได้ แต่งานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ PLOS One โดยทีมนักวิทยาศาสตร์ในสหรัฐฯ เปิดเผยเป็นครั้งแรกว่าใน ‘ระบบทางเดินหายใจ’ ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทะเล ก็มีไมโครพลาสติก–ชิ้นส่วนพลาสติกขนาดเล็กที่มีความยาวน้อยกว่า 5 มิลลิเมตร เช่นเดียวกัน
ผู้วิจัยได้เก็บตัวอย่างจากลมหายใจออกของโลมาปากขวดจำนวน 11 ตัว บริเวณอ่าวซาราโซตา (Sarasota Bay) รัฐฟลอริดา และอ่าวบาราทาเรีย (Barataria Bay) รัฐลุยเซียนา และพบไมโครพลาสติกปนเปื้อนอยู่
ไมโครพลาสติกที่พบในตัวอย่างลมหายใจของโลมา ส่วนใหญ่เป็น ‘โพลีเอสเตอร์’ ซึ่งเป็นโพลีเมอร์ทั่วไป ที่คนนิยมใช้ผลิตเสื้อผ้า โดยเมื่อเราซักผ้า จะมีอนุภาคของโพลีเอสเตอร์ปริมาณมากถูกขับออกมา และอนุภาคเหล่านั้นมีขนาดเล็กมาก และน้ำหนักเบามาก จนสามารถลอยอยู่ในน้ำหรือในอากาศ ได้อย่างง่ายดาย
“โลมามีความจุของปอดมากกว่ามนุษย์มาก และการหายใจเข้าลึกๆ อาจหมายความว่าโลมาได้รับไมโครพลาสติกในปริมาณที่มากกว่า” เลสลี ฮาร์ต (Leslie Hart) หนึ่งในผู้วิจัยและผู้อำนวยการศูนย์สิ่งแวดล้อมชายฝั่งและสุขภาพมนุษย์ (The Center for Coastal Environmental and Human Health) จากวิทยาลัยชาร์ลสตัน (The College of Charleston university) ในเซาท์แคโรไลนา กล่าว
พร้อมระบุว่า ในปัจจุบันการศึกษาผลกระทบของไมโครพลาสติกในระบบทางเดินหายใจของสัตว์ ยังคงมีน้อยมาก อย่างไรก็ตามการศึกษาในมนุษย์ระบุว่า การสูดดมพลาสติกอาจทำให้เกิดการอักเสบของปอด และปัญหาทางเดินหายใจอื่นๆ รวมถึงอาจสร้างความเสียหายให้กับเซลล์ได้
“สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นว่าพลาสติกก่อมลพิษมากเพียงใด” เธอระบุ และกล่าวต่อว่า “เรามีพลาสติกอยู่ทุกที่ ไม่มีที่ไหนปลอดภัย ให้หนีจากมันได้เลย” การวิจัยครั้งนี้ คงเป็นอีกหนึ่งหลักฐานที่ชี้ให้เห็นว่า พลาสติกมีอยู่แทบทุกที่บนโลกจริงๆ แม้แต่ใน ‘ลมหายใจของโลมา’ ก็ยังหนีไม่พ้น
อ้างอิงจาก