“ช่วยด้วย ช่วยด้วย หายใจไม่ออก” เสียงสุดท้ายจากวันเฉลิม ก่อนที่เขาจะหายตัวไปและไม่มีใครพบอีกเลย
เมื่อวานนี้ (8 กันยายน 2567) ได้มีกลุ่มบุคคลนำป้าย ‘ตามหาวันเฉลิม’ ไปแปะตามสถานที่ต่างๆ เช่น หน้ากองบัญชาการกองทัพปก และหน้าคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำให้ชื่อของ ‘วันเฉลิม’ เริ่มถูกนำกลับมาพูดถึงอีกครั้ง
เขาเป็นใคร และหายไปได้อย่างไร The MATTER ชวนไปทำความรู้จักกัน
วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ หรือ ต้าร์ เป็นนักกิจกรรมทางการเมืองที่ลี้ภัยไปยังประเทศกัมพูชา โดยเขาออกมาวิจารณ์และแสดงจุดยืนทางการเมืองบนโซเชียลมีเดีย ในตอนที่เกิดการรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ปี 2557 ทั้งการไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร การขึ้นมามีอำนาจทางการเมืองของทหาร และอื่นๆ
เหล่านี้ทำให้วันเฉลิมกลายเป็นอีกชื่อหนึ่งที่ถูกเรียกไป ‘ปรับทัศนคติ’ แต่เขาตัดสินใจไม่ไปรายงานตัว และลี้ภัยทางการเมืองโดยไปอยู่ที่กัมพูชา นานถึง 6 ปี
จนกระทั่งวันที่ 4 มิถุนายน 2563 มีรายงานวันเฉลิมได้หายตัวไปจากด้านนอกอพาร์ทเมนท์ในกรุงพนมเปญด้วยรถคันหนึ่ง โดยขณะนั้นเขากำลังคุยโทรศัพท์กับพี่สาวอย่าง สิตานัน สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ เสียงสุดท้ายที่สิตานันได้ยินเป็นเสียงพูดภาษากัมพูชา ที่แปลได้ว่า “ช่วยด้วย ช่วยด้วย หายใจไม่ออก” และสายก็ตัดไป โดยหลังจากนั้นได้มีคลิปจากกล้องวงจรปิดที่เห็นรถยนต์ขับออกไปจากบริเวณนั้นเผยแพร่ออกมา
ไม่นานหลังจากนั้น แฮชแท็ก #Saveวันเฉลิม ขึ้นเทรนด์อันดับหนึ่งของทวิตเตอร์ พร้อมการเรียกร้องจากมวลชนให้ตามหาวันเฉลิม และรัฐบาลต้องมีคำตอบให้กับเรื่องนี้ โดยช่วยสืบหาความจริงว่าเกิดอะไรขึ้นกันแน่
ถึงอย่างนั้น พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ในเวลานั้น ก็ได้ออกมาชี้แจงในวันต่อมา ว่าทาง สตช.ยังไม่ได้รับรายงาน และตำรวจไทยไม่มีสิทธิ์ไปก้าวก่ายการทำงานของเจ้าหน้าที่กัมพูชา
นอกจากนั้น พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ยังออกมาตอบคำถามต่อหน้าสื่อว่า “ไม่รู้จักคนชื่อวันเฉลิม” แต่ถ้ามีอะไรที่ช่วยได้ก็จะช่วย
แม้ว่าภาครัฐจะพยายามหลีกเลี่ยง แต่กลับมีคนพบเอกสารทางราชการจำนวนหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า ภาครัฐรู้จักคนชื่อ ‘วันเฉลิม’ เป็นอย่างดี ทั้งจากการพบหลักฐานว่ามีชื่อวันเฉลิมอยู่ในชื่อ blacklist คนที่ไม่มารายงานตัวต่อ คสช. และพบหลักฐานเป็นภาพถ่ายการเคลื่อนไหวของวันเฉลิมในกัมพูชา
หลายคนมองว่า ถ้าหากภาครัฐไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการ ‘บังคับให้สูญหาย’ ครั้งนี้จริง ก็ควรช่วยตามหาความจริงของการหายตัวไปหรือถูกลักพาตัวครั้งนี้อย่างเต็มที่ เพราะวันเฉลิมก็ถือเป็นพลเมืองไทยคนหนึ่ง แต่จากหลักฐานที่พบ และการโต้ตอบต่อกรณีนี้ ทำให้หลายคนเชื่อได้ว่า ภาครัฐอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการอุ้มหายวันเฉลิมจริง
ผ่านมา 4 ปีนับจากวันนั้น ชาวไทยก็ยังไม่รู้เลยว่าตกลงแล้ววันเฉลิมอยู่ที่ไหน หรือแม้กระทั่งว่าเขายังมีชีวิตอยู่หรือไม่
“ขอให้ปล่อยตัวต้าร์มาเถอะ ไม่ว่าในสภาพไหน ขอให้เขาปลอดภัย หรือถ้าเป็นศพก็ขอให้ยืนยันมาว่าเขาเสียชีวิตแล้ว ไม่งั้นเราและครอบครัวจะไม่สามารถจะใช้ชีวิตต่อได้ ไม่รู้ว่าจะต้องตามหาถึงวันไหน” สิตานัน สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ พี่สาวของวันเฉลิม กล่าว
วันเฉลิมไม่ใช่คนแรกที่ถูกทำให้หายตัวไปโดยไม่รู้สาเหตุ โดยในปี 2565 คณะกรรมการแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการกระทำให้บุคคลสูญหายโดยบังคับหรือไม่สมัครใจ (The United Nations Working Group on Enforced or Involuntary Disappearances) บันทึกว่า ประเทศไทยมีกรณีการกระทำให้บุคคลสูญหายที่ยังไม่ได้รับความกระจ่างชัดทั้งสิ้น 76 กรณี
เพื่อไม่ให้มีใครต้องเผชิญเรื่องแบบนี้อีก ภาคประชาชนได้เรียกร้องให้บังคับใช้กฎหมาย จน พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 ก็ประกาศบังคับใช้ และมีผลใช้บังคับตั้งแต่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 เป็นต้นมา
ท้ายที่สุดแล้ว เมื่อเวลาล่วงเลยไปเรื่อยๆ ความจริงเกี่ยวกับวันเฉลิมจะถูกเปิดเผยออกมาหรือไม่ หรือจะกลายเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ถูกรัฐไทยฝังกลบ จึงเป็นเรื่องที่จะต้องติดตามต่อไป
อ้างอิงจาก