ที่ผ่านมา หลายคนอาจทราบข่าวอาชญากรรมทางเพศร้ายแรงในประเทศฝรั่งเศส ที่เกิดขึ้นกับ จีเซล เปลิโกต์ (Gisèle Pélicot) วัย 72 ปี โดยเธอถูกสามีที่ใช้ชีวิตคู่ร่วมกันมา 50 ปี วางยาและเชิญแปลกหน้ามากกว่า 50 คน มาละเมิดทางเพศร่างที่หมดสติของเธอ เป็นเวลานานกว่า 10 ปี
แม้ว่าเหตุการณ์ดังกล่าวจะเกิดขึ้นหลายปีมาแล้ว แต่ที่ผ่านมา คดีนี้ได้รับความสนใจอย่างมาก หลังจากที่จีเซลเลือกที่จะเปิดเผยการพิจารณาคดีต่อสาธารณะ
“เมื่อใดที่ผู้หญิงคนอื่นๆ ตื่นขึ้นมาแล้วจำอะไรไม่ได้ พวกเธออาจนึกถึงคำให้การของเปลิโกต์” จีเซล กล่าวถึงสาเหตุ ที่เธอตัดสินใจเปิดเผยตัวตน แม้ว่าตามกฎหมายฝรั่งเศส เธอจะมีสิทธิ์ที่จะรักษาความเป็นส่วนตัวในการดำเนินคดีครั้งนี้
เรื่องราวเริ่มต้นที่ตรงไหน?
“แม้แต่เพื่อนๆ ของเรายังบอกว่าเราเป็นคู่รักในอุดมคติ” คือคำให้การในศาล ของจีเซล เมื่อเล่าถึงชีวิตคู่ หลังจากแต่งงานกับผู้ก่อเหตุคือ โดมินิก เปลิโกต์ (Dominique Pélicot) วัย 71 ปี โดยทั้งคู่พบกันตั้งแต่อายุ 19 ปี และแต่งงานเมื่ออายุ 21 ปี ซึ่งทั้งคู่มีลูกด้วยกัน 3 คน และมีหลาน 7 คน
แต่แล้ววันหนึ่งในปี 2020 โดมินิกถูกตำรวจจับกุม เนื่องจากพยายามแอบถ่ายใต้กระโปรงผู้หญิงหลายคน ที่ห้างแห่งหนึ่ง เหตุการณ์นี้เองที่ทำให้ตำรวจยึดคอมพิวเตอร์ของเขา เพื่อสืบสวนคดีดังกล่าว แต่กลับพบรูปถ่ายและวิดีโอมากกว่า 20,000 รายการ ซึ่งปรากฏชายมากหน้าล่วงละเมิดทางเพศผู้หญิงที่หมดสติ อีกทั้งพบภาพแอบถ่ายลูกสาวและลูกสะใภ้ของพวกเขา
“โลกของฉันพังทลาย สำหรับฉันทุกอย่างกำลังพังทลาย ทุกอย่างที่ฉันสร้างมาตลอด 50 ปี” จีเซลเล่าถึงสิ่งที่เกิดขึ้น หลังตำรวจแสดงหลักฐานดังกล่าวให้เธอ พร้อมกับกล่าวว่า “พวกเขาทำกับฉัน เหมือนเป็นตุ๊กตาผ้าขี้ริ้ว”
‘โดยที่เธอไม่รู้’
หลังจากการสืบสวน ตำรวจก็พบว่าระหว่างปี 2011 ถึง 2020 สิ่งที่โดมินิกทำเป็น ‘กิจวัตร’ คือวางยาภรรยาของเขา และนัดชายแปลกหน้า ที่อาจมีจำนวนสูงถึง 72 คน ทั้งจากที่เจอบนอินเทอร์เน็ต และคนรู้จักในชีวิตจริง มาละเมิดทางเพศร่างที่หมดสติของเธอ และถ่ายภาพและวิดีโอเก็บไว้ โดยห้องแชทที่โดมินิก ใช้คัดตัวและนัดหมายชายเหล่านั้น ชื่อว่า ‘à son insu’ ซึ่งเป็นภาษาฝรั่งเศส อาจแปลได้ว่า ‘โดยที่เธอไม่รู้’
โดมินิกให้ชายเหล่านั้นทำตาม ‘กฎ’ ที่เขาสร้าง คือให้มาถึงบ้านของพวกเขา หลังจากเธอหมดสติแล้ว โดยห้ามมีกลิ่นน้ำหอมหรือกลิ่นควันบุหรี่ติดตัว พร้อมทั้งต้องถอดเสื้อผ้าทิ้งไว้ในห้องครัว และพวกเขาต้องพูดคุยกันอย่างเงียบที่สุด ก่อนจะลงมือก่ออาชญากรรม
“หากคุณได้เห็นผู้หญิงคนนั้น ที่ถูกวางยา ถูกทารุณกรรม ราวกับศพที่นอนอยู่บนเตียง เพียงแค่ร่างกายไม่ได้เย็น มันยังอุ่น แต่กลับเหมือนฉันตายไปแล้ว” เธอบอกกับศาลว่าการข่มขืนไม่ใช่คำอธิบายที่รุนแรงพอ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ‘การทรมาน’
จีเซลเล่าว่า เธอไม่มีความทรงจำเกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าวแม้แต่ครั้งเดียว แต่ในช่วงหลายปีนั้นเธอน้ำหนักลด ผมร่วง และมีอาการหลงลืมเป็นประจำ พร้อมกับเจ็บปวดตามตัว และมีปัญหาสุขภาพบ่อยครั้ง ซึ่งโดมินิกเป็นคนพาเธอไปพบแพทย์หลายคน แต่อาการก็ไม่มีทีท่าจะดีขึ้น จนเธอสงสัยว่าตัวเองเป็นโรคอัลไซเมอร์ หรือมีเนื้องอกในสมอง
คดีดำเนินไปถึงไหนแล้ว?
นอกจากโดมินิก ตำรวจสามารถระบุตัวผู้ก่อเหตุอีก 50 คน โดยมีอายุตั้งแต่ 26 ถึง 74 ปี ซึ่งมีอาชีพหลากหลาย ตั้งแต่นักข่าว ช่างประปา พยาบาล ที่ปรึกษาไอที คนขับรถบรรทุก และอื่นๆ อีกมาก ซึ่งสิ่งที่น่าตกใจคือ บางคนเป็นคนที่จีเซลคุ้นเคย และให้การว่า “ฉันเห็นเขาเป็นครั้งคราวในร้านเบเกอรี่ และฉันมักจะทักทายเขา […] แต่ฉันไม่คิดว่า เขาจะมาข่มขืนฉัน”
การพิจารณาคดีดังกล่าว อาจใช้เวลาราว 4 เดือน โดยมีรายงานคาดการว่าโดมินิก และจำเลยอีก 50 คนอาจต้องโทษจำคุก 20 ปี หากถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานข่มขืน
อาชญากรรมครั้งนี้ สร้างความสะเทือนใจให้คนทั่วโลก เมื่อเหตุการณ์ที่เลวร้ายที่สุด เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า บนเตียงของเธอเอง ในบ้านของเธอเอง มิหนำซ้ำ ผู้ก่อเหตุยังเป็นคนใกล้ตัวที่สุดของเธอ เป็นสามีซึ่งเธอควรจะไว้ใจได้มากที่สุด เรื่องราวนี้นำไปสู่คำถามว่า “แล้วพื้นที่ไหนบ้าง จะปลอดภัยสำหรับผู้หญิง?”
“ใน 1 วัน ผู้หญิงไทยถูกกระทำความรุนแรงมากกว่า 7 คน”
หากหันกลับมาพิจารณาสถานการณ์ในประเทศเราเอง เรื่องราวคล้ายกัน อาจเกิดขึ้นมากกว่าที่เราคิด ข้อมูลจากกองบริหารการสาธารณสุขระบุว่า ในหนึ่งปีอาจพบสถิติผู้ที่ ‘รับความช่วยเหลือ’ ที่ศูนย์พึ่งได้ ซึ่งให้บริการตามโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข เนื่องจากประสบปัญหาความรุนแรงในครอบครัว สูงถึง 16,890 ราย หรือคิดเป็น 46 คนในหนึ่งวัน
อีกทั้งในจำนวนดังกล่าว ผู้รับความช่วยเหลือเป็นผู้หญิง 15,108 ราย ซึ่งนับเป็น 89.45% นอกจากนั้นความรุนแรงถึง 37.76% เกิดขึ้นใน ‘บ้านของตัวเอง’ และ 30.74% เกิดขึ้นระหว่างสามีและภรรยา
นอกจากนี้ข้อมูลจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ระบุว่าผู้หญิงไทยถูกละเมิดทางเพศ หรือประสบความรุนแรงทางร่างกายหรือจิตใจ มากกว่า 7 คน ต่อวัน โดยมีสถิติผู้หญิงที่แจ้งความร้องทุกข์มากกว่า 30,000 คน ต่อปี
ข้อมูลข้างต้นเป็นเพียงสถิติที่มีการบันทึกไว้ เราต้องไม่ลืมว่ายังมีเหยื่ออีกจำนวนมาก ที่ประสบความรุนแรงในครอบครัว ‘ที่ยังไม่ได้บอกใคร’ กล่าวคืออาจยังมีเหยื่ออีกนับไม่ถ้วน ที่ไม่ได้รับความช่วยเหลือ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะผู้ก่อเหตุคือคนใกล้ตัว ซึ่งทำให้การบอกคนอื่นกลายเป็นเรื่องยาก
อย่างไรก็ตาม กรณีของจีเซลอาจเป็นหนึ่งในตัวอย่าง ที่แสดงให้เห็นว่าการเล่าเรื่องราวของตัวเอง อาจเป็นเรื่องความรุนแรงในครอบครัว หรือเหตุการณ์เลวร้ายต่างๆ ก็สามารถทำให้ผู้อื่นถอดบทเรียน และป้องกันเหตุการณ์เลวร้ายที่อาจเกิดขึ้นได้ ทั้งนี้สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ผู้ก่อเหตุต้องได้รับโทษจากอาชญากรรมที่ตัวเองทำ โดยครั้งหนึ่งทนายของเธอเปิดเผยว่า เธอไม่ต้องการให้มีการพิจารณาคดีแบบปิด เพราะ “นั่นคือสิ่งที่ผู้ก่อเหตุของเธอต้องการ”
อ้างอิงจาก