ถ้าเกิดเหตุฉุกเฉินอย่างน้ำท่วม ไฟไหม้ พายุถล่ม หรือมีเหตุฉุกเฉิน เราจะรู้ได้ทันทีไหม และจะรู้ได้อย่างไร?
จากเหตุการณ์น้ำท่วมหนักในภาคเหนือ ที่กล่าวกันว่าหนักที่สุดในรอบหลายปี และส่งผลกระทบสาหัสต่อประชาชน ฉายภาพเดิมที่ต้องขึ้นไปอาศัยอยู่บนหลังคาบ้านรอการช่วยเหลือ โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางอย่างผู้สูงอายุ ผู้ป่วย และคนพิการที่กระทบหนัก และล่าสุดยังมีรายงานผู้เสียชีวิตแล้ว
นำมาสู่คำถามที่ว่า ในเมื่อประเทศไทยผ่านน้ำท่วมมาแล้วหลายต่อหลายครั้ง หรือหากจะนับเพียงครั้งล่าสุดที่ส่งผลกระทบหนักในวงกว้างในปี 2554 ก็เราก็ผ่านมาจากช่วงเวลานั้นแล้วถึง 13 ปี แล้วเหตุใดประชาชนจึงยังไม่สามารถเตรียมรับมือได้ทัน?
‘ระบบเตือนภัย’ อาจเป็นคำตอบ
ระบบดังกล่าว หมายถึง เมื่อมีเหตุฉุกเฉินใดเกิดขึ้นที่จะส่งผลกระทบต่อสาธารณชนได้ ก็จะมีการเตือนภัยฉุกเฉินทันที เช่น ผ่านเสียงสัญญาณดังในพื้นที่ หรืออาจส่งสัญญาณไปทางโทรศัพท์ให้ดังขึ้นและขึ้นข้อความแจ้งเตือน
ยกตัวอย่างประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเกิดภัยพิบัติบ่อยครั้ง เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2567 ญี่ปุ่นเกิดแผ่นดินไหวรุนแรง ทันใดนั้น ‘ระบบ J-Alert’ ก็ส่งสัญญาณเตือนภัยผ่านโทรศัพท์มือถือ สถานีโทรทัศน์ วิทยุ และลำโพงในอาคารทั่วประเทศเพื่อแจ้งให้ทุกคนรีบอพยพเพื่อความปลอดภัยได้อย่างรวดเร็ว
แล้วประเทศไทยมี ‘ระบบเตือนภัย’ (ที่เพียงพอ) แล้วหรือยัง?
ข้อมูลจาก Rocket Media Lab สำรวจระบบเตือนภัยล่วงหน้า (Early Warning) ในประเทศไทย พบว่า ในอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย มีสถานีเตือนภัยล่วงหน้าใน 7 หมู่บ้านภายใน 3 ตำบลเท่านั้น
หรือหากขยายภาพให้ใหญ่ขึ้นทั่วประเทศ พบว่า ประเทศไทยมีสถามีสถานีเตือนภัยล่วงหน้าที่ดำเนินงานโดยกรมทรัพยากรน้ำใน 63 จังหวัด (จังหวัดที่ไม่พบ เช่น หลายจังหวัดในปริมณฑล) มีทั้งหมด 2,159 สถานี ครอบคลุม 5,954 หมู่บ้าน จาก 75,142 หมู่บ้านทั่วประเทศ ดังนั้น จำนวนสถานีที่มีอยู่ในปัจจุบัน จึงครอบคลุมประเทศไทยเพียงประมาณ 8% ทำให้อาจเรียกได้ว่ายังไม่เพียงพอต่อการทำให้คนได้รับรู้ข่าวสารอย่างทั่วถึง
ย้อนกลับไปในเดือนตุลาคม 2566 หลังเกิดเหตุกราดยิงพารากอน หนึ่งในวิธีการที่คนเรียกร้องให้ภาครัฐจัดการในขณะนั้น คือการใช้ระบบเตือนภัยฉุกเฉินผ่านมือถือ ด้วยระบบ Cell Broadcast Service ที่เจาะจงพื้นที่เกิดเหตุด่วนได้ทันที โดยลักษณะจะเป็นการแสดงข้อความ Pop Up บนหน้าจอโทรศัพท์พร้อมสัญญาณเสียง โดยไม่ต้องโหลดแอปพลิเคชัน
เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ตอบสนองโดยแถลงถึงแนวทางว่า ในระยะเร่งด่วน 1 เดือน จะให้ใช้ระบบเตือนภัยผ่าน SMS (SMS Emergency Alert) ด้วยระบบเจาะจงพื้นที่ (Location-Based Service – LBS) ให้ครอบคลุมทั้งประเทศ ในระยะปานกลางโดยเร็ว จะใช้ระบบ Cell Broadcast โดยสิ่งที่จะต้องทำคือศูนย์ Command Center ที่จะต้องใช้เวลา 6-12 เดือนในการสร้างให้เกิดขึ้นได้ พร้อมยืนยันว่า “ไม่ได้ติดอุปสรรคเรื่องงบประมาณ”
แต่ผ่านมาจนถึงวันนี้ ที่น้ำท่วมแม่สายแล้วถึง 8 ครั้ง ประชาชนก็ไม่ได้รับการเตือนภัยจากระบบเหล่านี้ และเมื่อเกิดน้ำท่วม กว่าข่าวสารจะไปถึงก็ช้าไปเสียแล้ว เพราะยังใช้ระบบส่งเอกสารเตือนภัยไปให้กับผู้ว่าฯ อยู่
ใครกันแน่ที่จะต้องมามีส่วนร่วมในการจัดทำระบบเตือนภัยนี้ให้สำเร็จ?
แผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ. 2564 – 2570 ระบุถึงการมอบหมายงานให้กับกระทรวงต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วม เช่น ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ (ศภช.) กระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม กรมอุตุนิยมวิทยา สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ฯลฯ และให้ กสทช. ดำเนินการเกี่ยวกับการใช้คลื่นความถี่เพื่อสนับสนุนภารกิจ เช่น ประสานงานกับค่ายมือถือให้ส่งข้อความทาง SMS หาคนทั่วประเทศในเบื้องต้น
ดังนั้น ถ้าถามว่าใครควรจะเป็นเจ้าภาพในการเตือนภัย ความคาดหวังจากประชาชน ก็คือ เห็นว่าควรเป็นหน้าที่ของศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ที่ควรดำเนินการอย่างเร่งด่วนและเหมาะสม
ล่าสุด เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2667 ศาสตราจารย์คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า ได้มีการมอบหมายการทำระบบ Cell Broadcast Service ไว้ให้สำนัก กสทช. แล้ว ผ่านการรับสนับสนุนงบประมาณจากกองทุน กทปส. ซึ่งหลังจากนี้ต้องมีการเข้าที่ประชุม กสทช. เพื่อขอความเห็นชอบ
ทั้งนี้ จากการประชุมหารือกับผู้แทนจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย และผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3 ราย คาดว่าทุกหน่วยงานจะมีความพร้อมเพื่อให้บริการระบบแจ้งเตือนภัยฉุกเฉินผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้ในช่วงกลางปี 2568
รูปแบบการแจ้งเตือนภัยฉุกเฉินที่กำลังทำอยู่นั้น จะเป็นการแสดงข้อความพร้อมสัญญาณเสียง ไม่ผ่านแอปพลิเคชัน ตั้งระดับการเตือนได้ 5 ระดับตามรูปแบบการใช้งานและความร่วมมือภาครัฐ เรียงตามลำดับความรุนแรงระดับชาติ ระดับภัยพิบัติ แจ้งเด็กหาย แจ้งเกี่ยวกับความปลอดภัย ไปจนถึงจะมีการส่งสัญญาณเพื่อทดสอบระบบอยู่เสมอๆ อีกด้วย
ในครั้งนี้ ระบบการเตือนภัยจะเกิดขึ้นได้สำเร็จ(สักที) หรือไม่ เราจะต้องติดตามกันต่อไป เพื่อไม่ให้มีใครต้องสูญเสียทั้งทรัพย์สิน และสูญเสียชีวิตไปจากเหตุฉุกเฉินต่างๆ อีก
อ้างอิงจาก