เมื่อวานนี้ (17 กันยายน 2024) โฆษกของ Zimbabwe Parks and Wildlife Authority (Zimparks) หรือหน่วยงานของรัฐบาลซิมบับเว ที่ดูแลอุทยานแห่งชาติ ได้ยืนยันแผนการสังหารช้าง 200 ตัว เพื่อนำไปเลี้ยงปากท้องประชาชน ที่เกือบครึ่งหนึ่งของประเทศ กำลังเผชิญกับความเสี่ยงที่จะขาดอาหารอย่างรุนแรง ท่ามกลางภัยแล้งรุนแรง
ที่ผ่านมาประเทศซิมบับเวประสบภัยแล้งครั้งใหญ่ในรอบหลายปี ส่วนหนึ่งมาจากเอลนีโญ (El Niño) ที่ทำให้ภูมิภาคแอฟริกา มีฝนตกน้อยลงต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี บวกกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่ทำให้ภัยแล้งนี้รุนแรงขึ้น
ปัญหาที่ตามมาคือความยากจน และการขาดแคลนอาหารของประชาชน โดยรายงานของสหประชาชาติ (United Nations หรือ UN) ระบุว่าชาวซิมบับเวราวร้อยละ 42 อาศัยอยู่ในความยากจน อีกทั้งรายงานของทางการซิมบับเวระบุว่า ระหว่างเดือนพฤศจิกายนถึงมีนาคม ซึ่งเป็นฤดูขาดแคลน มีผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือด้านอาหารราว 6 ล้านคน จากประชากรทั้งหมดราว 16.32 ล้าน
และเนื่องด้วยซิมบับเวมีประชากรช้างมากเป็นอันดับสองของโลก หรือราว 1 แสนตัว ทำให้รัฐบาลเล็งเห็นช่องทางช่วยเหลือประชาชน และนำไปสู่แผนการฆ่าช้างครั้งใหญ่ เพื่อใช้เป็นอาหารสำหรับคน
ซิธเมบิโซ เนียนี (Sithembiso Nyoni) รัฐมนตรีกระทรวงสิ่งแวดล้อม กล่าวว่าหลังจากสังหารช้างแล้ว จะจัดทำเนื้อช้างแห้งบรรจุห่อ และแจกจ่ายไปยังชุมชนที่ต้องการโปรตีน
นอกจากนี้ เนียนียังเสริมว่า ซิมบับเวมีช้างมากกว่าที่ประเทศต้องการ อีกทั้งยังมีช้างมากกว่าที่พื้นที่ป่าในประเทศจะสามารถรองรับได้ และปัญหาจำนวนช้างที่มากเกินไปนี้ ทำให้ชาวซิมบับเว ‘ขาดแคลนทรัพยากร’
อีกทั้งโฆษกของ Zimparks ยังเสริมว่าปัญหาจำนวนช้างล้นป่า ยังสร้างความขัดแย้งระหว่างคนกับสัตว์ป่า โดยระบุว่า “เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เราสูญเสียหญิงคนหนึ่งในภาคเหนือของประเทศ เนื่องจากถูกช้างฆ่าตาย […] ดังนั้นการฆ่าช้าง จึงเป็นอีกวิธีหนึ่งในการควบคุม” ทั้งนี้มีรายงานว่า ในปีนี้ซิมบับเวมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 31 ราย จากปัญหาระหว่างคนกับสัตว์ป่า
ทั้งนี้แผนการนี้ก็ไม่ได้เป็นเรื่องใหม่ในภูมิภาคนี้แต่อย่างใด โดยเมื่อเดือนที่แล้ว ประเทศเพื่อนบ้านอย่างนามิเบีย (Namibia) ก็มีแผนการฆ่าสัตว์ป่า 700 ตัว ซึ่งรวมช้างอยู่ด้วย 83 ตัว เพื่อรับมือกับภัยแล้งครั้งที่เลวร้ายที่สุดในรอบหลายทศวรรษ โดยหลังจากฆ่าสัตว์ไปกว่า 150 ตัว ทำให้นามิเบียสามารถแจกจ่ายเนื้อสัตว์มากกว่า 56,699 กิโลกรัมให้กับประชาชน
อย่างไรก็ตาม แผนการดังกล่าวถูกวิพากษ์วิจารณ์จากหลายฝ่าย ทั้งเรื่องการจัดการที่ไม่ถูกจริยธรรมของรัฐบาล และการแก้ปัญหาที่ไม่ตรงจุด โดย ฟาไร มากูวู (Farai Maguwu) ผู้อำนวยการองค์กรไม่แสวงหากำไร Centre for Natural Resource Governance กล่าวว่า “รัฐบาลต้องมีวิธีการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และยั่งยืนมากขึ้น ในการจัดการกับภัยแล้ง โดยไม่กระทบต่อการท่องเที่ยว” พร้อมทั้งเสริมว่าการฆ่าช้างอาจทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวลดลง เนื่องจากเหตุผลด้านจริยธรรม
เหตุการณ์ครั้งนี้ ได้สร้างข้อถกเถียงอย่างกว้างขวาง เนื่องจากการฆ่าช้างถึง 200 ตัว เป็นเรื่องที่น่ากังวล แต่ในขณะเดียวการดูแลประชาชนในประเทศที่กำลังอดอยาก ก็เป็นเรื่องสำคัญ สิ่งที่น่าตั้งคำถามคือการจัดการของรัฐบาล ว่านี่เป็นทางออกที่มีประสิทธิภาพ และถูกจริยธรรมแล้วหรือไม่? แล้วจะมีแนวทางแก้ปัญหาอื่นๆ ที่ดีกว่านี้ไหม? แน่นอนว่าผู้ที่สามารถคำถามดังกล่าวได้ดีที่สุด คือประชาชนในประเทศเอง
อ้างอิงจาก